โทษภัยจากคำส่อเสียด

โทษภัยจากคำส่อเสียด (สุนัขจิ้งจอกกัดกินโคผู้และราชสีห์เพราะคำส่อเสียด)

     ความเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นทางมาแห่งสันติภาพอันไพบูลย์ หากมีการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีน้ำใจไมตรี จะทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมในอุดมคติที่มีแต่ความสุขสงบ ไม่มีการแก่งแย่งรบราฆ่าฟันกันอย่างที่เราเห็นกันเป็นประจำ ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากดวงใจของผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรม จะช่วยเชื่อมประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจ ให้กลับมาสมัครสมานสามัคคี จากความสับสนกลับคืนสู่ความสงบนิ่ง จากเร่าร้อนเป็นเยือกเย็น กระแสแห่งความปรารถนาดีมีน้ำใจนี้ จะรุกเงียบไปในบรรยากาศ มวลมนุษยชาติจะปรองดองกัน หากกระแสแห่งความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นมากเพียงใด ก็จะช่วยให้โลกเข้าสู่ยุคทองของสันติภาพได้รวดเร็วขึ้น

     การจะทำให้กระแสแห่งความบริสุทธิ์และความปรารถนาดีแผ่ขยายออกไปทั่วโลกนั้น จะต้องออกมาจากใจที่ผ่องใส บริสุทธิ์ และหยุดนิ่ง ความปรารถนาดีที่เต็มเปี่ยมจึงจะพรั่งพรูขึ้นมา แล้วแผ่ขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ยุคทองของสันติภาพจะบังเกิดขึ้นในเร็วพลัน

มีพระบาลีใน สันธิเภทชาดก ความว่า
                              “เต ชนา สุขเมธนฺติ     นรา สคฺคคตาริว
                         เย วาจํ สนฺธิเภทสฺส    นาวโพธนฺติ สารถิ
     ดูก่อนนายสารถี นรชนเหล่าใด ไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม นรชนเหล่านั้น ย่อมได้ประสบความสุข เหมือนคนไปสวรรค์ฉะนั้น”

     การอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องมีความจริงใจ มีความไว้วางใจเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความสงบสุขถึงจะบังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กๆ หรือสังคมหมู่ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเข้ามาอยู่รวมกันแล้ว หากมีเหตุการณ์ที่ไม่สงบเรียบร้อย หรือเกิดกระแสของความสงสัยคลางแคลงเกิดขึ้น ก็ควรจะเป็นคนที่หนักแน่น ไม่หูเบา ให้เชื่อเหตุเชื่อผล ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน จึงปักใจเชื่อ เราต้องหัดมองคนให้เป็น แยกแยะให้ออกด้วยว่า บุคคลที่เรากำลังคบหาสมาคมด้วยนั้นเป็นคนประเภทใด เป็นศัตรูในคราบมิตร ที่คิดจะเข้ามาทำลายความสงบร่มเย็นของหมู่คณะหรือเปล่า  

     บุคคลที่เป็นอันตรายกับหมู่คณะนั้น เป็นอันตรายต่อทุกๆ สังคม ก็คือคนส่อเสียด ชอบความแตกร้าว ยุแยงตะแคงรั่ว บุคคลประเภทนี้ไม่เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพราะผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้มีแต่จะนำความหายนะมาสู่สังคมนั้นๆ  หากรู้ว่าใครเป็นผู้มีอัธยาศัยมักพูดส่อเสียด ชอบความแตกร้าวของคนอื่น ก็ให้รีบออกห่างเสีย หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้ ไม่สามารถออกห่างจากบุคคลประเภทนี้ได้ ก็ให้คบไว้เหมือนนั่งผิงไฟในหน้าหนาว คือหากเข้าใกล้เกินไปก็นำแต่ความร้อนมาให้ ถ้าหากออกห่างเกินไป ก็อาจหนาวเย็น เป็นผลเสียทั้งสองด้าน

     หากเราสามารถดำรงตนอยู่อย่างนี้ โดยไม่หลงเชื่อถ้อยคำของคนที่มักส่อเสียด ชีวิตย่อมมีแต่ความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล สมัยนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระมหาวิหารเชตวัน ทรงสดับว่า ภิกษุชาวฉัพพัคคีย์ได้พูดจาใส่ร้ายป้ายสีให้ภิกษุสงฆ์เกิดความบาดหมางกัน จึงตรัสเรียกมาถามว่า “จริงหรือเปล่าภิกษุทั้งหลาย ที่พวกเธอพูดจาส่อเสียด ป้ายร้ายให้หมู่สงฆ์เกิดความแตกแยก ทะเลาะวิวาท ขาดความสามัคคีกัน”

     เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ยอมรับ พระองค์จึงติเตียนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าวาจาที่ส่อเสียด เป็นของที่คมกล้าประดุจอาวุธ หากถูกยุยงบ่อยๆ ความเหนียวแน่นปรองดองที่เคยมั่นคงก็จะแตกสลายไปได้ เพราะวาจาส่อเสียด สามารถทำให้มิตรภาพที่ผูกพันกันมายาวนานต้องแตกสลายได้ เหมือนแก้วน้ำที่แตกแล้วไม่มีวันต่อให้ติดได้เหมือนเดิม หากพวกเธอพูดจาส่อเสียดอย่างนี้บ่อยเข้า ความบาดหมางใจที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นมา ส่วนความบาดหมางที่มีอยู่แล้วก็จะเจริญมากขึ้น” แล้วพระองค์ทรงยกอุทาหรณ์สอนใจให้ฟังว่า

     * ในสมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าของเราบังเกิดเป็นพระราชาเมืองพาราณสี พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม และทรงมีพระปัญญาญาณ สามารถเดาเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้อง ในสมัยนั้น มีนายโคบาลท่านหนึ่ง ซึ่งรับเลี้ยงโคในราชตระกูล เหตุการณ์ต่างๆ สงบเรียบร้อยด้วยดีเสมอมา บังเอิญว่ามีอยู่วันหนึ่ง หลังจากนำโคออกไปเลี้ยงในป่าลึก ขณะกำลังเตรียมต้อนโคกลับจากป่าเพื่อกลับบ้านนั้น นายโคบาลลืมโคตัวเมียไว้ตัวหนึ่ง และมันกำลังตั้งท้องพอดี จึงถูกทิ้งไว้ในป่าตามลำพัง

     และก็เป็นเหตุการณ์บังเอิญอีกเช่นกัน ด้วยความผูกพันกันมาในอดีตชาติ ระหว่างที่แม่โคได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่านั้น ได้ไปพบกับแม่ราชสีห์  ราชสีห์เป็นสัตว์ที่กินเนื้อ แต่เมื่อเจอกับแม่โคที่มีครรภ์แก่ตัวนั้นเข้า ก็เกิดความชอบพอและสนิทสนมกันประดุจว่าได้เกิดร่วมครรภ์มารดาเดียวกัน แม่โคกับราชสีห์ทั้งสองจึงได้เป็นมิตรกันอย่างเหนียวแน่น ชนิดที่ว่าไม่เคยมีสัตว์ที่ไหนที่แม้ว่าจะต่างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ผูกพันกันมากอย่างนี้มาก่อน 

     ต่อมาแม่โคก็ตกลูกโค ส่วนแม่ราชสีห์ก็ตกลูกราชสีห์ ลูกของสัตว์ทั้งสองฝ่ายต่างรักกันเป็นอย่างยิ่ง หยอกล้อเล่นหัวกัน มีมิตรไมตรีอย่างเหนียวแน่นเหมือนอย่างมารดาของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง พรานป่าคนหนึ่งเข้าไปหาของป่า วันนั้นไปพบครอบครัวสัตว์ทั้งสอง ในระหว่างที่กำลังสอดส่ายสายตาหาของที่ตนเองต้องการ สายตาก็เหลือบไปเห็นลูกโคและราชสีห์กำลังหยอกล้อเล่นกันอย่างสนุกสนาน ราวกับว่าเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน

     นายพรานเห็นแล้วรู้สึกบังเกิดความประหลาดใจยิ่งนัก เพราะตั้งแต่ใช้ชีวิตเป็นพรานป่า ท่องเที่ยวไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ยังไม่เคยเห็นอะไรที่น่าแปลกใจขนาดนี้มาก่อน หลังจากหาของป่าได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำของที่ตนเองหามาได้ไปถวายแก่พระราชา พระราชาทรงรับบรรณาการของพรานแล้ว รับสั่งถามว่า “สหายเอ๋ย ท่านก็ใช้ชีวิตในป่ามายาวนาน เคยเห็นความอัศจรรย์ในป่าบ้างไหม” 

    นายพรานป่าซึ่งไปพบกับเหตุการณ์ที่สดๆ ร้อนๆ เมื่อบ่ายวันนี้เอง จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ในวันนี้ ขณะที่ข้าพระองค์มองหาของป่าอยู่นั้น ได้แลเห็นราชสีห์กับโคอาศัยอยู่ร่วมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก ที่สัตว์กินเนื้ออยู่ร่วมกันกับสัตว์ที่เป็นอาหาร” พระราชาเมื่อทรงสดับเรื่องราวของนายพรานแล้ว จึงรับสั่งว่า “เมื่อไรที่ท่านเห็นสัตว์ตัวที่สามเข้ามาอยู่ร่วมด้วยละก็ ให้แจ้งให้เราทราบด้วย” พรานป่าก็รับคำ แล้วก็แวะเวียนไปดูความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งสองตัวอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง พรานได้ไปเห็นสุนัขจิ้งจอกเข้ามาอยู่ร่วมกับสัตว์ทั้งสอง คอยบริการอำนวยความสะดวกในทุกๆ อย่าง เมื่อพรานป่าพบเห็นอย่างนั้น จึงรีบเดินทางมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ  

     ฝ่ายเจ้าสุนัขจิ้งจอกคิดว่า เราเองก็เคยกินเนื้อสัตว์ทุกประเภทมามาก แต่ยังไม่เคยลิ้มลองเนื้อโคและราชสีห์เลย อย่ากระนั้นเลย เราควรยุให้ทั้งสองแตกกันแล้วให้ฆ่ากันเอง แล้วเราจะได้อาหารมื้อโอชะต่อไป แล้วก็เริ่มยุยงสัตว์ทั้งสองฝ่ายให้แตกกัน สัตว์ทั้งสองจากที่เคยเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เกิด เมื่อต้องมาหลงคารมคำส่อเสียดของสุนัขจิ้งจอก ก็เกิดการทะเลาะกัน จนกระทั่งลงมือต่อสู้และถึงความตายทั้งสองฝ่าย

     ฝ่ายนายพราน เมื่อกราบทูลให้พระราชารับทราบว่า มีสุนัขจิ้งจอกเข้ามาอยู่ด้วย พระองค์ทรงรับสั่งว่า “สุนัขจิ้งจอกจะยุยงสัตว์ทั้งสองนั้นให้ทะเลาะกันจนถึงตายแน่ เราต้องรีบไปให้ทันเวลาที่สัตว์ทั้งสองจะตาย” แล้วพระองค์ก็ให้พรานป่า รีบนำทางเสด็จเข้าป่าลึก เมื่อเสด็จไปถึงปรากฏว่า สัตว์ทั้งสองตายแล้ว เหลือแต่สุนัขจิ้งจอกที่กัดกินเนื้อราชสีห์และเนื้อโคด้วยความสบายอกสบายใจอยู่ที่ตรงนั้น

     พระราชาทรงยืนทอดพระเนตรอยู่บนราชรถ ทรงเข้าใจเหตุการณ์ได้ตลอด จึงรำพึงว่า “พวกสุนัขจิ้งจอกพากันกัดกินโคผู้และราชสีห์เพราะคำส่อเสียดใด คำส่อเสียดนั้นย่อมตัดมิตรภาพ คำส่อเสียดเป็นดุจปลายดาบอันคมกริบ ดูก่อนนายสารถี ท่านจงดูการนอนตายของสัตว์ทั้งสองนี้เถิด ผู้ใดเชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายมิตรภาพ ผู้นั้นจะต้องนอนตายอย่างนี้“

     เราจะเห็นว่า คำส่อเสียดนั้นเหมือนศัสตราที่ฆ่ามิตรภาพทีเดียว คนส่อเสียดเป็นอันตรายต่อทุกๆ สังคม เป็นบุคคลอันตรายที่ไม่ควรคบหาสมาคมเลย แม้ถือกำเนิดในสังคมของสัตว์เดรัจฉาน สังคมนั้นก็ยังไม่ปลอดภัย จากที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ก็จะประสบทุกข์เพราะคำส่อเสียด เพราะฉะนั้น ให้ทุกท่านจงระมัดระวังกันให้ดี ควรเป็นผู้ที่มีใจหนักแน่นมั่นคง ไม่หลงเชื่อถือถ้อยคำของผู้มีวาจาส่อเสียด ประทุษร้ายมิตร โดยเฉพาะตัวของเราเอง ต้องฝึกฝนอบรมตนเองอยู่เสมอ ไม่ให้เป็นคนส่อเสียด อย่าใช้วาจาที่ทำให้แตกร้าว แต่เราจะพูดเพื่อประสานรอยร้าว เหมือนน้ำฝนหลั่งรดชโลมดินที่แตกระแหง ให้กลายเป็นผืนดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหลาย จะพูดจากับใครก็สามารถโน้มน้าวใจของผู้ฟังให้อยากทำความดี อยากประพฤติปฏิบัติธรรม  และวาจาใดที่พูดให้ผู้คนเข้าถึงธรรมได้ วาจานั้นจัดเป็นสุดยอดของวาจา

* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๗๐๐

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12933
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *