โทษของการฉ้อราษฎร์บังหลวง

โทษของการฉ้อราษฎร์บังหลวง (เปรตอดีตปุโรหิตมีทิพยสมบัติในตอนกลางคืนเพราะรักษาอุโบสถเพียงคืนเดียว )

     โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เปรียบเสมือนศูนย์รวมแห่งบุญและบาป บัณฑิตผู้มีปัญญาเกิดมารู้คุณค่าของชีวิต จึงมุ่งแต่สั่งสมบุญสั่งสมความดี เพื่อจะได้เป็นเสบียงในการเดินทางไกลข้ามวัฏสงสาร ส่วนผู้ที่ไม่รู้คุณค่าของชีวิต ก็ปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า แล้วยังก่อบาปอกุศล ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความสุขในเบื้องต้น แต่จริงๆ แล้ว เป็นความทุกข์ตั้งแต่ต้นจนถึงอวสาน นักสร้างบารมีผู้ไม่ประมาท จึงสั่งสมแต่บุญบารมีอย่างเดียว แล้วเว้นจากบาปอกุศลทั้งปวง มุ่งรุดหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางคืออายตนนิพพาน การทำใจให้หยุดนิ่งเป็นวิธีการอันประเสริฐที่จะไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด ดังนั้น ผู้มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร จึงควรหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆ วัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ วาเสฏฐสูตร ความว่า
                         “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก    กมฺมุนา วตฺตตี ปชา
                     กมฺมนิพนฺธนา สตฺตา    รถสฺสาณีว ยายโต
     โลกเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์เป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องกระชับ เหมือนลิ่มสลักรถที่แล่นไปอยู่ฉะนั้น”

     คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เราเข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าทำดีก็มีความสุขเป็นอานิสงส์ ทำไม่ดีก็ส่งผลให้ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่และละโลกไปแล้ว ฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่ไม่ให้ผลนั้นย่อมไม่มี เหมือนปลูกถั่วก็ต้องได้ถั่ว ปลูกงาก็ต้องได้งา ปลูกถั่วจะได้งาเป็นไปไม่ได้ กฎแห่งกรรมนี้เป็นกฎสากล เสมือนผู้พิพากษาชีวิตที่เที่ยงตรงที่สุด ใครก็ไม่สามารถหลีกหนีการตัดสินคดีความแห่งการกระทำของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายที่ทำเอาไว้ หรือกระทั่งความดีที่ได้สั่งสมมา แม้วันนี้ยังไม่ให้ผล แต่วันหน้าต้องบังเกิดผลอย่างแน่นอน

     ปัจจุบันสภาพแวดล้อมและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากยุคเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรม แล้วก็ก้าวไปสู่ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน ที่ทุกคนจะต้องก้าวให้ทันโลก จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยในเรื่องของการพัฒนาจิตใจ เพราะมัวแต่ไปพัฒนาวัตถุ ตราบใดที่ต้องวิ่งให้ทันโลก ต้องแสวงหากันรํ่าไป ซึ่งการดิ้นรนขวนขวายเพื่อความอยู่รอดนั้น บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาอาชีพ ทรัพย์สินเงินทอง ยศตำแหน่งที่ได้มาจึงเป็นของร้อน ที่ทำให้ต้องประสบแต่ความทุกข์รํ่าไป

     * ในสมัยที่พระบรมศาสดาทรงสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ มีอยู่ชาติหนึ่ง พระองค์บังเกิดเป็นพระราชาพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัต ครองราชย์อยู่ในนครพาราณสี ทรงเป็นผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ พระองค์ทรงปรารถนาให้เหล่าพสกนิกรมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะเช่นเดียวกับพระองค์

     ในพระราชสำนัก มีปุโรหิตคนหนึ่งรับราชการอยู่กับพระองค์ เมื่อได้เลื่อนยศตำแหน่งเป็นผู้ปกครองคนแล้ว ก็คิดแต่อยากได้ทรัพย์สมบัติ ไม่รู้จักพอ แทนที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนสร้างบารมี ขจัดทุกข์บำรุงสุขช่วยเหลือราษฎร แต่กลับเอาไปทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดบาป ขูดรีดประชาชนให้เดือดร้อน ไม่พอใจใครก็ใช้อำนาจบีบบังคับ รับสินบนเป็นอาจิณ ทำให้ตัดสินคดีความด้วยความลำเอียง  

     ในวันอุโบสถ พระราชาทรงรับสั่งให้อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหมดมาประชุมกัน แล้วให้ทุกคนรักษาอุโบสถศีล ทุกๆ คนก็น้อมรับตามพระราชประสงค์ มีเพียงปุโรหิตท่านนี้ที่ไม่ยอมสมาทานอุโบสถศีล เมื่อพระราชาทรงซักถาม ปุโรหิตทูลเท็จว่าได้สมาทานแล้ว ขณะที่กลับจากการเฝ้าพระราชา อำมาตย์ท่านหนึ่งจึงทักท้วงขึ้นว่า ท่านปุโรหิตยังไม่ได้สมาทานเลย  ฝ่ายปุโรหิตกลัวเสียหน้า จึงพูดแก้ตัวว่า “จะกลับไปอธิษฐานอุโบสถศีลที่บ้านร่วมกับครอบครัว” เมื่อปุโรหิตกลับถึงบ้านแล้ว ก็ได้ทำตามคำสัญญานั้นด้วยการสมาทานอุโบสถศีลในช่วงเวลากลางคืน

     อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ปุโรหิตอยู่ในศาล มีสตรีผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยศีลคนหนึ่งมายื่นฟ้องคดีความ ในช่วงใกล้ถึงเวลาสมาทานอุโบสถ ขณะนั้น มีผู้นำผลมะม่วงสุกมาให้ปุโรหิต ปุโรหิตรู้ว่าหญิงนั้นจะสมาทานอุโบสถศีล จึงหยิบมะม่วงส่งให้นางรับประทานให้อิ่มก่อน แล้วค่อยสมาทานศีลทีหลัง

     ต่อมาเมื่อปุโรหิตสิ้นชีวิตลง ได้ไปบังเกิดเป็นเวมานิกเปรตในวิมานทอง ประดับตกแต่งด้วยเครื่องทรงสวยงามวิจิตรประณีต แวดล้อมด้วยนางอัปสรหนึ่งหมื่นหกพันเป็นบริวาร มีสวนอัมพวันเป็นรมณียสถานใกล้ฝั่งแม่น้ำใหญ่ในป่าหิมพานต์

     แต่สมบัติอันเป็นทิพย์จะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เมื่อรุ่งอรุณ อัตภาพอันเป็นทิพย์ก็อันตรธานหายไป และกลายมาเป็นเปรตตัวสูงเท่ากับลำตาล มีเปลวไฟเผาลนอยู่ทั่วร่างกาย เล็บมือแต่ละนิ้วโตเท่าใบจอบใหญ่ซึ่งมีไว้สำหรับควักเนื้อหลังของตนเองกิน ได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ไปจนกว่าพระอาทิตย์จะตกดิน แล้วร่างนั้นจะอันตรธานหายไป กลายเป็นร่างทิพย์เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  

     การที่เปรตได้อัตภาพอันเป็นทิพย์ เสวยสุขในเวลากลางคืน มีนางเทพอัปสรหนึ่งหมื่นหกพันเป็นบริวาร เพราะผลที่ได้รักษาอุโบสถเพียงคืนเดียว  และด้วยผลแห่งการให้ผลมะม่วงแก่สตรีผู้สมาทานอุโบสถศีล จึงมีสวนอัมพวันเป็นรมณียสถาน แต่เพราะผลแห่งการรับสินบน ตัดสินคดีด้วยความลำเอียง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่มีความยุติธรรม จึงต้องจิกควักเนื้อหลังของตนเองกิน  

     ในเวลานั้นเป็นช่วงเดียวกับที่พระเจ้าพรหมทัตเห็นโทษในกามคุณ จึงเสด็จออกผนวชเป็นดาบสอยู่ในป่า ท่านเข้าไปในสวนอัมพวันได้เห็นเปรตกำลังร้องโหยหวนด้วยความทุกข์ทรมาน แต่ครั้นเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เปรตนั้นก็กลับกลายร่างเป็นทิพย์มีหญิงแวดล้อมบำรุงบำเรออย่างมีความสุข เมื่อเปรตเห็นพระโพธิสัตว์ก็จำได้ จึงทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้พระองค์ทราบ พระองค์เมื่อสดับแล้วทรงรู้สึกสลดพระทัยในผลกรรมที่ปุโรหิตได้รับ จึงตั้งใจบำเพ็ญภาวนา ในที่สุดก็ได้ฌานและอภิญญา ๕ ครั้นละโลกไปแล้วก็ไปเสวยสุขอยู่ในสุคติภูมิ

     เราจะเห็นว่า การกระทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ล้วนให้ผลทั้งสิ้น และตัวเราเองที่จะเป็นผู้ได้รับผลนั้น เราจะทำสิ่งใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา โลกนี้มีหลายเส้นทางให้เราเลือกเดิน ให้ถามตนเองดูว่าเราจะเลือกเดินทางไหน บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย ท่านเลือกทางแห่งความดีที่นำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ฉะนั้นบาปกรรมแม้เพียงเล็กน้อย ท่านจะพยายามห่างให้ไกลที่สุด เพราะท่านรู้ดีว่า ทำดีย่อมได้รับผลดี มีผลเป็นความสุข ทำชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว มีแต่ความทุกข์ทรมาน

     เวลาในโลกมนุษย์นี้สั้นนิดเดียว แต่ชีวิตหลังความตายนั้นยาวนานมาก  ไม่ว่าจะไปเสวยสุขในโลกสวรรค์ หรือทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิล้วนยาวนานเป็นกัปๆทีเดียว  ดังนั้นเมื่อเรามีอัตภาพเป็นมนุษย์ได้โอกาสแห่งการสร้างบารมีแล้ว ให้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่าด้วยการสร้างความดี ตั้งใจประพฤติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และให้ชักชวนกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตร เชิญชวนผู้มีบุญมาประพฤติธรรม ทำบ้านให้เป็นประดุจวิมานของชาวสวรรค์ ให้ทุกคนในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข สังคมจะได้น่าอยู่ปัญหาต่างๆจะหมดไป จะได้เป็นบุญบารมีติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๖๑ หน้า ๓๐๑

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12880
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “โทษของการฉ้อราษฎร์บังหลวง”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *