วิบากกรรมของการพูดเพ้อเจ้อ

วิบากกรรมของการพูดเพ้อเจ้อ (เด็กทารกเกิดมาถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าช้าเพราะคำพูดล่วงเกินสมณะ)

     การศึกษาแสวงหาวิชาความรู้ในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตของมนุษย์ทุกคน เพราะเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต ที่จะนำพาให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย การที่จะให้ตัวเราเข้าไปถึงจุดแห่งความรู้อันบริสุทธิ์นั้น ต้องทำใจของเราให้หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาความรู้ในทางพระพุทธศาสนาได้ ได้แก่วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

     การศึกษาในทางธรรมนี้ มีเป้าหมายก็เพื่อทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย หากเรามุ่งไปที่วัตถุประสงค์นี้ได้ การศึกษาธรรมะของเราก็จะถูกต้องร่องรอย จะรู้เห็นตรงไปตามความเป็นจริง ได้ทั้งความรู้และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน
มีพระบาลีที่ท่านได้กล่าวไว้ใน โกกาลิกชาดก ว่า
                              “น หิ สตฺถํ สุนิสิตํ      วิสํ หลาหลมฺมิว
                         เอวํ นิกฺกเฒ ปาเตติ    วาจา ทุพฺภาสิตา ยถา
     มีดที่ลับคมดีแล้ว ถึงจะเหมือนยาพิษที่ร้ายแรง ก็ไม่ทำให้ตายสนิทในทันทีทันใดเหมือนกับคำพูดชั่ว”

     คำพูดที่เปล่งออกมาจากปากเราจะทำให้มีผลเป็นอย่างไรก็ได้ ทั้งกับตัวของเราและคนรอบข้าง คืออยากจะให้เป็นถ้อยคำแห่งเพชรพลอย หรือจะให้เป็นไม้พลองเป็นอาวุธเข้าทำร้ายประหัตประหารกันก็ได้ จะให้เกิดประโยชน์หรือเกิดโทษอย่างมหาศาลก็ได้ ดังนั้นเราควรเปล่งแต่วาจางามเท่านั้น ไม่ควรเปล่งวาจาชั่วเลย ให้รู้จักกาลอันสมควรและไม่ควรกล่าวถ้อยคำวาจาใด ถ้าหากว่าทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถึงแม้ว่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้างก็ตาม ควรพิจารณาให้ดีก่อนจึงค่อยพูด หัดใช้คำพูดให้เป็น ไม่ให้กระทบกระทั่งใคร ควรพูดแต่คำจริงที่ประกอบด้วยประโยชน์ ความจริงที่เปล่งด้วยวาจาหยาบคายย่อมจะทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ควรพูดแต่คำที่เป็นที่รักที่พอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าเวลาไหนๆ ก็ตาม

     แม้พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนให้กล่าวแต่วาจาสุภาษิต ที่ผู้รู้สรรเสริญเอาไว้ว่า “สัตบุรุษทั้งหลายกล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นหนึ่ง บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม พึงกล่าววาจาอันเป็นที่รัก  ไม่พึงกล่าวาจาอันไม่เป็นที่รัก และพึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าววาจาที่เป็นเท็จ”

     * สมัยหนึ่งในเมืองสาวัตถี มีอุบาสกและอุบาสิกาเป็นอันมาก พร้อมใจกันสร้างมณฑปหลังใหญ่ขึ้นมาในพระนคร ประดับประดาตกแต่งด้วยผ้าอันวิจิตร แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ให้มาเป็นเนื้อนาบุญโดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้พระองค์ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีมีค่าประมาณมิได้ บูชาด้วยสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วได้ถวายมหาทานบารมีเป็นการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่

     ครั้งนั้น มีบุรุษคนหนึ่งเห็นการกระทำของเหล่าอุบาสกอุบาสิกา ก็เกิดอกุศลจิตมีความตระหนี่เกิดขึ้นในใจ จึงกล่าวปรามว่า “สิ่งของทั้งหมดนี้ ทิ้งไปที่กองหยากเยื่อเสียยังจะดีกว่าถวายให้สมณะโล้นเหล่านี้ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร” พวกอุบาสกอุบาสิกาได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความสลดใจพากันคิดว่า การที่บุรุษนี้ไม่ขวนขวายในการทำความดี แล้วยังทำความชั่วอีก ซึ่งเป็นกรรมที่มีโทษร้ายแรง เพราะกระทำต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข จัดว่าเป็นการประทุษร้ายอย่างหนักต่อผู้รู้ผู้บริสุทธิ์

     ชาวบ้านจึงนำเรื่องนี้ไปบอกแก่มารดาของบุรุษนั้นพร้อมกับกำชับว่า ให้ไปขอขมาโทษต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์เสีย กรรมนั้นจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา มารดาเขาก็รับคำ ได้ไปตักเตือนลูกชายจนเขาสำนึกผิด แล้วได้พาลูกชายไปขอขมาโทษ โดยเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เพื่อขอขมาโทษที่ได้ทำผิดพลาดไปด้วยความไม่รู้ และได้บูชาด้วยการถวายข้าวยาคูตลอด ๗ วันแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ด้วยความปีติเลื่อมใส ต่อมาไม่นานนักลูกชายก็เสียชีวิตลงแล้วไปบังเกิดในท้องของหญิงแพศยาคนหนึ่ง เมื่อหญิงแพศยารู้ว่าเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กผู้ชาย ก็ให้เขาเอาไปทิ้งที่ป่าช้า แต่เด็กนั้นเป็นผู้มีบุญจึงไม่ถูกภัยใดๆ รบกวน

     ในเวลาใกล้รุ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากมหานิโรธสมาบัติ ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ทอดพระเนตรเห็นเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า จึงเสด็จไปยังป่าช้า มหาชนได้มาประชุมพร้อมกันเพราะคิดว่า ที่พระบรมศาสดาเสด็จมาในที่นี้ เห็นจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่ จึงตามกันมาดู

     พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกับพุทธบริษัทผู้มาประชุมกันว่า “เด็กคนนี้ไม่มีใครรู้จักหรอก บัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ไร้ที่พึ่งก็จริงอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น เด็กคนนี้ก็จักได้รับสมบัติอันโอฬารในปัจจุบัน ในอนาคต และในสัมปรายภพ”  มหาชนจึงกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติปางก่อน เด็กนี้ทำกรรมอะไรไว้พระเจ้าข้า” จากนั้นพระองค์จึงทรงประกาศกรรมที่เด็กได้กระทำไว้ และสมบัติที่เด็กจะพึงได้รับต่อไปในอนาคต เนื่องจากได้กระทำการบูชาอย่างมโหฬารแก่พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่ภายหลังจิตของเด็กนั้นถูกกิเลสคือความตระหนี่ครอบงำ จึงกล่าววาจาหยาบคายที่มิใช่เป็นวาจาของสัตบุรุษ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมอันเหมาะสมแก่อัธยาศัยของพุทธบริษัทที่พากันมาประชุมในที่นั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา มหาชนและหมู่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม

     ในครั้งนั้นกุฎุมพีคนหนึ่ง ผู้มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ก็ได้รับเด็กนั้นไปเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เด็กนี้มีบุญเก่ารักษาไว้ และมหาชนก็ทำการอนุเคราะห์แล้ว จึงได้เสด็จกลับไปยังพระวิหาร

     สมัยต่อมา เมื่อกุฎุมพีถึงแก่กรรมแล้ว เขาปกครองทรัพย์ที่กุฎุมพีนั้นมอบให้ และเก็บรวมทรัพย์ไว้จนได้เป็นคฤหบดีใหญ่ มีสมบัติมั่งคั่งในพระนครนั้น เขาเป็นผู้มีใจยินดีในการให้ทานเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง ภิกษุทั้งหลายและมหาชนที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น ต่างพากันอัศจรรย์ใจ แล้วคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้เห็นการณ์ไกล ทรงรู้เห็นเหตุนั้นประจักษ์แล้ว อาศัยความอนุเคราะห์ได้เสด็จไปโปรดเด็กน้อย แม้เมื่อเขาเกิดมาก็ถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าช้า พระองค์ยังเสด็จไปด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ ต่างก็พากันชื่นชมในพระญาณของพระบรมศาสดา

     พระบรมศาสดาตรัสว่า “บุคคลบางคนมีบุญมาก บางคนมีบุญน้อย กุมารนี้ถูกทอดทิ้งในป่าช้า เป็นอยู่ได้ด้วยน้ำนมจากนิ้วมือตลอดราตรี ยักษ์ ภูต ผี ปีศาจ หรือสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ก็ไม่เบียดเบียนเด็กน้อยผู้มีบุญซึ่งได้กระทำไว้ดีแล้ว แม้สุนัขจิ้งจอกก็พากันมาเดินวนเวียนเพื่อรักษาเด็กน้อยไว้ ฝูงนกฝูงกาก็พากันมาคาบเอามลทินของครรภ์ไปทิ้ง มนุษย์และอมนุษย์ไม่ได้รักษาเด็กนี้ หรือใครๆ ที่จะทำเมล็ดพันธุ์ผักกาดให้เป็นยาให้แก่เด็กก็ไม่มี และไม่ได้ถือเอาการประกอบฤกษ์ยามใดๆ เลย”

     พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ซึ่งเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ทรงมีพระปัญญากว้างขวาง ทอดพระเนตรเห็นเด็กน้อยที่เขานำมาทิ้งไว้ในป่าช้าในราตรี ช่วยเหลือตนเองยังไม่ได้ จะรอดหรือไม่รอดก็ไม่รู้ และพระองค์ทรงพยากรณ์อีกว่า เด็กนี้จักเป็นผู้มีสกุลสูง มีโภคสมบัติมากในพระนครนี้ สิ้น ๑๐๐ ปี จะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณทั้งปวง เมื่อตายไปจักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งท้าวสักกะในสัมปรายภพ  

     พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ยืนอยู่ที่ใกล้พระบรมศาสดาจึงทูลถามว่า “อะไรเป็นวัตรเป็นพรหมจรรย์ของเขา เขาถึงความลำบากเช่นนี้แล้ว กลับได้เสวยสุขสมบัติเช่นนั้น เพราะกรรมอะไร”

     พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าถึงบุพกรรมของเขาว่า “บุคคลบางคนมีบุญมากเพราะสั่งสมบุญเอาไว้ บางคนมีบุญน้อยเพราะประมาทไม่ได้สั่งสมบุญ บุคคลบางพวกในโลกนี้มีกุศลกรรมทำไว้ดี แต่ภายหลังเป็นผู้เสื่อมจากสมบัติด้วยอำนาจแห่งอกุศลที่เกิดขึ้นในภายหลังเป็นปัจจัย บางพวกที่มีบุญน้อยในเบื้องต้นจึงเสวยทุกข์ แต่เพราะกลับมีใจเลื่อมใสในภายหลังจึงทำให้เป็นผู้รุ่งเรือง เพราะความเป็นผู้มีกุศลจิต จึงรุ่งเรืองมากด้วยโภคทรัพย์ เพราะเหตุแห่งกุศลจิตนั้น” จากนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเล่าบุพกรรมของเขาให้พุทธบริษัทได้รับฟังกัน

     เพราะฉะนั้น การพูดแต่คำที่เป็นวาจาสุภาษิตจะเป็นเหตุนำเราไปสู่ความสุข แต่การกล่าวคำทุพภาษิตเป็นเหตุนำไปสู่ความทุกข์ ก็จงเลือกเอาเถิดว่าจะเอาแบบไหนกัน คนที่กล่าวคำหยาบคาย หากภายหลังสำนึกได้แล้วกลับตัวกลับใจเสียใหม่ หันมาทำความดี นี่นับว่าเป็นความฉลาด แต่ถ้ายังไม่รู้สึกตัว พูดให้ร้ายจนเคยชินเป็นนิสัย วิบากกรรมก็จะติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ และจะนำสิ่งร้ายๆ มาสู่ตนเอง ใครทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ใครพูดอย่างไรก็ได้อานิสงส์อย่างนั้น ปลูกถั่วก็ได้ถั่ว ปลูกงาก็ได้งา ปลูกถั่วจะกลายเป็นงาก็ไม่ได้ การประกอบเหตุเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องจดจำเอาไว้ให้ดี อย่าลืมว่าการคิด การพูด และการกระทำใดๆ ที่จะไม่มีผลนั้นเป็นไม่มี พึงสังวรระวังกาย วาจา ใจของเราให้ดี ซึ่งการที่จะควบคุมกาย วาจา ใจของเราให้อยู่ในร่องในรอย ดีที่สุดก็คือ ต้องหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา ต้องหยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ใจจะได้คุ้นกับความบริสุทธิ์ภายใน การพูดก็จะพูดด้วยวาจาที่บริสุทธิ์ การกระทำก็จะทำด้วยความบริสุทธิ์ อย่างนี้จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๔๐๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12936
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *