กรรมของการตัดสินไม่ยุติธรรม

กรรมของการตัดสินไม่ยุติธรรม (ผู้พิพากษาทุศีล สมาทานอุโบสถศีลครึ่งวันไปเกิดเป็นเวมานิกเปรต)

บนเส้นทางการดำเนินชีวิต ไม่มีใครลิขิตให้เราได้ นอกจากเราจะเป็นผู้ลิขิตเอง ในเมื่อเรามีโอกาสที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง เราก็ควรจะเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเรา การมีจุดเริ่มต้นที่ดีจะบ่งบอกถึงความสำเร็จในวันข้างหน้า ชีวิตจะประสบกับสุขหรือทุกข์ ก็ขึ้นอยู่ที่ใจและการกระทำในปัจจุบัน การเริ่มต้นที่ดีที่สุด จึงต้องเริ่มจากการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใดที่ใจหยุดได้สนิท ก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของความสุข และความสำเร็จทั้งปวง พลังมวลแห่งความบริสุทธิ์ภายในจะพรั่งพรูออกมา กลั่น กาย วาจา ใจ ของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ใจของเราจะชุ่มชื่นเบิกบาน มีความสุขอย่างจะนับจะประมาณมิได้ ชีวิตที่เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน จึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐและสมบูรณ์ที่สุด

มีเปรตตนหนึ่งได้สารภาพบาปที่ตนเองได้ทำเอาไว้ว่า
“กระผมได้ประพฤติทุจริตด้วยการพูดส่อเสียด พูดเท็จและพูดหลอกลวง เพื่อความฉิบหายแก่ตนในมนุษยโลก ผู้ใดประพฤติทุจริตมีพูดส่อเสียดเป็นต้น ผู้นั้นต้องจิกเนื้อหลังของตนกิน เหมือนกระผมจิกเนื้อหลังของตนกินในวันนี้ ข้าแต่พระนารทะ ทุกข์ที่กระผมได้รับอยู่นี้ท่านได้เห็นเองแล้ว บุคคลใดเป็นคนฉลาด มีจิตอนุเคราะห์ผู้อื่น บุคคลนั้นพึงกล่าวตักเตือนผู้อื่นว่า ท่านอย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดเท็จ อย่าเป็นผู้มีเนื้อหลังของตนเป็นอาหารเลย”

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรตตนหนึ่ง ซึ่งได้สารภาพบาปของตนให้พระนารทเถระผู้เป็นพระอรหันต์ได้ทราบถึงบาปกรรมที่ตนเองทำเอาไว้ เพื่อท่านจะได้นำมาเล่าเป็นคติเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้สำรวมระวัง ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมตอนยังมีชีวิตอยู่ แต่ไปเชื่อตอนที่ตายแล้ว ที่เชื่อเพราะได้ไปเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อไปถึงตรงนั้นแล้ว จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างไร ก็ต้องยอมรับกฎแห่งกรรมที่ตนเองได้ทำเอาไว้ทั้งหมด

อันที่จริงแล้ว พระบรมศาสดาทรงรู้เห็นเรื่องภพภูมิต่างๆ เหล่านี้มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนรก เปรต อสุรกาย หรือสวรรค์ ทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ พระองค์ทรงแทงตลอดทั่วถึงหมด ตั้งแต่สมัยที่ตรัสรู้ธรรมใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ หากทรงเห็นว่าพุทธบริษัทมีใจละเอียดพอจะรับฟังเรื่องที่เหลือวิสัย ซึ่งไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ก็ทรงเมตตานำมาตรัสเล่าให้ฟัง เรื่องไหนที่สาวกหรือเหล่าเวไนยสัตว์ยังตรองตามไม่ทัน หรือฟังแล้วยังรับไม่ได้ ก็ทรงสงวนเอาไว้ รอช่วงจังหวะที่เหมาะสมจึงจะทรงนำมาแสดง

ถ้าหากมนุษย์เชื่อพระดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเอาไว้ แม้ยังไปนิพพานไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีสุคติเป็นที่ไปอย่างแน่นอน แต่ว่าคนส่วนใหญ่นั้น ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ ทำให้ต้องไปสู่อบายภูมิกันมากมาย เหมือนอย่างเรื่องของอดีตผู้พิพากษาผู้ไร้ศีลธรรม ต้องรับกรรมในอบาย เรื่องก็มีอยู่ว่า

* ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังธรรมครั้งแรก ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ทรงทำหน้าที่เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ์ ได้ถวายเวฬุวันมหาวิหารไว้ในพระศาสนา เพื่อจะได้เป็นสถานที่ประทับของพระพุทธองค์ และเป็นสถานที่แสดงธรรมให้กับเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ส่วนพระองค์ทรงเข้าจำอุโบสถศีลเดือนละ ๖ วัน ชาวเมืองจำนวนมากรักษาอุโบสถศีลตามพระราชา มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อยๆ ที่ออกบวชตามและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็มาก เป็นพระอนาคามี พระสกิทาคามีก็มาก อย่างน้อยก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน สมัยนั้นในกรุงราชคฤห์มีอริยสาวกบังเกิดขึ้นจำนวนมาก

พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามอำมาตย์ข้าราชบริพาร ที่มาถวายรายงานเรื่องกิจการบ้านเมืองว่า “พวกท่านได้รักษาอุโบสถศีลกันไหม”  ส่วนใหญ่จะกราบทูลว่า ได้รักษาอุโบสถศีลเหมือนพระองค์ แต่มีอยู่คนหนึ่ง เป็นผู้พิพากษาคอยตัดสินคดีความต่างๆ ตนเองเป็นคนมีวาจาส่อเสียด ชอบหลอกลวงคนอื่นและทุจริตรับสินบนเป็นอาจิณ ครั้นถูกพระราชาตรัสถามก็ตอบว่า “หม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลเหมือนกันพระเจ้าข้า”

เมื่อผู้พิพากษาออกมานอกท้องพระโรง เพื่อนสนิทจึงทักท้วงว่า “ท่านรักษาอุโบสถศีลจริงหรือสหาย”  ผู้พิพากษาตอบว่า “สหายเอ๋ย ฉันกลัวว่าพระราชาจะไม่ทรงปลื้มพระทัย จึงตอบไปอย่างนั้นแหละ อันที่จริงฉันไม่ได้รักษาอุโบสถศีลหรอก”  เพื่อนยอดกัลยาณมิตรได้แนะนำว่า “ในเมื่อท่านกราบทูลพระราชว่า ได้รักษาอุโบสถศีลแล้ว ก็ควรจะทำตามที่กล่าวไว้ เพราะนี่เหลือเวลาอยู่อีกตั้งครึ่งวัน รักษาอุโบสถศีลครึ่งวันก็ได้นะเพื่อน”  ผู้พิพากษาไม่อยากขัดใจเพื่อน และเกรงว่าหากพระราชาทรงทราบเรื่องที่ตนเองโกหก ก็อาจจะถูกลงราชอาชญาได้  จึงตกปากรับคำ

เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ไม่รับประทานอาหารเที่ยง เพราะเลยเวลารับประทานอาหารแล้ว บ้วนปากอธิษฐานอุโบสถ เมื่อท้องว่างเพราะไม่ได้รับประทานอาหาร ตกกลางคืนจึงเกิดลมภายในท้องเสียดแทงอย่างหนัก  เนื่องจากตนเองไม่เคยฝึกรักษาอุโบสถศีลมาก่อน เมื่อตกดึกคืนนั้น ลมกำเริบจนทนไม่ไหว แต่ก็ไม่ยอมละเมิดศีล จึงตายในคืนนั้น ครั้นตายลงได้ไปเกิดเป็นเวมานิกเปรตที่ภูเขาแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์

ผลบุญอันน่าอัศจรรย์นี้ ได้มาเพราะการรักษาอุโบสถครึ่งวันนั่นเอง แม้เป็นเปรต แต่เป็นเปรตชั้นสูง คือได้วิมานเงิน มีนางฟ้า ๑๐,๐๐๐ เป็นบริวาร กลางวันจะเสวยทิพยสมบัติเป็นอันมากดุจชาวสวรรค์ แต่เพราะตนเป็นผู้พิพากษาทุจริตและพูดวาจาส่อเสียด เมื่อตกกลางคืน กรรมนั้นได้บีบคั้นให้ตนเองต้องกลายร่างเป็นเปรต จิกเนื้อหลังของตนเองกินด้วยความหิวโหย

ในสมัยนั้น พระนารทะลงจากเขาคิชฌกูฏได้เห็นเปรตนั้นเข้า จึงไต่ถามว่า “ตัวท่านทัดทรงดอกไม้ ใส่ชฎา สวมกำไลทองคำ ลูบไล้ด้วยของหอม มีสีหน้าผ่องใส งดงาม ดุจสีพระอาทิตย์อุทัยลอยมาบนอากาศ มีนางฟ้าหมื่นนางเป็นบริวารบำรุงบำเรออยู่ เทพอัปสรเหล่านั้นล้วนสวมกำไลทองคำ นุ่งห่มผ้าที่ขลิบด้วยทองคำ ท่านเป็นผู้มีอานุภาพมาก มีรูปเป็นที่ให้ขนลุกชูชันแก่ผู้พบเห็น แต่กลางคืนทำไมท่านจึงจิกเนื้อหลังของตนกินเป็นอาหาร ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ โปรดบอกอาตมาให้ทราบด้วยเถิด”

เปรตตอบว่า “กระผมมักประพฤติทุจริตด้วยการพูดส่อเสียด พูดเท็จ และหลอกลวงคนอื่น พิพากษาคดีอย่างไม่เป็นธรรม คราวที่จะพูดความจริงกลับพูดเฉไฉไปเป็นอื่น ชอบรับสินบนเป็นอาจิณ ท่านผู้เจริญ ผู้ใดประพฤติทุจริต พูดส่อเสียดเป็นประจำ ผู้นั้นต้องจิกเนื้อหลังของตนกินเหมือนกระผมในวันนี้  ข้าแต่พระนารทะ ทุกข์ที่กระผมได้รับอยู่นี้ ท่านได้เห็นเองแล้ว โปรดนำเรื่องของกระผมไปบอกมหาชนด้วยว่า อย่าได้เอาเยี่ยงอย่าง โปรดตักเตือนพวกเขา ว่าอย่าพูดส่อเสียด อย่าพูดเท็จ อย่าเป็นผู้มีเนื้อหลังของตนเป็นอาหารเลย”

จากเรื่องนี้จะเห็นว่า กรรมทุกชนิดที่เราทำเอาไว้ไม่ไร้ผล บุญก็ส่งผลเป็นความสุข ส่วนบาปที่ทำเอาไว้ก็ส่งผลเป็นวิบากกรรมอันทุกข์ทรมาน สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้วใจเราเศร้าหมอง พึงเตือนตนเองให้ละเว้นสิ่งเหล่านั้น  อย่าไปยินดีในบาปอกุศล เพราะจะต้องไปเสวยวิบากกรรมยาวนาน ทำให้เสียเวลาในการสร้างบารมี ให้เชื่อตอนเป็นดีกว่าไปเห็นตอนตาย เพราะตอนนั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่เกิดประโยชน์แล้ว ดังนั้นให้พวกเราสำรวมกาย วาจา ใจ รักษาให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ กรรมชั่วแม้เพียงเล็กน้อยอย่าได้คิดทำ กรรมดีแม้เพียงนิดหน่อยก็ให้ทำไปเถิด เพราะผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วนั้น เราไม่สามารถหลีกหนีได้ ต่างแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ฉะนั้นอย่าได้ประมาท สั่งสมบุญเอาไว้ให้มากๆ และดีที่สุดคือ ทำใจหยุดให้เข้าถึงพระรัตนตรัย อย่างนี้ชีวิตจะปลอดภัย ชีวิตที่ปลอดภัยและมีชัยชนะ คือชีวิตที่เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว

* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๔๓๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13354
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *