จักษุของพระพุทธเจ้า

จักษุของพระพุทธเจ้า

มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข ความอบอุ่นใจ และความปลอดภัยในชีวิต จึงพยายามเสาะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง แต่หลายชีวิตก็ยังไม่รู้ว่า ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใด อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด จึงแสวงหากันวุ่นวาย และเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน แต่ถ้าทุกคนในโลกได้รู้จักที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดว่า คือ พระรัตนตรัย และมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมจนกระทั่ง กาย วาจา ใจ ของทุกๆ คนสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ในกลางธรรมกาย เต็มเปี่ยมไปด้วยสติ และปัญญาบริสุทธิ์  เมื่อทำได้เช่นนี้ ชีวิตของทุกคนย่อมจะประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง

มีวาระพระบาลีใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า

“ น ตสฺส อทิฏฺฐมิธตฺถิ กิญฺจิ
อโถ อวิญฺญาตมชานิตพฺพํ
สพฺพํ อภิญฺญาสิ ยทตฺถิ เนยฺยํ
ตถาคโต เตน สมนฺตจกฺขุ

สิ่งอะไรๆ ในไตรโลกธาตุนี้ อันพระปัญญาจักษุของพระตถาคตไม่เห็นนั้น ย่อมไม่มี อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ ที่ควรรู้ อันพระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ย่อมไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคตทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำทั้งหมด  เพราะฉะนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่า ผู้มีสมันตจักษุ”

พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่า เป็นโลกวิทู คือ รู้แจ้งโลกทั้งสาม ตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ นิพพาน ภพสาม โลกันตร์ แสนโกฏิจักรวาลอนันตจักรวาล ทรงแทงตลอดหมด เพราะพระองค์ทรงมีการเห็นที่วิเศษ สัพพัญญุตญาณที่พระองค์ทรงบรรลุ ตั้งแต่ครั้งอยู่ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์นั้น ทำให้ไม่มีอะไรที่จะมาปิดบัง เห็น จำ คิด รู้ ของพระองค์ได้ ทรงแจ่มแจ้งหมด อยากรู้เรื่องอะไรก็รู้ได้หมด เพราะพระองค์ทรงมีจักขุ ๕ อย่าง

การเห็นมีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน คือ เห็นด้วยตาเนื้อ เรียกว่า มังสจักขุ เป็นการเห็นแค่ข้างหน้า ข้างหลังไม่เห็น เวลาอยากเห็นข้างหลังก็ต้องหันหลัง หรือเอี้ยวตัวมอง ถึงจะเห็นสิ่งที่อยากเห็น ถึงกระนั้นก็เห็นไม่ได้ไกล เห็นด้วยตาทิพย์ เรียกว่าทิพจักขุ มองได้กว้างไกลขึ้น ละเอียดขึ้น มองทะลุสิ่งต่างๆ ได้ตามต้องการ เหมือนชาวสวรรค์ที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตาทิพย์

การเห็นได้รอบตัว เรียกว่า สมันตจักขุ คือ รู้ได้รอบตัวเห็นได้รอบตัว จะมองอะไรก็ดูที่ตรงกลางที่เดียว ไม่ต้องเหลียวซ้ายแลขวา คือ สามารถเห็นได้ไปพร้อมๆ กัน เป็นการเห็นที่วิเศษมากขึ้นกว่ามังสจักขุหรือทิพจักขุ ส่วนปัญญาจักขุ คือ การรู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยปัญญาบริสุทธิ์ ที่เห็นได้เพราะมีแสงสว่างบังเกิดขึ้น เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม และสุดท้ายธรรมจักษุ คือ ดวงตาธรรมกาย เป็นการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย และรู้แจ้งด้วยญาณทัสสนะของธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้รู้ที่แท้จริง เป็นการเห็นที่ไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถมองเห็นจากผลแล้วสาวไปถึงต้นเหตุได้ จะรู้เห็นได้หมด เป็นการรู้แจ้งเห็นแจ้ง และแทงตลอดทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันตร์ ไม่มีอะไรมาปิดบังอำพรางธรรมจักษุได้เลย

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระจักขุทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ ลำพังเพียงมังสจักขุของพระองค์ก็ไม่มีใครเทียบได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีพระจักขุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุต่างจากคนทั่วไป ขนพระเนตรของพระองค์เขียวสนิทเหมือนดอกผักตบ ตรงส่วนไหนที่มีสีเหลือง ก็เหลืองนวลเหมือนทองคำ สวยงามเหมือนดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีสีแดงงามเหมือนสีปีกแมลงทับ ตรงกลางพระเนตรมีสีดำงามไม่หมองมัว แต่สนิทดีเหมือนสีสมอดำ ตรงไหนขาวก็จะขาวงามเปล่งปลั่ง ขาวนวลเหมือนสีดาวประกายพรึก

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมังสจักขุเป็นปกติ ทรงเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบทั้งกลางวันและกลางคืน แม้จะมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พระอาทิตย์อัสดงคตไป วันอุโบสถมีในกาฬปักษ์คือเป็นคืนเดือนมืด แนวป่าทึบ และในคราวอกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบตามปกติ ที่ลุ่มก็ดี บานประตูก็ดี กำแพง ภูเขา กอไม้ เถาวัลย์ ไม่สามารถบดบังการเห็นรูปของพระองค์ได้

พระองค์ทรงเห็นได้ขนาดที่ว่า หากมีคนเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งทำเป็นเครื่องหมายใส่ลงในเกวียนที่บรรทุกงา พระพุทธองค์ก็สามารถมองเห็นเมล็ดงาที่ทำเครื่องหมายนั้นได้ด้วยพระมังสจักขุ นี่เป็นเพราะว่าพระพุทธองค์ได้สั่งสมบุญที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น การถวายประทีปโคมไฟเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น

ส่วนการเห็นด้วยทิพจักขุของพระพุทธเจ้า ทรงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เห็นหมู่สัตว์ที่เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณงาม ได้ดี ตกยาก ทรงเห็นด้วยทิพจักขุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ทรงรู้ว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ  เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ  เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตร ๑ โลกธาตุ ๑๐ โลกธาตุ ๕๐ โลกธาตุ  ๑,๐๐๐ โลกธาตุ หรือหลายพันโลกธาตุ พระองค์สามารถทอดพระเนตรเห็นได้ หรือแม้พระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเท่าใด ก็ทรงเห็นได้ตามพระประสงค์ ทิพจักขุของพระผู้มีพระภาคเจ้าบริสุทธิ์มากและมีอานุภาพ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปัญญาจักขุ คือ ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาชำแรกกิเลส ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชญาณ ๔ ทรงทศพลญาณ ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ทรงเป็นผู้ให้มรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดขึ้นพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก พระสาวกของพระองค์เป็นผู้ดำเนินตามมรรค เป็นผู้ประกอบด้วยคุณ มีศีล เป็นต้น ตามที่พระองค์ทรงชี้บอก

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม ธรรมทั้งปวง รวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมาสู่คลองแห่งพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปในภายในพระพุทธญาณ

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธจักขุญาณไม่ขัดข้องในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมดเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า บทแห่งธรรมที่ควรแนะนำเท่าใด พระญาณก็เท่านั้น พระญาณเท่าใด บทแห่งธรรมที่ควรแนะนำก็เท่านั้น ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็ไม่เกินพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในสุดของกันและกัน

พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้อัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติของสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงรู้เหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสธุลีน้อย มีกิเลสธุลีมาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เป็นไปในภายในพระพุทธญาณ เหมือนปลา และเต่าทุกชนิดที่เป็นไปภายในมหาสมุทร พระพุทธญาณย่อมแผ่ปกคลุมปัญญาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

หากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า บุคคลเหล่านี้เป็นราคจริต จะตรัสบอกอสุภกัมมัฏฐาน และจะตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่ผู้มีโทสจริต อีกทั้งทรงแนะนำผู้มีโมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเรียนการไต่ถาม ทำให้สาวกของพระองค์ตรัสรู้ธรรมตามนับไม่ถ้วน การรู้ของพระองค์นั้นก็รู้ได้ด้วยญาณทัสสนะที่รู้ได้ตลอดหมด คือ ทั้งรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล รู้ยิ่ง รู้พร้อม ซึ่งก็คือพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง ที่ทั้งรู้ ทั้งเห็นได้ทั้งหมด ที่ได้พรรณนามา เป็นลักษณะการเห็นของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ทรงเห็นทั้งด้วยตาเนื้อ และตาภายใน ซึ่งเกิดจากการตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ และปรารถนาจะให้ได้รับรู้พุทธานุภาพอันไม่มีประมาณนี้ไว้ จะได้รู้ว่าพระบรมศาสดาของเรานั้นทรงมีอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติเป็นอจินไตย อยู่เหนือวิสัยที่เราจะนึกคิดด้นเดาได้  เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา เราจะได้มีดวงตาทุกอย่างที่สมบูรณ์เหมือนกับพระพุทธองค์ และมีดวงตาเห็นธรรมกันทุกคน

*มก.ว่าด้วยจักษุ ๕ เล่ม ๖๖ หน้า ๒๙๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/9037
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพระพุทธคุณ

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

1 thought on “จักษุของพระพุทธเจ้า”

  1. ✨ น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌼🌺🌸💮🌟🌷🌟💮🌸🌺🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *