ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อโพธิญาณ

ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อโพธิญาณ

“การสร้างบารมี” เป็นงานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี ดำเนินตามรอยบาทพระบรมศาสดา มุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ ที่สุดแห่งธรรม แต่ในระหว่างการสร้างบารมี เป็นธรรมดาที่จะต้องประสบอุปสรรคบ้าง ซึ่งอุปสรรคเป็นเพียงเครื่องทดสอบกำลังใจของนักสร้างบารมี หากเราใช้สติ และปัญญา ปัญหาทั้งหลายก็จะหมดไป ความสุขความสำเร็จย่อมจะบังเกิดขึ้น เหมือนการนำคบเพลิงจุ่มลงในน้ำ ฉะนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มหาสารชาดก ว่า
“อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติ มนฺตีสุ อกุตูหลํ
ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ

เมื่อยามคับขัน ย่อมต้องการคนกล้า เมื่อยามประชุมปรึกษา ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อยามมีข้าวน้ำ ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อยามมีปัญหา ย่อมต้องการผู้รู้”

ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน บุคคลที่เข้มแข็ง และกล้าหาญเท่านั้น ที่จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ ในการสร้างบารมีก็เช่นกัน เราจะต้ององอาจกล้าหาญ ที่จะเผชิญกับอุปสรรคในทุกรูปแบบ เพราะหนทางแห่งการสร้างบารมี มิได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบอันอ่อนนุ่ม แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานัปการ

ถ้าหากเรามีกำลังใจเข้มแข็ง มีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหว เราจะไม่คำนึงถึงอุปสรรค ในใจเราจะมีแต่คำว่า “ทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย ทำอย่างไรทุกคนจึงจะเข้าถึงพระธรรมกาย” เราจะไม่วิตกกังวลกับปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงปัญหาในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบ้านเมือง สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำ หรือปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัยเท่านั้น แต่ปัญหาก็ยังคงเหมือนเดิม เพราะมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยังมีกิเลสตัวเดิม มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นมูลราก

เพราะฉะนั้น ให้มีหัวใจเข้มแข็งประดุจพระบรมโพธิสัตว์ ผู้พร้อมเสมอต่อความดี มีใจตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม เป็นผู้นํามหาชนในการสร้างบารมี “จงอย่ารอคอยให้พร้อมในทุกสิ่ง แต่จงพร้อมเสมอ ต่อการสร้างบารมี”

เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ในครั้งที่ท่านยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ท่านก็ทรงสร้างบารมีอย่างสุดกำลัง แม้ในยามที่ลำบาก ท่ามกลางอุปสรรคขวากหนามที่ขวางกั้น แต่ท่านกลับอาศัยสถานการณ์นั้น เป็นโอกาสทองของนักสร้างบารมี ที่จะได้ทุ่มเทสร้างบารมีอย่างสุดกำลัง สละได้แม้กระทั่งชีวิต

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเป็นพระราชาแห่งกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ดำรงตำแหน่งเศรษฐี เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ได้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ ที่กลางเมือง ๑ แห่ง และที่ประตูคฤหาสน์ของท่านอีก ๑ แห่ง ท่านได้บริจาคมหาทานบารมีแก่คนทั้งหลายทุกวัน และรักษาอุโบสถศีลเป็นนิจ วันหนึ่งขณะคนรับใช้กำลังนำอาหารเช้ามีรสเลิศมาให้ท่านเศรษฐี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านได้เหาะมาทางอากาศด้วยฤทธิ์เพื่อโปรดท่านเศรษฐี

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูคฤหาสน์ ท่านเศรษฐีเห็นแต่ไกล ปรารถนาจะถวายทาน ทันทีที่คิดจะทำความดี กระแสแห่งความดีนี้ได้กระเทือนไปถึงภพของมาร มารผู้มีใจบาปทนไม่ได้ ถึงกับสั่นสะท้านคล้ายคนไข้ที่แสลงน้ำเย็น คิดว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ฉันอาหารมา ๗ วันแล้ว วันนี้หากไม่ได้อาหารก็จะต้องปรินิพพาน เราจะทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศให้ได้ และจะทำอันตรายต่อทานของท่านเศรษฐีด้วย” จึงรีบตรงไปยังบ้านท่านเศรษฐี และเนรมิตหลุมถ่านเพลิงกว้าง ๘๐ ศอก มีเปลวไฟอันร้อนแรงลุกโพลงจากใต้พิภพ ประดุจอเวจีมหานรก

เศรษฐีให้คนใช้ไปรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้า คนใช้เห็นเหตุการณ์นั้น ก็ตกตะลึงด้วยความกลัว รีบกลับไปรายงานท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ส่งคนอื่นๆ ไปอีก ทุกคนต่างหวาดกลัวพากันหนีกลับเช่นกัน ท่านเศรษฐีจึงคิดว่า “พญามาร คือ ผู้ขัดขวางความดี ต้องการจะทำลายการให้ทานของเรา แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้เมื่อเราตั้งใจทำความดีแล้ว เราจะต้องทำให้สำเร็จ แม้มารตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งแสน ก็ขัดขวางเราไม่ได้”

ท่านเศรษฐีจึงถือถาดอาหารไปยืนอยู่ที่ปากหลุมถ่านเพลิง เห็นมารยืนอยู่ในอากาศ จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร” มารตอบว่า “เราคือมาร” ท่านเศรษฐีถามอีกว่า “หลุมถ่านเพลิงนี้ ท่านเนรมิตขึ้นหรือ” เมื่อมารยอมรับ ท่านจึงถามต่อว่า “ท่านเนรมิตเพื่ออะไร” มารตอบว่า “เราต้องการทำอันตรายต่อทานของท่าน และต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าสูญสิ้นไป”

ท่านเศรษฐีจึงกล่าวด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า“เราจะไม่ยอมให้ท่านขัดขวางเรา แม้เราจะต้องตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง อันร้อนแรงดุจนรกอเวจี มีหัวดิ่งลง มีเท้าชี้ฟ้า ร่างกายจะมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านก็ตาม แต่ดวงวิญญาณของเรา ก็จะมุ่งมั่นที่จะทำความดี ดังที่ได้ตั้งใจไว้ หากเราต้องตายในวันนี้ จะได้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคเบื้องหน้า”

จากนั้นท่านได้กราบอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า “ขอท่านผู้เจริญได้โปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ท่านเศรษฐีสำรวมจิตแน่วแน่ ก้าวลงไปในหลุมถ่านเพลิงด้วยความกล้าหาญ โดยไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย มีใจอิ่มเอิบผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ในบุญ และด้วยอานุภาพแห่งความเชื่อมั่นในบุญ ดอกบัวใหญ่ก็ผุดขึ้นมารองรับเท้าทุกย่างก้าวของท่านเศรษฐี อีกทั้งมีเกสรดอกบัวหอมฟุ้งกระจาย โปรยปรายลงสู่ร่างกายของท่านเศรษฐี เสมือนหนึ่งพร่างพรมด้วยละอองแห่งทองคำอันบริสุทธิ์

เปลวเพลิงอันร้อนแรงนั้น ไม่อาจเผาไหม้กายของท่านเศรษฐี แม้เพียงปลายเส้นขนก็ไม่ระคายเคืองแต่อย่างใด ท่านเศรษฐีโพธิสัตว์ก้าวเดินไปบนดอกบัว ยืนถวายภัตตาหารอันมีรสเลิศลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ารับภัตตาหารแล้ว ได้กระทำอนุโมทนา และประสงค์จะประกาศการสร้างความดีของท่านเศรษฐี จึงโยนบาตรขึ้นไปในอากาศ เมื่อมหาชนทั้งหลายออกมาดู ท่านก็ได้เหาะขึ้นสู่อากาศมุ่งไปป่าหิมพานต์เหมือนเดินย่ำไปบนกลีบเมฆฉะนั้น

เมื่อฝ่ายมารพ่ายแพ้ต่อความดี ก็รู้สึกเสียใจที่ขัดขวางไม่สำเร็จ จึงอันตรธานหายไป มหาชนจำนวนมากมาพร้อมเพรียงกันที่บ้านของท่านเศรษฐี ท่านก็ยังคงยืนอยู่บนดอกบัวนั้น และได้แสดงธรรมแก่มหาชน ให้อาจหาญในการทำความดี หมั่นทำทาน และรักษาศีล มหาชนฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ต่างมีใจมุ่งมั่นในการบำเพ็ญบุญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังนั้น เราต้องมีใจเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งในการสร้างบารมี เช่นเดียวกับท่านเศรษฐีซึ่งเป็นพระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อน อย่าย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ในการสร้างบารมี เมื่อเราทำความดีเราย่อมต้องได้รับผลแห่งความดี เหมือนหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น เราต้องมุ่งมั่นสร้างบารมีต่อไป ทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา หมั่นฝึกฝนใจของเราให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน ใจจะใสสะอาด บริสุทธิ์ขึ้น และเราจะได้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ซึ่งเมื่อเข้าถึงแล้ว จะไม่มีสิ่งใดมาทำให้ใจเราหวั่นไหวในการสร้างบารมีได้อีกต่อไป

*มก.ขทิรังคารชาดก เล่ม ๕๕ หน้า ๓๗๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9083
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *