ความตระหนี่เป็นภัยในวัฏฏะ

ความตระหนี่เป็นภัยในวัฏฏะ (ปิศาจคลุกฝุ่นคืออดีตอานันทเศรษฐี)

     สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นคือ “บุญ” ซึ่งจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มีโอกาสทำความดี ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ จนกระทั่งได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม และบรรลุถึงความรู้แจ้งอันสูงสุดคือมรรคผลนิพพาน ทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัยบุญที่สั่งสมเอาไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นในชีวิตนี้ควรรีบประพฤติธรรม เก็บเกี่ยวบุญกุศลแก่ตนเองให้มากที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย พิลารโกสิยชาดก ว่า
                    “มจฺเฉรา จ ปมาทา จ     เอวํ ทานํ น ทิยฺยติ
                     ปุญฺญํ อากงฺขมาเนน      เทยฺยํ โหติ วิชานตา
                     ยสฺเสว ภีโต น ททาติ    ตเทวาททโต ภยํ
                     ชิฆจฺฉา จ ปิปาสา จ      ยสฺส ภายติ มจฺฉรี
                     ตเมว พาลํ ผุสติ          อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ ฯ
                     ตสฺมา วิเนยฺย มจฺเฉรํ     ทชฺชา ทานํ มลาภิภู
                     ปุญฺญํ หิ ปรโลกสฺมึ       ปติฏฺฐา โหติ ปาณินํ
     บุคคลให้ทานไม่ได้ ด้วยเหตุผล ๒ อย่างคือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญ พึงให้ทานแท้
     คนผู้ตระหนี่กลัวความยากจนจึงไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวยากจนนั่นแหละ จะเป็นภัยแก่ผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอดอยากข้าว ความกลัวนั่นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาล ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
     เพราะเหตุนั้นบัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดความตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์เมื่อจะสร้างบารมี พระองค์จะคำนึงถึงทานบารมีก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทานบารมีนั้นจะส่งผลให้มีโภคทรัพย์สมบัติ อำนวยความสะดวกสบายให้เราได้สร้างบารมีอย่างอื่นยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งบารมีทั้ง ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยม จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

     หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเคยสอนเอาไว้เสมอว่า “ทานบารมีนี้อย่าได้ขาด ถ้าหากขาดทานบารมีแล้ว จะสร้างบารมีอย่างอื่น มันก็ไม่สะดวก”

     ตัวท่านเองได้สร้างทานบารมีมาตั้งแต่บวช เมื่อบวชใหม่ๆ ออกบิณฑบาต ท่านขาดแคลนเกี่ยวกับเรื่องอาหารหวานคาว ไม่ค่อยมีคนมาตักบาตรกับท่าน แต่ท่านก็ยังออกบิณฑบาตไปตามปกติถึง ๓ วัน วันที่สามได้ข้าวมาปั้นหนึ่งกับกล้วยผลหนึ่ง กลับมาแล้วตั้งใจที่จะลงมือขบฉัน เมื่อเหลือบไปเห็นสุนัขแม่ลูกอ่อนผอมโซ ท่านคิดในใจว่า มันคงหิวเช่นเดียวกับที่เรากำลังหิว จึงแบ่งปันอาหารที่ได้มาในวันนั้นอย่างละครึ่ง ให้ข้าวไปครึ่งปั้น กล้วยครึ่งผล แล้วท่านก็อธิษฐานจิต “ในวันนี้ เราก็ถึงที่สุดแห่งความหิว สุนัขแม่ลูกอ่อนก็ถึงที่สุดในความหิว ที่สุดต่อที่สุดมาเจอกัน เราจึงได้สร้างมหาทานบารมี ขออานุภาพแห่งมหาทานบารมีนี้ จงอย่าได้อดอยากยากจนอีกต่อไปเลย”

     และด้วยอานุภาพแห่งมหาทานบารมีในคราวนั้น เพียงแค่ข้าวครึ่งปั้น กับกล้วยครึ่งผล ทำให้ท่านสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัย ๔ ได้บำรุงเลี้ยงภิกษุสามเณร ถึงวันละ ๕๐๐ รูป เป็นเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งตลอดชีวิตของท่าน เพราะฉะนั้นท่านจึงย้ำบ่อยๆ ว่า จะทำบารมีอะไรก็ทำไปเถิด แต่อย่าขาดทานบารมี เพราะทานบารมีนี้จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราสร้างบารมีอย่างอื่นได้อย่างสะดวกสบาย

     * ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปกับพระอานนท์ ทรงชี้ให้ดูเด็กขอทานคนหนึ่ง และตรัสกับพระอานนท์ว่า เด็กขอทานที่มีร่างกายอัปลักษณ์ผอมโซ น่าเกลียดเหมือนปิศาจคลุกฝุ่นนั้น คือ อานันทเศรษฐีในภพชาติก่อนที่มีสมบัติมากแต่เป็นคนตระหนี่ ได้สั่งห้ามบุตรหลานทุกคนไม่ให้บริจาคทาน ให้หวงแหนทรัพย์เอาไว้ เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป และได้ฝังทรัพย์ไว้ ๕ แห่ง

     เมื่อละโลกไปแล้ว ความตระหนี่ที่เข้าไปครอบงำอยู่ในจิตใจ ห่อ หุ้ม เห็น จำ คิด รู้ อยู่ในกลางกายละเอียดของอานันทเศรษฐี ดึงดูดให้มาเกิดในตระกูลของคนจัณฑาลฐานะยากจน หาเลี้ยงชีพด้วยการขอทาน เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาทำให้มารดาเดือดร้อน ไม่ว่าจะไปขอทานที่ไหนก็ขอไม่ได้ เมื่อคลอดออกมา วันไหนที่พ่อแม่พาเขาไปขอทานด้วย วันนั้นก็ขอไม่ได้อีกเหมือนกัน จากเดิมที่จนอยู่แล้ว กระแสความตระหนี่ของลูกยิ่งส่งผลให้เป็นคนจนหนักเข้าไปอีก

     พ่อแม่จึงปรึกษากันว่า “ทำไมแต่ก่อนเราขอทานได้ ไม่ว่าจะผ่านไปทางไหนก็มีคนเมตตาสงสารให้อาหารมาพอยังชีพได้ แต่เมื่อลูกคนนี้เกิดมา ไปที่ไหนก็อัตคัดตลอดเวลา”  แต่ก็ยังอดทนเลี้ยงดูลูกเรื่อยมา จนกระทั่งลูกเติบโตสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ จึงให้แยกทางออกไปขอทานเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ลูกเลยต้องตะเกียกตะกายไปขอทานเลี้ยงชีพ แม้จะไปทางไหนก็ตาม ไม่ค่อยได้อาหาร เพราะกระแสแห่งความตระหนี่ที่ซ้อนอยู่ในกลางกายนั้นผลักดันสมบัติและดึงดูดวิบัติเข้าหาตัวตลอดเวลา

     กระแสแห่งความตระหนี่นี้ ถ้ามองไปตรงกลางด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย เราจะเห็นเป็นดวงสีดำๆ เรียกว่า “กัณหธรรม” เป็นธรรมดำที่ครอบงำอยู่ ครอบงำบังคับในเห็น ในจำ ในคิด ในรู้ ให้เกิดความหวงแหนทรัพย์ เสียดายทรัพย์ และให้เกิดความโลภ มันบังคับกันอยู่ในกลางกาย ซึ่งจะดึงดูดวิบัติเข้ามา และผลักสมบัติออกไป ใครมีความตระหนี่จะเป็นอย่างนี้

     เมื่อลูกขอทานอดีตอานันทเศรษฐี ตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเองไปจนถึงบ้านเก่าของตัว เกิดระลึกชาติได้ว่าเราเคยเป็นเศรษฐีมาก่อน เห็นหลานชายกำลังเดินเล่นอยู่ ก็จำเรื่องราวในอดีตของตัวได้แม่นยำ

     ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าสมบัติผลัดกันชม ใครมีบุญก็สามารถที่จะดึงดูดสมบัตินั้นมาได้ ถ้าใครหมดบุญแล้วไม่สร้างบุญใหม่ต่อ ทรัพย์แม้เคยเป็นของตัวมาก่อน แต่ไม่อาจที่จะใช้ได้ เหมือนอย่างอดีตอานันทเศรษฐีตอนนี้ เห็นปราสาทที่ตัวเคยสร้างมาก่อน เป็นของตัวแท้ๆ สร้างมากับมือ สมบัติฝังอยู่ที่ไหนก็รู้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะใช้จ่ายได้ เห็นชัดๆ อยู่ตรงหน้าก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีบุญ

     ในที่สุดก็เดินเข้าไปในบ้านนั้น หลานชายของตัวเองแท้ๆ เมื่อเห็นเด็กขอทานหน้าตาอัปลักษณ์เหมือนปีศาจคลุกฝุ่น น่าเกลียดน่ากลัวมาก ก็ร้องไห้ไปบอกพ่อ พ่อคือมูลศิริเศรษฐีซึ่งเป็นลูกชายของอานันทเศรษฐี มาเห็นเด็กขอทานเข้าก็ไม่รู้จัก เพราะจำอดีตพ่อของตัวไม่ได้ จึงจับโยนออกมาข้างนอกไม่ให้เข้าบ้าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เสด็จไปถึง ตรัสให้ลูกชายของอานันทเศรษฐีทราบว่า นี่คือพ่อของตัวในอดีตชาติ ลูกชายของอานันทเศรษฐีก็ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าพระองค์จะทราบได้อย่างไร”  พระบรมศาสดาตรัสว่า “เขาจำที่ฝังสมบัติได้”  ในที่สุดก็พาไปชี้ที่ฝังสมบัติได้ถูกต้องทุกอย่าง

     เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ไม่ดีเลย เพราะจะนำให้เรามาเกิดในตระกูลที่ยากจนเข็ญใจ ใครที่ชาตินี้ลำบาก ให้ตั้งใจขยันทำมาหากิน ประกอบสัมมาอาชีวะอย่างเต็มกำลัง มีทรัพย์แล้วก็แบ่งส่วนหนึ่งไว้ทำบุญ อีกส่วนเพื่อยังชีพ ทำทั้งงานทำทั้งบุญควบคู่กันไป ชีวิตเราจะประสบความเจริญรุ่งเรือง เพราะบุญที่เราทำจะดึงดูดสมบัติเข้ามาหา บุญที่อยู่กลางตัวนี้สำคัญ นึกถึงเรื่อยๆ จะทำให้เราสมปรารถนา เราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะบุญ ฉะนั้นให้หมั่นสั่งสมบุญให้ดี

* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๑๘๒

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12805
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “ความตระหนี่เป็นภัยในวัฏฏะ”

  1. ✨ น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟✨🌟

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *