โทษของการว่าร้ายผู้อื่น

โทษของการว่าร้ายผู้อื่น ( พระโกกาลิกะมีจิตผูกอาฆาตในพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ )

     การประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวของเราเองและมวลมนุษยชาติ ผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์ ย่อมจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย อาภรณ์ภายนอกนั้นแม้อาจจะมีมูลค่ามากมาย แต่เป็นที่พึ่งในยามคับขันให้กับเรายังไม่ได้ อีกทั้งยังทำให้เป็นห่วงกังวลในการเก็บรักษา แต่ธรรมะภายในเท่านั้น ที่เป็นอาภรณ์ชั้นเลิศ เป็นที่พึ่งที่ระลึกให้กับตัวเราได้อย่างแท้จริง แม้คนอื่นก็ให้ความเคารพเลื่อมใส จะทำให้เป็นที่รักที่น่าปรารถนา และเป็นผู้ทรงคุณค่าสง่างามของมหาชนทั้งหลาย ดังนั้นธรรมะจึงเป็นอาภรณ์ประดับคู่กายที่อมตะมั่นคงที่สุด ที่จะติดตามตัวเราไปได้ทุกภพทุกชาติ เราจึงต้องหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมะภายใน เราจะได้เป็นเจ้าของสมบัติอันลํ้าค่านี้ได้ตลอดไป

มีพระบาลีกล่าวไว้ใน สุภาษิตสูตร ว่า
     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต  ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกล่าวแต่วาจาที่บุคคลกล่าวดีแล้วเท่านั้น ไม่กล่าววาจาที่บุคคลกล่าวชั่ว ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม ย่อมกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักเท่านั้น ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ย่อมกล่าวแต่วาจาจริงเท่านั้น ไม่กล่าววาจาเท็จ

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่พึงติเตียน”

     วาจาสุภาษิต หมายถึงคำพูดที่ได้รับการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วจากใจที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้ฟัง เนื่องจากธรรมชาติให้ดวงตามา ๒ ตา มีหน้าที่ดู สำหรับหูมีหน้าที่ฟังเพียงอย่างเดียว ธรรมชาติก็ให้มาถึง ๒ หู จมูกให้มา ๒ รู มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว แต่ปากมีเพียงปากเดียว แต่ต้องมีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือ ทั้งกินและพูด แสดงว่าธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อย ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก ยามจะกินก็กินให้พอดี จะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่เหมาะสมพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง ท่านเรียกว่า วาจาสุภาษิต

    การพูดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกๆ คน จะล้มเหลวหรือจะประสบความสำเร็จในชีวิตก็อาศัยวาจาที่เปล่งออกมาจากปากนี่แหละ ก่อนเปล่งถ้อยคำเรายังเป็นนายของคำพูด ครั้นเมื่อพูดออกไปแล้ว คำพูดนั้นจะเป็นนายของเรา เพราะฉะนั้น เราต้องระมัดระวังคำพูด ต้องรู้จักใช้วาจาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อส่วนรวม และต่อชาวโลก ให้พูดแต่วาจาที่ไพเราะเสนาะโสต สมานไมตรี เราจะได้เป็นผู้มีวาจาอันเป็นที่รักที่เชื่อถือได้ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่พูดแล้วนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง อย่าพูดจาเพียงเพื่อสนุกปากด้วยความคึกคะนอง หรือพูดคำหยาบว่าร้ายผู้อื่น มิฉะนั้นจะต้องประสบทุกข์เพราะคำพูดของตนเอง เหมือนอย่างพระโกกาลิกะ ผู้มีจิตประทุษร้ายด่าว่าพระอรหันต์ ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในมหานรก

     * เรื่องมีอยู่ว่า พระโกกาลิกะมีจิตผูกอาฆาตในพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เนื่องจากไม่ชอบใจที่หลังจากออกพรรษาแล้ว พระเถระทั้งสองรูปไม่ได้รับไทยธรรมที่ญาติโยมนำมาถวายให้ ทำให้ตนเองพลอยไม่ได้ลาภสักการะไปด้วย จึงหาทางคอยแต่จะแก้แค้นพระเถระทั้งสองอยู่ตลอดมา จนกระทั่งมีอยู่พรรษาหนึ่ง เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เที่ยวจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโปรดญาติโยม ได้พากันเดินธุดงค์ไปจนถึงโกกาลิกรัฐ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระโกกาลิกะ

     สาธุชนต่างพากันให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ให้เข้าไปพักในวิหาร แล้วช่วยกันจัดแจงภัตตาหารหวานคาวมาถวาย รวมไปถึงคิลานเภสัชและเครื่องนุ่งห่มอีกมากมาย พวกภิกษุที่มาด้วยกัน ต่างได้รับจีวรที่ญาติโยมนำมาถวาย ส่วนพระโกกาลิกะไม่ได้รับกับเขา

     พระโกกาลิกะเมื่อไม่ได้จีวรจึงตัดพ้อต่อว่าพระเถระทั้งสองว่า พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เป็นผู้ปรารถนาลามกมักมาก รับเสียจนล้นเหลือ ไม่ยอมให้ตนเอง ซึ่งเป็นพระเจ้าถิ่นเลย พระเถระคิดว่า โกกาลิกะต้องประสบอกุศลเพราะอาศัยปากของตนแน่แท้ ท่านไม่อยากให้พระโกกาลิกะได้รับบาปมากไปกว่านี้ จึงพาบริวารออกไปพักที่อื่น แม้ชาวบ้านจะอาราธนาอ้อนวอนให้อยู่ต่อ แต่ท่านก็ไม่รับอาราธนา สาธุชนเข้าไปถามสาเหตุที่ทำให้พระเถระไม่อยู่ที่นี่ เมื่อทราบว่าเป็นเพราะพระโกกาลิกะด่าว่าพระอัครสาวกทั้งสอง จึงได้นิมนต์ให้พระโกกาลิกะไปขอขมาพระเถระ แล้วอาราธนาให้ท่านกลับมาเป็นเนื้อนาบุญที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะขับไล่พระโกกาลิกะออกจากวัดนี้

     พระโกกาลิกะจำต้องไปอ้อนวอนพระเถระทั้งสองรูป เนื่องจากกลัวโยมอุปัฏฐากจะขับไล่ แต่พระเถระและคณะสงฆ์ ต่างปฏิเสธที่จะกลับไป เมื่อพระโกกาลิกะไม่อาจจะนิมนต์พระเถระให้กลับมาได้ ก็กลับไปยังวิหารตามลำพัง  ฝ่ายญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาเมื่อรู้ว่า พระอัครสาวกทั้งสองไม่ยอมกลับมาอีก จึงพากันขับไล่พระโกกาลิกะให้ออกจากวิหารไป

     เมื่อท่านถูกญาติโยมขับออกจากวัดเสียแล้ว ก็ถือบาตรจีวรไปขออาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ พระวัดอื่นรู้ว่านี่คือพระโกกาลิกะผู้ด่าว่าพระอัครสาวก จึงไม่มีใครอยากจะรับไว้ เพราะกลัวว่าจะมาทำให้สงฆ์เสื่อมเสีย และกลัวพระในวัดจะแตกความสามัคคี สุดท้ายเมื่อมองไม่เห็นที่พึ่งอื่นแล้ว จึงเดินทางไปวัดพระเชตวันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา แต่เมื่อไปเข้าเฝ้าแล้วแทนที่จะพูดเรื่องจริง ก็ไปโกหกพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามก เป็นคนมักมาก เป็นผู้ยินดีในลาภสักการะ ได้พาภิกษุไปเบียดเบียนข้าพระองค์ ทำให้ข้าพระองค์ต้องเดือดร้อน ไร้ที่อยู่อาศัย”

     พระบรมศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของพระเถระทั้งสองรูปดี จึงรับสั่งว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนี้เลย จงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด” พระโกกาลิกะก็ไม่ยอมฟัง แล้วยังกล่าวไม่เหมาะสมกับพระพุทธองค์อีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มัวแต่เชื่อพระอัครสาวกของพระองค์อยู่ได้อย่างไร ข้าพระองค์เห็นประจักษ์มากับตาแล้วว่า ภิกษุพวกนี้ล้วนเป็นคนมักมาก มีลับลมคมใน เป็นผู้ทุศีลทั้งนั้น” พระบรมศาสดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า “อย่าไปกล่าวร้ายพระอรหันต์เลย” แต่พระโกกาลิกะไม่ยอมเชื่อ ว่าแล้วก็ยังลุกจากไปโดยไม่เคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     เมื่อท่านเดินลับคลองจักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปเท่านั้น ทั่วทั้งเรือนร่างของท่าน ก็เกิดเม็ดตุ่มประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ค่อยๆ พุพองใหญ่ขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนเท่าผลพุทรา แล้วโตใหญ่ขึ้นขนาดผลมะตูมสุก จากนั้นตุ่มก็แตกออกเป็นน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลโทรมกาย ส่งกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งออกจากตัว ท่านต้องนอนเจ็บปวดทุรนทุรายอยู่ที่ซุ้มประตูวัดพระเชตวัน ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เรื่องนี้ได้มีการโจษจันไปในวงกว้าง ตั้งแต่หมู่มนุษย์ เทวดา จนถึงพรหมโลก ว่าพระอัครสาวกทั้งสองถูกพระโกกาลิกะด่าบริภาษ

     สมัยนั้น ตุทุพรหม ซึ่งเคยเป็นอุปัชฌาย์ของพระโกกาลิกะ เมื่อได้ทราบเรื่องนั้น ก็อยากจะช่วยเหลือลูกศิษย์ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน จึงลงมาจากพรหมโลก มายืนอยู่ในอากาศต่อหน้าพระโกกาลิกะ เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณวัดพระเชตวัน พร้อมกับบอกลูกศิษย์ว่า “โกกาลิกะ ท่านจงทำความเลื่อมใสในพระอัครสาวกทั้งสองเถิด อย่ามีจิตคิดประทุษร้ายในพระอรหันต์เลย แล้วท่านจะพ้นจากความทุกข์แสนสาหัสนี้“

     โกกาลิกะตะโกนถามไปว่า “ท่านเป็นใครกัน ถึงกล้ามาสั่งสอนเรา” อดีตพระอุปัชฌาย์ก็บอกว่าเป็นตุทุพรหม แต่โกกาลิกะกลับเอ็ดตะโรใส่ว่า “ท่านรึ เป็นตุทุพรหม พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เป็นพระอนาคามีมิใช่หรือ ธรรมดาว่า พระอนาคามีจะไม่กลับมายังโลกอีกแล้ว สงสัยท่านคงเป็นแค่ยักษ์ที่กองขยะเป็นแน่ จงไปเสียเถิด” 

     เมื่อตุทุพรหมไม่อาจทำให้โพระกกาลิกะเชื่อถือถ้อยคำได้ จึงอันตรธานหายไปแล้วกลับไปเสวยสุขในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสเหมือนเดิม ฝ่ายภิกษุโกกาลิกะทนความเจ็บปวดไม่ไหวก็สิ้นใจตาย แล้วไปบังเกิดในปทุมนรก ต้องรับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเป็นเวลายาวนาน

     จากเรื่องนี้จะเห็นว่า การที่เราจะกล่าวหาใครสักคนก็ตามที ควรต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ อย่าพูดเพียงเพราะใจมีอคติหรือไม่พอใจใคร ต้องรู้จักใช้วาจาในทางสร้างสรรค์ที่ให้เกิดประโยชน์ดีกว่า คำพูดที่ดีมีมากมายควรนำมาใช้ ให้รู้จักใช้วาจาที่ยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น ไม่ใช่คอยแต่จะชวนทะเลาะ เพราะจะทำให้ใจหยาบ ทำให้คอยจับผิดกันและกัน แล้วในที่สุดก็ทำให้เกิดการแตกความสามัคคี ควรพูดจาให้เหมือนอารยชน พูดแต่วาจาสุภาษิต ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ถ้าอารยชนใคร่จะพูด ก็เป็นผู้ฉลาด รู้จักกาล พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุผลที่อารยชนประพฤติกัน ไม่พูดด้วยความโกรธ ไม่ยกตัว มีใจสงบ ไม่ตีเสมอ ไม่ก้าวร้าว ไม่พูดเอาหน้า รู้ชอบแล้วจึงกล่าว ถ้าเขาพูดดีพูดถูกก็อนุโมทนา เมื่อคนอื่นพูดผิด ก็ไม่รุกราน เขาพูดพลั้งไปบ้างก็ไม่ถือสาหาความ ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเหยียบย่ำคนอื่น การพูดของสัตบุรุษเป็นการพูดเพื่อให้เกิดความรู้ประเทืองปัญญา อารยชนมีปกติสนทนากันอย่างนี้

     ทุกท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดจาปราศรัยกับใคร ต้องรู้จักมีความสำรวมระวัง ให้พูดแต่ถ้อยคำอันเป็นที่รัก เป็นคำที่ยกใจให้สูงขึ้นสู่หนทางสวรรค์และพระนิพพาน ฝึกสรรหากลั่นกรองถ้อยคำที่พูดแล้วเปลี่ยนใจผู้ฟังจากรุ่มร้อนให้มาเยือกเย็น จากกระวนกระวายกระสับกระส่ายให้หยุดนิ่งได้ พูดจาโน้มน้าวใจผู้ฟังให้หันกลับเข้ามาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วาจาใดที่พูดไปแล้วทำให้ผู้ฟังเข้าถึงธรรม วาจานั้นแหละเป็นอริยวาจา เป็นวาจาอันประเสริฐ ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้มีวาจาสุภาษิต จะได้ช่วยกันแนะนำชาวโลกให้เข้าถึงธรรมกันทุกคน

* มก. เล่ม ๒๕ หน้า ๑๖๓

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12920
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *