เปรตเฝ้าทรัพย์ (เรื่องลูกสาวทำบุญกับพระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์อุทิศให้บิดาอดีตคฤหบดีที่เป็นเปรต)
การใช้ชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์นี้ จะว่าทำได้ง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่หากผู้ใดฉลาดในการใช้ชีวิต และไม่ประมาท ตั้งใจทำความดีด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรมทุกๆ วันมิได้ขาดเลยแม้แต่เพียงวันเดียว การดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ ถือว่าได้กำไรชีวิตจริงๆ
คำว่า”กำไร” หมายถึงว่า การลงทุนนั้นไม่มีการขาดทุน มีแต่จะได้กับได้ คือบุญเก่าก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะได้บุญเป็นกำไรของชีวิต บุญนั้นเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล เป็นประดุจแก้วสารพัดนึก ควรที่เราจะรีบตักตวงกันให้เต็มที่ ถ้าเกิดมาแล้วไม่ได้สั่งสมความดีเอาไว้ ชีวิตนี้ยังบกพร่องอยู่ เป็นชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ เกิดมาก็เสียโอกาสที่ดีๆ ไป ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในการทำความดีแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ ให้คุ้มค่ากันมากที่สุด
มีวาระพระบาลีกล่าวไว้ใน มัจฉริยสูตร ว่า
“คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหาย ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้น ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ แล้วให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
สมบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาให้เราใช้สอยได้อย่างสะดวกสบายในปัจจุบันชาตินี้ นอกจากได้มาด้วยความสามารถในการทำงานแล้ว ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำทานในภพชาติอดีตอีกด้วย ซึ่งตามมาหล่อเลี้ยงรักษาตัวเรา เราจะเห็นคุณค่าของบุญก็ต่อเมื่อละโลกไปแล้ว ไปบังเกิดในสุคติหรือทุคติภูมิที่ไม่ต้องทำมาหากินนั่นแหละ เพราะภพภูมิต่างๆ เหล่านั้น จะไม่มีการสั่งสมบุญหรือบาปกันแล้ว ฝ่ายที่ตกไปในอบายภูมิตั้งแต่เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน ก็เสวยวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนกันไป จนกว่าบาปนั้นจะเบาบางลง หรือแม้จะไปเสวยสุขบนสวรรค์ จะมีวิมานอันเป็นทิพย์ สมบูรณ์ด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ อย่างไรก็ตามเมื่อหมดบุญก็ต้องเปลี่ยนภพภูมิไปเกิดใหม่ เริ่มต้นสั่งสมบุญกันใหม่อย่างนี้แหละ จนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไปอยู่ในสภาวะเช่นนั้นแล้ว จะรู้ชัดทีเดียวว่า บุญนี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญกว่าเรื่องการทำมาหากินทุกอย่าง เพราะเสบียงในการเดินทางไกลมีเพียงบุญเท่านั้นที่เป็นมิตรแท้ ละโลกไปแล้วเราจะรู้ด้วยตัวของเราเอง ว่าที่เราต้องมาชดใช้กรรม ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสเช่นนี้ เพราะไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้ แถมยังประกอบแต่บาปอกุศลอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นชาวสวรรค์ ท่านก็รู้ถึงที่มาของทิพยสมบัติว่าได้มาอย่างไร มีวิมานสว่างไสวอย่างนี้เพราะบุญอะไร เมื่อนึกถึงการทำความดีของตนก็เกิดความปีติปราโมทย์ใจ เพราะฉะนั้นทุกๆ ท่านอย่าได้ประมาทในวัยและชีวิตกันเลย อย่าใช้วันเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า ถ้าตายไปแล้วจะได้ไม่มานึกเสียดายในภายหลัง เหมือนดังเช่นเรื่องของคนที่ประมาทในชีวิต ตายไปแล้วต้องไปเกิดเป็นเปรต ที่หลวงพ่อจะนำมาให้พวกเราได้รับทราบกันต่อไป
* เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถี มีคฤหบดีท่านหนึ่งเคยมีสมบัติมาก แต่เพราะความประมาททำให้ไม่รีบแสวงหาทรัพย์เพิ่ม เมื่อแก่ตัวลง ภรรยาเกิดล้มป่วยและเสียชีวิตลง สมบัติที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ จึงคิดทำธุรกิจเพื่อหาเงินเพิ่ม ทำให้ไม่มีเวลาในการสั่งสมบุญ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะประทับอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่เคยคิดจะไปถวายทานหรือฟังธรรมเหมือนกับคนอื่นๆ ที่เขาทำกัน วันหนึ่ง คฤหบดีได้ให้ลูกสาวไปยืมเงินของเพื่อนมา ๑๐๐ กหาปณะ เพื่อมาใช้เป็นทุนในการค้าขาย เมื่อได้มาแล้วก็ไปซื้อสิ่งของบรรทุกเกวียนไปค้าขายต่างเมือง ได้เงินทองกลับมาเป็นอันมาก
ในระหว่างทางกลับบ้าน พวกโจรได้ดักซุ่มเพื่อปล้นหมู่เกวียน ทำให้พวกพ่อค้าต่างพากันแตกกระจายหนีไปคนละทิศคนละทาง ฝ่ายคฤหบดีได้ซ่อนกหาปณะไว้ที่กอไม้แห่งหนึ่ง แล้วตนเองก็เข้าไปแอบซ่อนอยู่ในที่ไม่ไกล พวกโจรตามมาจนพบจึงตรงเข้าทำร้ายและฆ่าคฤหบดีจนตาย เนื่องจากใจยังเกาะเกี่ยวอยู่ในทรัพย์ที่หามาได้ เกิดความโลภครอบงำจิตใจ เขาจึงบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกข์อยู่กลางป่าแห่งนั้นนั่นเอง
พวกพ่อค้าที่หลบหนีไปได้ เมื่อกลับไปกรุงสาวัตถี บอกข่าวร้ายให้ลูกสาวของคฤหบดีฟัง นางเมื่อรู้ว่าพ่อตายแล้วก็เสียอกเสียใจ เพราะตนเองต้องเป็นคนกำพร้า ฝ่ายกุฎุมพีผู้เป็นสหายของบิดาเป็นคนใจบุญสุนทาน กล่าวปลอบโยนนางว่า “ธรรมดาว่า ภาชนะดินมีความแตกไปเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็มีการแตกไปเป็นธรรมดา ฉันนั้น ความตายบังเกิดขึ้นทั่วไปแก่สรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า เพราะฉะนั้น เจ้าอย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย” จากนั้นก็รับนางไว้เป็นบุตรบุญธรรม เลี้ยงดูนางเหมือนลูกแท้ๆ ทำให้นางคลายโศกลงได้ และได้ประพฤติปฏิบัติตามพ่อบุญธรรมที่เป็นผู้รักในการสร้างบุญบารมี
ต่อมา นางคิดถึงบิดาผู้ให้กำเนิด จึงปรารภจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ นางจึงต้มข้าวยาคูเป็นจำนวนมาก แล้วซื้อผลมะม่วงมีรสหวาน ถือไปทำบุญที่วัดพระเชตวัน ได้น้อมข้าวยาคูเข้าไปถวายสงฆ์หมู่ใหญ่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ฉันข้าวยาคูและผลมะม่วงจนอิ่มหนำสำราญแล้ว นางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอผลบุญนี้ จงบังเกิดแก่พ่อบังเกิดเกล้าของหม่อมฉันด้วยเถิด”
พระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาอวยพรให้ความปรารถนานั้นเป็นผลสำเร็จ ทันทีที่นางอุทิศส่วนบุญให้พ่อ เปรตนั้นก็กลับได้สวนมะม่วง มีวิมานต้นกัลปพฤกษ์และสระโบกขรณี พร้อมกับทิพยสมบัติอีกมากมาย นี่ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ บุญที่ทำกับเนื้อนาบุญอันเลิศด้วยจิตที่เลื่อมใสกันจริงๆ สามารถส่งผลถึงผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ ผู้รู้ถึงกล่าวว่า “ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก”
สมัยต่อมา พวกพ่อค้าได้ชักชวนกันไปค้าขายต่างถิ่นอีกครั้ง เมื่อค้าขายจนหมดแล้ว ก็พากันเดินทางกลับมาทางเดิมที่เคยโดนโจรปล้น แต่ครั้งนี้กลับไม่มีพวกโจรอีก เพราะถูกทางการปราบไปหมดแล้ว ไม่ต้องมีความหวาดกลัวกันอีกต่อไป จึงพักแรมค้างคืนกันที่นั่น เมื่อตกกลางคืน เปรตเห็นพ่อค้าเหล่านั้นมาพักแรมก็ดีใจ จึงปรากฏกายให้พ่อค้าได้เห็นพร้อมกับสวนและวิมานอันเป็นทิพย์ พ่อค้าเห็นสมบัติเหล่านั้นก็อัศจรรย์ใจมาก ถามว่า “สระโบกขรณีของท่านนี้ช่างรื่นรมย์ มีพื้นที่ราบเรียบ มีท่าน้ำงดงาม มีน้ำใสสะอาด ดารดาษไปด้วยปทุมชาติที่บานสะพรั่งเกลื่อนกล่นด้วยหมู่ภมร ท่านได้สระโบกขรณีอันเป็นที่ฟูใจนี้อย่างไร สวนมะม่วงของท่านช่างรื่นรมย์ยิ่งนัก มีดอกบานสวยงาม เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ภมร ท่านได้วิมานนี้อย่างไร”
เปรตได้ฟังดังนั้น จึงบอกพวกพ่อค้าไปว่า “สระโบกขรณีอันเย็นสบายน่ารื่นรมย์นี้ ข้าพเจ้าได้มาก็เพราะผลของทานที่ลูกสาวถวายภัตตาหารและผลมะม่วงแด่ภิกษุสงฆ์มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วอุทิศให้ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าได้ทิพยสมบัติเหล่านี้” เมื่อเปรตกล่าวเช่นนั้นแล้ว ก็ได้พาพวกพ่อค้าไปดูทรัพย์กหาปณะที่ตนเองได้ซ่อนเอาไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ พร้อมกับบอกว่า “ขอให้พวกท่านจงรับกหาปณะครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งจงให้ลูกสาวของเรา นางจะได้เอาไปคืนเจ้าหนี้ และขอให้พวกท่านช่วยบอกนาง ให้หมั่นสั่งสมบุญแล้วอุทิศให้ข้าพเจ้ามากๆ ด้วยเถิด” พ่อค้าเหล่านั้นก็รับคำ เมื่อกลับถึงกรุงสาวัตถีแล้ว จึงรีบนำทรัพย์ไปให้ลูกสาวของเปรต และบอกเรื่องราวทั้งหมดที่ไปประสบมาในระหว่างทางให้นางได้ทราบ
เมื่อนางฟังแล้วได้นำกหาปณะนั้นไปใช้หนี้คืนจนหมด ส่วนที่เหลือได้ให้กุฎุมพีพ่อบุญธรรม แต่กุฎุมพีก็คืนทรัพย์นั้นให้นางเพื่อจะได้ใช้สอยทำบุญกุศลตามอัธยาศัย ต่อมากุฎุมพีให้แต่งงานกับลูกชายคนโตของตน อยู่มาวันหนึ่งขณะที่นางกำลังทำบุญ พระบรมศาสดาทรงทราบว่านางมีญาณแก่กล้าพร้อมที่จะบรรลุธรรม จึงทรงแผ่พระรัศมีไปแสดงพระองค์ให้ปรากฏประดุจประทับอยู่เฉพาะหน้า ตรัสพระคาถาว่า “ความประมาทย่อมครอบงำบุคคลผู้ติดอยู่ในความยินดียินร้าย ในความรักความชัง ในทุกข์และสุข เพราะฉะนั้นเธออย่ามัวยึดติดในสิ่งต่างๆ ในโลกทั้งปวงเลย” ในเวลาจบพระคาถา นางได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
จะเห็นได้ว่า บุญกุศลมีส่วนสำคัญต่อชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ถ้าเราไม่ทำบุญเอาไว้มากๆ แล้ว ชีวิตหลังความตายเราจะลำบาก ฉะนั้นจงอย่าได้ประมาทในชีวิต อย่าเบื่อหน่ายในการสร้างบารมี อย่าท้อ อย่าชะล่าใจว่าเราทำเยอะแล้ว ถ้าทำมากแล้วเราต้องสมปรารถนาในทุกๆสิ่ง แต่นี่เรายังไม่สมปรารถนาในทุกๆ สิ่ง คือบางสิ่งเราสมปรารถนาแล้ว แต่บางสิ่งยังไม่สมปรารถนา เพราะว่าในใจของเรานี้ เป็นศูนย์กลางที่ให้บุญและบาปหมุนเวียนกันมาครอบครอง ช่วงไหนเราไม่ได้ทำบุญ ช่วงนั้นแหละเป็นช่วงของบาปจะได้ช่องให้เราไปกระทำบาปโดยที่เราก็ไม่รู้สึกตัว
ถ้าเราไม่อยากให้บาปได้ช่องก็ต้องทำบุญอย่างต่อเนื่อง ทำไปทุกๆ วันอย่าให้ขาด ทั้งการให้ทาน การรักษาศีล และการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าทำได้อย่างนี้ สิ่งที่เราได้ตั้งความปรารถนาว่าเราจะเข้านิพพาน ด้วยที่สุดของรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ก็จะสมปรารถนา ทุกอย่างจะกลายเป็นจริงได้อยู่ที่การกระทำอย่างสม่ำเสมอของเราเอง ฉะนั้นนับจากวันนี้เป็นต้นไป ที่ผ่านมาใครยังปฏิบัติไม่สม่ำเสมอก็ทำให้สม่ำเสมอ ให้นั่งธรรมะทุกวันอย่าให้ขาด ให้สั่งสมบุญใสๆเอาไว้ทุกวัน ฝึกฝนใจกันไปจนกว่าจะได้เข้าถึงที่พึ่งภายในคือพระธรรมกายกันทุกคน
* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๕๗๗
พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12949
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป
กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน