โทษของการล่าสัตว์

โทษของการล่าสัตว์ (เรื่องโกลิยะมหาอำมาตย์เห็นอานุภาพบุญที่เกิดขึ้นแก่เปรตอย่างทันตาเห็น)

     เวลาที่เราเกิดมาในโลกนี้ ก็ไม่มีใครนำอะไรติดตัวกันมา มีแต่บุญและบาปเท่านั้นที่มาในลักษณะต่างๆ กัน เพราะเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำในอดีตของเราเอง และเมื่อถึงคราวจะหลับตาลาจากโลกนี้ไปอีก เราก็ไม่สามารถนำเอาสิ่งใดติดตัวไปด้วยเช่นกัน นอกจากบุญและบาปที่เราทำเอาไว้ในขณะที่มีกายมนุษย์นี้อยู่เท่านั้น ถ้าทำบาปก็มีความทุกข์ทรมานเป็นผล ทำบุญก็มีความสุขเป็นผลเป็นกำไรชีวิต อะไรก็ตามที่เราเคยทำเอาไว้ จะส่งผลเสมอไม่ช้าก็เร็ว เพราะวิบากกรรมเป็นเรื่องที่อยู่ฉากหลัง เราไม่สามารถนึกคิดด้นเดาเอาเองได้ว่าจะส่งผลเมื่อไร เพราะฉะนั้นจงอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ควรประกอบแต่กุศลกรรมเอาไว้มากๆ วิบากกรรมจะได้ส่งผลเป็นกำไรชีวิต ให้เราได้ประสบความสุขและความสำเร็จไปทุกภพทุกชาติ

มีพระบาลีที่ปรากฏใน อภิชชมานเปตวัตถุ ว่า
                              “สุขํ อกตปุญฺญานํ        อิธ นตฺถิ ปรตฺถ จ
                               สุขญฺจ กตปุญฺญานํ      อิธ เจว ปรตฺถ จ ฯ
                               เตสํ สหพฺยกามานํ       กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุ ํ
                               กตปุญฺญา หิ โมทนฺติ    สคฺเค โภคสมงฺคิโน
     ความสุขในโลกนี้และในปรโลก ย่อมไม่มีแก่เหล่าชนผู้ไม่ทำบุญ ความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ย่อมมีเฉพาะแก่เหล่าชนผู้ทำบุญไว้ ผู้ปรารถนาความเป็นสหายแห่งเทวดาชาวไตรทศเทพเหล่านั้น พึงทำบุญกุศลไว้ให้มาก เพราะว่า ผู้ทำบุญไว้แล้ว ย่อมบันเทิงใจอยู่ในสวรรค์เพียบพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ”

     มนุษย์เป็นจำนวนมากได้ตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมทรัพย์สินเงินทอง จนกระทั่งกลายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีก็มี หรือบางคนก็ชอบสั่งสมของเก่า สั่งสมภาพวาดชนิดต่างๆ บ้างก็สะสมแสตมป์หรือสะสมสิ่งอื่นๆ มากมายตามแต่รสนิยมความพอใจ ทำให้ได้รับการชื่นชมยกย่องกันไปทั่วโลก ทว่าไม่ว่าจะสั่งสมอะไรกันก็ตาม แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่เราควรสั่งสมกันเอาไว้ให้มากๆ เพราะยิ่งสั่งสมได้มากเพียงไร ยิ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อตัวของเรามากเท่านั้น สิ่งนั้นก็คือบุญนั้นเอง เพราะบุญเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความสุขและความสำเร็จทุกอย่าง บุญจะคอยอำนวยสุขให้กับตัวเราทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ได้สั่งสมบุญกุศลให้กับตนเอง มัวสั่งสมแต่สิ่งที่ไร้สาระอยู่ หรือมัวประมาท สั่งสมแต่บาปอกุศลเอาไว้ นับว่าเป็นชีวิตที่น่าเสียดายมาก เพราะถ้าผ่านชีวิตของความเป็นมนุษย์ไปแล้วจะกลับมาสั่งสมบุญกันใหม่นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

     * เหมือนในสมัยอดีต ที่กรุงพาราณสี นายพรานคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านจุนทัฏฐิละ เป็นคนชอบล่าสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ ทำกรรมปาณาติบาตไว้มาก แต่ไม่เคยทำบุญกุศลอะไร ตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอนคิดแต่เรื่องการเข่นฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ชีวิตจึงเวียนวนอยู่กับการทำปาณาติบาตเรื่อยมา เมื่อนายพรานเสียชีวิตลง บาปนั้นก็บีบคั้นให้ไปบังเกิดเป็นเปรต เนื่องจากไม่เคยให้ทานไว้ จึงเป็นเปรตที่ไม่มีข้าวและน้ำแม้แต่ในความฝัน เปรตตนนี้นึกถึงมนุษย์ที่เคยเป็นญาติกันมาในสมัยก่อน จึงตั้งใจว่าจะต้องเดินทางไปหาญาติเพื่อขอส่วนบุญ แต่เนื่องจากว่าเส้นทางไปสู่บ้านของหมู่ญาตินั้น มีทางเดียวเท่านั้นคือ จะต้องเดินทวนกระแสแม่น้ำคงคาขึ้นไปเรื่อยๆ

     ในสมัยนั้น อำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารชื่อว่าโกลิยะ ได้รับมอบหมายให้ไปปราบปรามหัวเมือง ซึ่งต้องการแยกตัวออกไปเป็นอิสระมีเอกราชเป็นของตัว อำมาตย์เมื่อได้ชัยชนะกลับมาก็ส่งพลบริวารมีพลช้างและพลม้าให้ไปทางบก ส่วนตนเองพร้อมด้วยบริวารเหล่าทหารจำนวนหนึ่งมาทางเรือตามกระแสแม่น้ำคงคา ขณะที่ล่องเรืออยู่กลางแม่น้ำอยู่นั้น เห็นเปรตตัวสูงใหญ่เท่าลำตาลกำลังเดินทวนกระแสน้ำมา จึงถามเปรตว่าท่านจะเดินทางไปที่ไหน

     เปรตบอกว่าจะไปขอรับส่วนบุญจากญาติในหมู่บ้านจุนทัฏฐิละ เนื่องจากท่านอำมาตย์เป็นผู้ฉลาด รู้วิธีที่จะช่วยเปรตตนนี้ได้ จึงให้หยุดเรืออยู่ที่ริมแม่น้ำ ได้ให้ข้าวสตูและคู่ผ้าสีเหลืองคู่หนึ่งแก่ช่างตัดผมซึ่งเป็นอุบาสกที่เดินทางร่วมกันมา ทันทีที่อุบาสกรับผ้าและข้าวสตูมาบริโภค ผ้านุ่งผ้าห่มก็ปรากฏแก่เปรตทันที จากที่เคยมีรูปร่างผอมโซ หิวโหย ก็เอิบอิ่มด้วยข้าวทิพย์ที่โกลิยะอุทิศให้ เปรตได้นุ่งห่มผ้าเนื้อดี ทัดทรงดอกไม้ตกแต่งร่างกายด้วยอาภรณ์ที่สวยงามเป็นพิเศษขึ้นมา

     โกลิยะมหาอำมาตย์เห็นอานุภาพบุญที่เกิดขึ้นแก่เปรตอย่างทันตาเห็นเช่นนั้น รู้สึกเกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงมีความตั้งใจจะไปถวายสังฆทานกับภิกษุสงฆ์ เพื่อที่ว่าเปรตจะได้บุญกุศลมากยิ่งขึ้น เช้าวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ ทรงเห็นว่ามหาชนจะได้ไปสวรรค์นิพพานเพราะปรารภเหตุเปรตตนนั้น จึงเสด็จมาทางอากาศ ประทับยืนที่ฝั่งแม่น้ำคงคา โกลิยมหาอำมาตย์ได้เข้าไปกราบนิมนต์พระพุทธองค์ให้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้าน พร้อมกับกราบทูลเรื่องราวที่ตนไปพบเปรตนั้นที่กลางแม่น้ำคงคาให้พระองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาทรงพระดำริว่า ขอภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จงมาประชุมกัน ทันใดนั้นเองภิกษุสงฆ์ผู้มีอานุภาพก็พร้อมใจกันเหาะมาเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยฤทธานุภาพของตนเอง

     มหาชนเห็นพระผู้พระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จมาเมืองพาราณสี จึงพากันดีอกดีใจ รีบพากันมาเข้าเฝ้าเพื่อจะได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาอำมาตย์เห็นดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธามากเป็นอย่างยิ่ง ได้อังคาสภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำด้วยอาหารหวานคาวอันประณีต และเมื่อภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้อิทธาภิสังขาร ดลบันดาลให้เปรตทุกหมู่เหล่าที่อยู่ในบริเวณนั้นมาปรากฏแก่มหาอำมาตย์และมหาชนได้เห็นด้วยตาเนื้อกัน

      ในบรรดาเปรตเหล่านั้น บางพวกก็นุ่งท่อนผ้าเก่าขาดวิ่น บางพวกเอาผมของตนเองปิดอวัยวะที่น่าละอาย บางพวกเปลือยกายมีรูปเหมือนตอนเกิด ถูกความหิวกระหายครอบงำไร้เรี่ยวแรง มีเพียงหนังหุ้มกระดูก เที่ยวหมุนเคว้งไปมาไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ก็ล้มลง บางพวกนุ่งผ้าขี้ริ้วขาดรุ่งริ่ง บางพวกผมยาวสยาย เที่ยวแสวงหาอาหาร เมื่อหาไม่ได้ก็นอนกลิ้งเกลือกบนพื้นดิน ร้องไห้ร่ำไรว่า เพราะพวกเราไม่ได้ทำกุศลไว้ในกาลก่อน จึงได้ถูกความหิวกระหายคุกคาม ดุจถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้

     เปรตแต่ละตนได้สารภาพบาปให้กับพระผู้มีพระภาคเจ้าและมหาชนที่มาประชุมกันให้ทราบว่า เพราะเมื่อก่อนพวกตนได้ไปทำกรรมอันลามก แม้เป็นผู้มีสมบัติในตระกูลมหาศาล แต่ก็ไม่กระทำที่พึ่งแก่ตนเอง แม้ข้าวและน้ำจะมีมากมาย แต่ก็ไม่แจกจ่ายให้ทานและไม่ได้ให้อะไรๆ แก่บรรพชิตผู้ปฏิบัติชอบ เปรตตนหนึ่งบอกว่า ถ้าจุติจากเปรตนี้แล้วจักไปเกิดในตระกูลอันต่ำช้าเลวทราม คือตระกูลนายพราน ตระกูลคนจัณฑาล ตระกูลคนกำพร้า นี้เป็นคติของคนตระหนี่

     ส่วนทายกผู้ได้ทำกุศลไว้ในชาติก่อน เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ย่อมทำสวรรค์ให้บริบูรณ์ และย่อมทำสวนนันทนวันให้สว่างไสว รื่นรมย์อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนในเวชยันตปราสาท ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว ย่อมเกิดในตระกูลสูง มีโภคะมากคือในตระกูลของเศรษฐี มีปราสาทราชมณเฑียร มีบัลลังก์ลาดด้วยผ้าเนื้อดี มีเหล่าบุรุษสตรีคอยรับใช้ใกล้ชิด ในเวลาเป็นทารกก็ทัดทรงดอกไม้ ตบแต่งร่างกาย มีหมู่ญาติ พี่เลี้ยง นางนมผลัดกันดูแล ได้รับการบำรุงให้ได้รับความสุขทั้งเช้าและเย็น

     เมื่อพวกเปรตได้พูดถึงบุพกรรมของตนเองให้มหาชนได้ยินกันทั่วแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมเพื่อให้มหาชนรักในการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้มีหมู่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างไม่คลอนแคลน เป็นผู้ไม่ประมาท ได้พร้อมใจกันถวายมหาสังฆทานแด่หมู่สงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นประธานตลอด ๗ วัน ทำให้มหาชนได้สุขสมบัติ ไปเสวยทิพยสมบัติในเทวโลกกันมากมายนับไม่ถ้วน

     เราจะเห็นว่า คนตระหนี่นั้นไปเทวโลกไม่ได้เลย เพราะไม่มีเสบียงบุญพอที่จะนำพาไปสู่สวรรค์ ทิพยสมบัติทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเทวโลก ต้องอาศัยการประกอบเหตุบนโลกมนุษย์นี้ทั้งสิ้น และเมื่อทำแต่บาปอกุศลอย่างเดียว กระแสของความตระหนี่และบาปอกุศลที่ทำเอาไว้ จะดึงดูดให้ไปสู่ภพภูมิที่ต่ำ ได้อัตภาพของเปรตซึ่งเป็นอบายภูมิ คือดินแดนที่ปราศจากความเจริญ กล่าวคือจะพัฒนาอะไรก็ไม่ได้แล้ว ไม่มีการทำบุญเหมือนโลกมนุษย์ เสวยแต่วิบากกรรมอันเผ็ดร้อนอย่างเดียวจนกว่าวิบากนั้นจะหมดสิ้นไป

     ฉะนั้น ให้ทุกท่านหมั่นสั่งสมบุญกันเป็นประจำเถิด และใครก็ตามที่มาขัดขวางหรือมาห้ามเราไม่ให้ทำบุญนั้น เป็นการแสดงว่าเขาไม่อยากไปสวรรค์กัน เพราะเขายังไม่รู้จักโทษของความตระหนี่ว่ามีวิบากอันเผ็ดร้อนเพียงไร คนพาลเหล่านั้นไม่สรรเสริญการให้ทาน แต่เราเป็นฝ่ายของนักปราชญ์บัณฑิต เป็นนักสร้างบารมี เป็นผู้รู้คุณค่าของบุญ ก็ต้องสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และก็ต้องหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกวัน จนกว่าจะได้ที่พึ่งภายใน คือได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๓๕๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13020
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “โทษของการล่าสัตว์”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *