โทษของการห้ามสามีทำบุญ

โทษของการห้ามสามีทำบุญ (เรื่องรุกขเทวดาถวายข้าวและน้ำแก่ภิกษุ อุทิศให้เปรตอดีตภรรยา)

     เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ก็ไม่ได้นำอะไรติดตัวมาเลย มีแต่บุญและบาปที่ติดตัวมา ปรุงแต่งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติให้แตกต่างกัน เพราะเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำในอดีต และเมื่อถึงคราวจะหลับตาลาโลกนี้ไป เราไม่สามารถนำเอาสิ่งอะไรติดตัวไปได้เช่นกัน จะมีเพียงแต่บุญและบาปที่เราได้ทำเอาไว้ในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่เท่านั้น ผลของบาปมีความทุกข์ทรมานเป็นผล ส่วนผลของการสั่งสมบุญก็มีความสุขเป็นกำไรชีวิต สิ่งอะไรก็ตามที่เราเคยทำเอาไว้ในอดีต จะส่งผลเสมอไม่ช้าก็เร็ว เพราะวิบากแห่งกรรมเป็นเรื่องอจินไตย นึกคิดด้นเดาไม่ได้ว่าจะส่งผลเมื่อไร เมื่อบุญหรือบาปตามมาทันก็จะให้ผลทันที เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปทำสิ่งที่เป็นอกุศล ควรประกอบกุศลกรรมเอาไว้ให้มากๆ ชีวิตเราจะได้ประสบความสุขความปลอดภัยไปทุกภพทุกชาติ  

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน เหรัญญกานิเถรคาถา ว่า
     “วันและคืนย่อมล่วงไปๆ ชีวิตย่อมดับไป อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลทำบาปกรรมอยู่ ย่อมไม่รู้สึกตัว ภายหลังเขาย่อมได้รับทุกข์อันเผ็ดร้อน เพราะบาปกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม”

     ผลของบาปเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก บางอย่างเรารู้ได้ในปัจจุบัน บางอย่างจะส่งผลก็ต่อเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะรู้เห็นในปัจจุบันต้องอาศัยธรรมจักขุของพระธรรมกายตรวจตราดู ว่าทำกรรมอย่างนี้แล้ว จะส่งผลเป็นวิบากอันทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง เพราะความไม่รู้ซึ่งเป็นรากเหง้าของอาสวกิเลส ทำให้มนุษย์หลงไปทำบาปอกุศล บาปกรรมบางอย่างแม้ทำไปแล้ว ก็ไม่เห็นโทษที่เกิดขึ้นชัดเจน จึงทำบาปนั้นเป็นปกติ โดยคิดไปว่าผลของบุญและบาปคงไม่มีจริงเพราะไม่เห็นผล แต่เมื่อไรที่บาปตามมาทัน เมื่อนั้นก็จะมาเสียใจว่า ทำไปเพราะไม่รู้ หรือแม้จะหลบเลี่ยงไม่ยอมรับผลกรรมที่บังเกิดขึ้น ก็เลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว มีแต่ต้องก้มหน้าก้มตาชดใช้กรรมเรื่อยไป

     * เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล มีภิกษุประมาณ ๑๒ รูป  ท่านได้เดินทางไปหาสถานที่จำพรรษา เห็นราวป่าอันน่ารื่นรมย์ ทั้งเส้นทางการบิณฑบาตก็ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไปนัก คืนนั้นจึงพักอาศัยอยู่ในราวป่า รุ่งขึ้นก็เที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน ช่างหูก ๑๑  คน ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนั้น เห็นคณะพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาบิณฑบาต ก็เกิดความโสมนัสคิดว่าจะได้ทำบุญใหญ่กับเนื้อนาบุญ จึงรีบนิมนต์ท่านไปที่บ้าน แล้วช่วยกันอุปัฏฐากบำรุงด้วยอาหารอันประณีต

     เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว ช่างหูกก็เรียนถามถึงวัตถุประสงค์ในการจาริกผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ ว่าจะเดินทางไปไหน ครั้นทราบว่าพระท่านกำลังหาสถานที่อยู่จำพรรษา พวกช่างหูกจึงถือโอกาสอาราธนาท่านอยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านนั้น จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวบ้าน จากนั้นก็ช่วยกันสร้างกระท่อมในราวป่าแห่งนั้นแล้วมอบถวายสงฆ์ ให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสะดวกสบายตลอดไตรมาส

     หัวหน้าช่างได้เป็นผู้อุปัฏฐากภิกษุ  ๒ รูป ได้ถวายภัตตาหารด้วยความเคารพเลื่อมใส นอกนั้นก็ได้แบ่งกันทำหน้าที่อุปัฏฐากพระสงฆ์คนละรูป แต่ว่าภรรยาของนายช่างหูกผู้เป็นหัวหน้า เป็นคนไม่มีศรัทธา เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความตระหนี่ สามีพยายามพูดอธิบายให้ภรรยาเห็นว่า พระสงฆ์คือเนื้อนาบุญอันเลิศ เป็นต้นบุญให้ไปสู่สวรรค์ แต่ภรรยาก็ไม่เชื่ออยู่ดี สามีจึงนำน้องสาวของภรรยามาเป็นศรีภรรยาแทน แล้วมอบความเป็นใหญ่ในเรือนทั้งหมดให้น้องสาวดูแล

     ฝ่ายน้องสาวเป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ปรนนิบัติภิกษุสงฆ์โดยเคารพ ช่างหูกทั้งหมดได้ถวายผ้าสาฎกแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษารูปละผืน ทางด้านภรรยาของหัวหน้าช่างหูก เห็นเขาทำบุญให้ทานก็เกิดความไม่พอใจหนักยิ่งขึ้น ถึงกับด่าสามีว่า “ทานคือข้าวและน้ำที่ท่านให้แก่สมณะศากยบุตรนั้น จงบังเกิดเป็นคูถ มูตร เป็นหนองและโลหิตแก่ท่านในปรโลก ผ้าสาฎกจงเป็นแผ่นเหล็กลุกโพลงปรากฏแก่ท่านด้วยเถิด”  เนื่องจากนางมีความเห็นผิดเสียแล้ว แม้จะถูกสามีห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ยอมเชื่อ

     สมัยต่อมา เมื่อหัวหน้าช่างหูกตายแล้ว ไปบังเกิดเป็นรุกขเทวดาผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพในดงไฟไหม้แห่งหนึ่ง แต่ภรรยาผู้ตระหนี่ของเขาได้ไปบังเกิดเป็นนางเปรต ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของรุกขเทวดา นางเป็นเปรตเปลือยรูปร่างน่าเกลียดน่าชัง ถูกความหิวกระหายครอบงำแล้ว เที่ยวเดินร้องขอความช่วยเหลือจากรุกขเทวาอยู่เป็นประจำทุกวันว่า “ข้าแต่นาย ฉันไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่ ถูกความหิวกระหายเบียดเบียนเหลือเกิน ขอท่านจงให้ผ้า ข้าว และน้ำแก่ฉันด้วยเถิด”

     รุกขเทวดาเห็นดังนั้น บังเกิดความสงสาร เพราะจำได้ว่านางเปรตตนนี้ เคยเป็นภรรยาของตนมาก่อน แต่มาบัดนี้ วิบากกรรมให้ผล ทำให้ไปเกิดในเปตติวิสัย จึงน้อมข้าวและน้ำอันเป็นทิพย์เข้าไปให้นางเปรต เป็นเรื่องที่น่าแปลกทีเดียว ว่าอาหารทิพย์นั้นได้กลายเป็นคูถและมูตร หนอง และโลหิต  ผ้าที่เทวดามอบให้นางไป เมื่อนางนุ่งห่ม ผ้านั้นก็กลายเป็นแผ่นเหล็กลุกโพลงท่วมตัวนาง ทำให้นางได้รับความทรมานแสนสาหัสหนักยิ่งขึ้นไปอีก ต้องรีบทิ้งผ้านั้น ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา รุกขเทวดาไม่รู้จะช่วยเหลือนางอย่างไร ได้แต่บอกให้นางอดทนต่อไป

     สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งตั้งใจจะเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อเดินทางไปถึงกลางป่าพร้อมกับหมู่เกวียน ในระหว่างทางท่านอยากจะพักกลางวัน จึงหลีกไปพักอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ตามลำพัง เนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาตลอดทั้งคืน จึงหลับไปหลายชั่วโมง หมู่เกวียนครั้นพักแล้วยังไม่ทันสังเกตเห็นภิกษุก็เดินทางต่อไป ภิกษุรูปนั้นเมื่อตื่นขึ้นไม่เห็นหมู่เกวียน จึงเดินทางไปจนถึงที่อยู่ของรุกขเทวดานั้น เทวดาจึงแปลงกายเป็นคนเข้ามาหาท่าน ทำการปฏิสันถารนิมนต์ให้เข้าไปวิมาน ถวายยาทาเท้า และน้ำดื่มด้วยความเคารพ  

     บังเอิญว่า ขณะนั้นนางเปรตมาอ้อนวอนเทวดาว่า “ขอท่านจงให้ข้าว น้ำ และเครื่องนุ่งห่มแก่ฉันด้วยเถิด” เมื่อเทวดาได้ให้สิ่งที่นางขอ ของเหล่านั้นก็กลายเป็นคูถ มูตร หนอง เลือด และแผ่นเหล็กลุกโชนขึ้นมาทันที ภิกษุเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็เกิดความสลดใจ สอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า “นางเปรตนี้ทำกรรมอะไรไว้ จึงต้องมาเสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนอย่างนี้”

    เทพบุตรเรียนให้ท่านทราบว่า “ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนหญิงเปรตนี้เคยเป็นภรรยาของข้าพเจ้า แต่นางไม่ให้ทาน มีความตระหนี่ นางด่าและบริภาษข้าพเจ้าผู้กำลังให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ เพราะกรรมนั้นทำให้นางมาเกิดเป็นเปรต กินแต่คูถและมูตร ทนทุกข์ทรมาน ข้าพเจ้าอยากช่วยแต่ก็ช่วยไม่ได้ ขอพระคุณเจ้าโปรดแนะนำวิธีที่จะทำให้นางพ้นจากเปรตวิสัยนี้ด้วยเถิด”

     ภิกษุรูปนั้นก็แนะนำว่า “ถ้าท่านถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และแด่พระอริยสงฆ์ หรือแก่ภิกษุรูปเดียวก็ได้ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เปรตตนนี้ เมื่อเปรตนี้ได้อนุโมทนาทาน นางก็จะพ้นจากความทุกข์ในเปตโลกไปได้” เทพบุตรได้ฟังดังนั้น จึงได้ถวายข้าวและน้ำอันประณีตแก่ภิกษุ แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรต ทันใดนั้นเอง นางเปรตก็มีใจอิ่มเอิบ มีอินทรีย์ผ่องใส เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอาหารอันเป็นทิพย์ เมื่อเทวดาถวายผ้าทิพย์ แล้วอุทิศทักษิณาแก่เปรต นางก็ได้นุ่งผ้าทิพย์ มีเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง มีสรีระประดุจเทพอัปสร พ้นจากความทุกข์ยากในอัตภาพของเปรตทันที

     เราจะเห็นได้ว่า บาปอกุศลทั้งหลายอย่าไปทำดีที่สุด เพราะผลของบาปนั้นจะทำให้ชีวิตเราตกต่ำไปสู่อบายภูมิ เมื่อเราได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้วจงอย่าประมาทกัน ให้รีบสั่งสมแต่คุณงามความดี ทำแต่บุญล้วนๆ อย่าไปทำบาปอกุศลอะไร หากไม่ไปทำบาปเพิ่มก็เหมือนเกลือเพียงหยิบมือในสระใหญ่ แม้จะมีเกลือผสมอยู่บ้าง ก็ถูกเจือจางไม่สามารถทำให้น้ำเค็มขึ้นมาได้ เมื่อเรารู้และเข้าใจแล้วว่าชีวิตเรามีคุณค่าอย่างไร ก็ควรทุ่มเทชีวิตจิตใจ สั่งสมบุญกันอย่างเต็มที่ อย่าให้การทำมาหากินมาเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมี มาเป็นข้อแม้หรือข้ออ้างที่จะทำให้เราประมาท ให้ขยันนั่งธรรมะ แล้วเราจะสมปรารถนา เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน 

* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๘๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12984
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *