โทษของการเห็นผิด

โทษของการเห็นผิด (หญิงงามเมืองถ่มน้ำลายรดศรีษะพระดาบส)

     ธรรมกายเป็นหลักของโลก ผู้เข้าถึงพระธรรมกาย คือผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงเข้าถึงความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า  เพราะได้บรรลุกายธรรมอรหัต จึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ ล้วนออกมาจากกลางธรรมกาย ที่กลั่นออกมาจากใจที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้ที่จะศึกษาวิชชาในทางพระพุทธศาสนาได้ดี ต้องเป็นผู้ที่มีใจหยุดนิ่งสะอาดบริสุทธิ์ จึงจะเข้าถึงธรรมะบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า
                         “นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ    เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ
                     ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ    ยถยิทํ มิจฺฉาทิฏฺฐิ
                     มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ     ภิกฺขเว วชฺชานิ
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นธรรมสักอย่างหนึ่ง ที่มีโทษมากเหมือนอย่างมิจฉาทิฎฐิเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฎฐิเป็นอย่างยิ่ง”

     เนื่องจากจิตที่ตั้งไว้ผิด จึงส่งผลให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด ก่อให้เกิดผลเสียทั้งตนเองและผู้อื่น คนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ นอกจากจะพาตนเองไปสู่ความหายนะแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนและเสื่อมเสียไปด้วย การจะพิจารณาว่าใครเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่นั้น ก็ดูได้ง่ายๆ ว่า เขาเชื่อในเรื่องของการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไหม เชื่อว่านรกสวรรค์ โลกนี้โลกหน้า มีจริงไหม เชื่อว่าบิดามารดามีพระคุณจริง การบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ทานที่ทำไปแล้วย่อมให้ผลเสมอ การปฏิสันถารดีจริง และสมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหมดกิเลส เช่น พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า มีจริงไหม อย่างนี้เป็นต้น

     ปัจจุบันนี้ มีหลายคนยังไม่เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม บางครั้งจึงเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี จนมีสํานวนภาษิตติดปากกันว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” สาเหตุเพราะไม่เข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษอย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ประมาท แล้วถือเอาการกระทำที่ตนเองได้รับผลประโยชน์ในปัจจุบัน ไปทำเรื่องไม่ดีผิดศีลธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมามากมาย ก็เลยเหมาเอาว่าสิ่งที่ทำไปนั้น ดีแล้วถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งทำบาปอกุศลเพิ่มขึ้น โดยไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งข้างหน้าเขาจะต้องพบกับความหายนะในที่สุด  

     * เหมือนในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสร้างบารมี  เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ถูกพระราชารับสั่งให้ปลดออกจากตำแหน่งหญิงงามเมือง ต้องระเหเร่ร่อนไปตามทางของตน

     เมื่อผ่านเข้าไปในพระราชอุทยาน ได้พบพระดาบสรูปหนึ่ง กำลังนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่บนแผ่นศิลาด้วยอาการสงบสำรวม แต่เนื่องจากนางเป็นคนมีความเห็นผิด และกำลังขัดเคืองขุ่นมัว แทนที่จะมีความเลื่อมใสกลับมีความคิดวิปริตว่า “ดาบสผู้นี้นุ่งห่มปอนๆ ผ้าผ่อนดูแล้วสกปรกเศร้าหมอง  แถมยังหยิ่งนั่งนิ่งไม่ไหวติง เห็นแล้วไม่เป็นมงคลเลย สงสัยที่เราถูกปลดออกจากตำแหน่ง เป็นเพราะดาบสรูปนี้แน่”

     เมื่อมีความเห็นผิดจึงคิดกระทำผิดๆ ได้ถ่มน้ำลายลงบนศีรษะของพระดาบส และเอาไม้ชำระฟันที่ใช้แล้วโยนใส่ท่าน ส่วนตนเองไปอาบน้ำในสระ  แล้วหลงปลื้มใจว่า เราจัดการกับคนกาลกิณีแล้ว เสนียดจัญไรจะได้หมดไป ต่อมาพระราชาระลึกถึงนาง ก็พระราชทานตำแหน่งหญิงงามเมืองคืนให้ นางจึงหลงเข้าใจผิดหนักเข้าไปอีกว่า ที่ได้ยศกลับคืนมานั้น เป็นเพราะไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส  

     วันหนึ่ง พระราชาทรงพิโรธปุโรหิต จึงรับสั่งให้ปลดออกจากตำแหน่ง ปุโรหิตจึงไปสอบถามหญิงงามเมืองว่า ครั้งก่อนทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งกลับคืนมา นางแนะนำว่า ในพระราชอุทยานมีดาบสกาลกิณีอยู่องค์หนึ่ง ให้ไปถ่มน้ำลายลงบนศีรษะพระดาบสนั้น แล้วจะได้ตำแหน่งกลับคืนมา ปุโรหิตเองเป็นคนมีความเห็นผิดเช่นเดียวกัน ก็เห็นพ้องด้วย และไปทำตามที่นางบอก จากนั้นอีกไม่กี่วัน พระราชาทรงหายกริ้วปุโรหิต จึงคืนตำแหน่งให้  ปุโรหิตเลยยิ่งเข้าใจผิดไปใหญ่ว่า ที่ได้ฐานันดรคืนมา เพราะไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส

     ต่อมาเกิดการจลาจลที่ชายแดน พระราชาจึงจัดเตรียมกองทัพ เพื่อออกไปปราบปราม ด้วยความหวังดีอยากให้พระราชารบชนะ ปุโรหิตก็กราบทูลตามที่ตนเองเข้าใจว่า “ถ้าหากพระองค์ทรงประสงค์ชัยชนะ ก็ขอเชิญเสด็จไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส แล้วจะมีชัย” พระราชาก็ทำตาม อีกทั้งรับสั่งให้ข้าราชบริพาร รวมทั้งทหารทั้งหมด ไปถ่มน้ำลายรดพระดาบส และทิ้งไม้สีฟันไว้บนชฎา ทำให้พระดาบสเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำลาย และไม้สีฟันเต็มไปหมด แต่พระดาบสไม่ได้สนใจสังขารร่างกาย และท่านก็ไม่ได้อดทนอะไร เพราะท่านมีความสุขอยู่ในฌานสมาบัติ จึงไม่มีใจโกรธเคืองแต่อย่างใด  

     แต่เสนาบดีผู้มีคุณธรรมมาพบเข้า เห็นว่าการประทุษร้ายต่อผู้ทรงศีล เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงไปนมัสการพระดาบส แล้วช่วยชำระล้างร่างกายให้ท่าน ชโลมผิวกายด้วยน้ำหอมอย่างดี แล้วพนมมือเรียนถามท่านด้วยความเคารพนอบน้อมว่า “ท่านดาบสผู้เจริญ พวกคนพาลโง่เขลาไม่รู้คุณของท่าน ได้ประทุษร้ายต่อท่าน ด้วยกรรมหนักเช่นนี้ ไม่ทราบว่าจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขา”

     พระดาบสบอกว่า “ท่านเสนาบดี ความคิดประทุษร้ายตอบ ไม่ได้มีอยู่ในใจของอาตมาภาพเลย แต่ว่าเหล่าเทวดาฟ้าดินพิโรธแล้ว นับจากนี้ไปอีก ๗ วัน เหล่าเทวดาจะทำให้ทั้งแว่นแคว้นถึงความพินาศหมด” และแนะนำให้เสนาบดีพาครอบครัวอพยพออกไปนอกแว่นแคว้น เสนาบดีได้ฟังก็ตกใจ รีบไปทูลให้พระราชาทรงทราบ แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

     เมื่อพระราชาไม่เปลี่ยนพระทัย เพราะถูกอวิชชาครอบงำจนใจมืดบอด  ท่านเสนาบดีจึงได้แต่พาบุตรและภรรยาของตนหนีไปสู่แคว้นอื่น ส่วนพระดาบสได้กลับไปอยู่กับหมู่คณะของตน ฝ่ายพระราชาผู้มีความเห็นผิด ทรงยกทัพออกไปปราบจลาจลที่ชายแดน ทรงมีชัยชนะข้าศึก จากนั้นจึงได้เสด็จกลับสู่พระนคร เมื่อถึงเวลา เทวดาก็บันดาลให้ฝนตก มหาชนต่างพากันดีใจ คิดว่าเทวดาคงมาร่วมชื่นชมในชัยชนะด้วย สักครู่เทวดาบันดาลฝนเงินฝนทองให้ตกลงมา มหาชนยิ่งดีใจไชโยโห่ร้องกันใหญ่ สักพักเทวดาก็บันดาลฝนรัตนะให้ตกลงมามากมาย ทั้งพระราชาและมหาชนต่างเกิดความปลื้มปีติ พากันเก็บรัตนะของมีค่า และชื่นชมอนุโมทนาบาป ที่ได้ถ่มน้ำลายรดพระดาบส

     แต่ยังไม่ทันจะได้เก็บหมด เทวดาก็บันดาลฝนอาวุธ ทั้งที่มีคมข้างเดียวและมีสองคม ตกลงมาเชือดเฉือนร่างกายพวกคนใจบาป แล้วก็มีฝนถ่านเพลิงตกลงมาเผาไหม้ทุกคนให้ถึงแก่ความตาย และฝนทรายละเอียดก็ตกลงมาทับถมมนุษย์เหล่านั้น ในที่สุดบ้านเมืองก็ถึงแก่ความพินาศย่อยยับอย่างน่าเวทนา พวกเขาละโลกไปแล้ว ต้องไปทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ

     ฉะนั้น เรื่องบาปกรรมมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ถึงอย่างไรสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ ถ้าหากเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดต่อพระรัตนตรัย และประทุษร้ายต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องได้รับผลกรรมที่แสนสาหัส เมื่อละโลกแล้ว ก็ไปสู่ทุคติภูมิ

     เพราะฉะนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไป ก่อนจะเชื่อใคร ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้ดี อย่าตื่นข่าวลือ ให้ใคร่ครวญด้วยเหตุและผล เราจะได้ไม่ผิดพลาดในชีวิต ให้ปรับความเห็นให้ถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ จะเห็นถูกต้องได้ ต้องเห็นที่ตรงกลาง จะเห็นธรรมภายในด้วยใจที่บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ถ้าเห็นธรรมได้ จึงจะรู้เห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง ดังนั้น อย่าได้ประมาทในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง หมั่นประคับประคองใจเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา แล้วเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน

* มก. เล่ม ๒๐ หน้า ๑๔๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12852
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “โทษของการเห็นผิด”

  1. ✨น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌼🌺🌸💮🌟🌷🌟💮🌸🌺🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *