ภูมิของพระอนาคามี

ภูมิของพระอนาคามี

การที่จะดำรงชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ มีจิตใจสูงส่ง มั่นคงในคุณธรรม ดำเนินอยู่บนเส้นทางของพระอริยเจ้า สร้างบารมีให้เต็มเปี่ยมบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้มีบุญมีดวงปัญญาบริสุทธิ์ มีดวงใจที่ผ่องใสเท่านั้น จึงจะใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่า เดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องปลอดภัย ทั้งภัยในปัจจุบันนี้ ภัยในอบายภูมิ ตลอดจนภัยในสังสารวัฏ การที่จะให้พ้นจากภัยเหล่านี้ เราจะต้องสั่งสมบุญให้มากๆ มีความหนักแน่นตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางแห่งความดี รักในการประพฤติปฏิบัติธรรม หมั่นนั่งธรรมะทุกๆ วันอย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว ต้องตั้งใจมั่นอย่างนี้จึงจะพบกับความสุขสวัสดีตลอดไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน จุลลสีหนาทสูตร ว่า
“กตโม จ ภิกฺขเว ตติโย สมโณ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปญฺจนฺนํ โอรมฺภาคิยานํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา โอปปาติโก โหติ ตตฺถ ปรินิพฺพายี อนาวตฺติธมฺโม ตสฺมา โลกา อยํ ภิกฺขเว ตติโย สมโณ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ มีความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยบุคคลนี้คือ สมณะที่ ๓ ในพุทธศาสนา”

* ครั้งนี้เรามารับฟังเรื่องโลกุตรภูมิขั้นที่ ๓ ซึ่งเรียกชื่อว่า อนาคามีโลกุตรภูมิ คือภูมิที่พ้นจากโลกของท่านผู้จะไม่กลับมาอีก หมายความว่า ท่านผู้ใดบรรลุถึงภูมินี้แล้ว ท่านผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ถือว่าเป็นสมณะที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา ท่านจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภูมิ คือมนุษยโลกและเทวโลกอีก  คำว่า “สมณะที่แท้จริง” ในพระพุทธศาสนานั้น  หมายถึงผู้ที่มีใจสงบหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่เข้าถึงธรรมกายโคตรภู หลุดพ้นจากความเป็นปุถุชนแต่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า ถ้าหากทำใจให้สงบหยุดนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงธรรมกายพระโสดาบันเป็นต้นไป กระทั่งไปถึงธรรมกายอรหัต เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง นั่นแหละจึงจะเรียกว่าสมณะผู้สงบอย่างแท้จริง เป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในฐานะปูชนียบุคคล ที่ควรแก่การเคารพสักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

สำหรับนักปฏิบัติธรรมผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีนี้ ต้องเป็นผู้มีสมาธิดีเยี่ยม พระอนาคามิมรรคญาณจึงจะปรากฏขึ้นได้ ตามหลักทั่วไป พระอนาคามีบุคคลนี้ เมื่ออนาคามิมรรคญาณบังเกิดขึ้นแล้ว อริยมรรคนั้นก็จะประหารอนุสัยกิเลส ๒ ตัว คือ กามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยให้สิ้นไป กามราคานุสัยได้แก่ความยินดีพอใจในกามคุณต่างๆ กามราคะนี้เป็นประดุจภาพมายาในดวงจิต ทำให้สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในภพ อันเป็นวัฏฏะทุกข์รํ่าไป เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลจึงสามารถขจัดอนุสัย คือ กามราคะได้โดยเด็ดขาด เพราะท่านละกามราคะชนิดละเอียดประณีตที่สุดได้

พระอนาคามีอริยบุคคลนี้ นอกจากจะประหารอนุสัยได้อีก ๒ ประการดังกล่าวมาแล้ว ยังสามารถที่จะเข้าถึงอนาคามิผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามจิตปรารถนาอีกด้วย แต่ก็ยังเป็นสมาบัติอ่อนๆ ไม่เข้มข้นเหมือนนิโรธสมาบัติของพระอรหันต์ พระอนาคามีท่านมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อจุติแล้ว จะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภูมิอีก ท่านจะไปอุบัติเป็นพรหมผู้ทรงคุณวิเศษที่ปัญจสุทธาวาสพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานในพรหมโลกนั้น

มีความรู้ที่น่าศึกษาว่า การที่จะมีโอกาสไปเกิดในพรหมโลกได้นั้น จะต้องปฏิสนธิด้วยอำนาจฌานสมาบัติซึ่งเป็นผลของฌานกุศล สำหรับพระอนาคามีอริยบุคคลที่ได้ฌานลาภี บำเพ็ญสมถกรรมฐาน ได้สำเร็จฌานมาก่อนก็ไม่มีปัญหา คือต้องไปเกิดในพรหมโลกได้แน่ๆ  แต่สำหรับพระอนาคามีที่ได้บรรลุอนาคามีบุคคลในฉับพลันทันใด เมื่อท่านถึงกำหนดอายุขัยใกล้จะจุติ จะมีฌานพิเศษชนิดหนึ่งชื่อว่า มรรคสิทธิฌานบังเกิดขึ้น แล้วจะเป็นปัจจัยน้อมนำให้ท่านไปอุบัติในพรหมโลก  เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า ท่านจะถึงแก่มรณภาพลงโดยไม่ทันรู้ตัว เช่น สมมติว่าในขณะที่กำลังหลับอยู่ หรือมีผู้มาทำร้ายให้ถึงแก่กรรมในทันทีโดยมิได้รู้ตัว มรรคสิทธิฌานก็จะพลันบังเกิดขึ้นแก่ท่านก่อน แล้วธรรมกายพระอนาคามีจะนำไปอุบัติในปัญจสุทธาวาสภูมิ

เมื่อท่านไปอุบัติเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสพรหมโลก ก็จะมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมต่อจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานตามประเภทของพระอนาคามีอริยบุคคล ๕ ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ ๑ อันตราปรินิพพายี คือพระอนาคามีที่ไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ภายในช่วงอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่ท่านสถิตอยู่

ประเภทที่ ๒ อุปหัจจปรินิพพายี คือพระอนาคามีบุคคลที่ไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสพรหมโลกที่ท่านสถิตอยู่

ประเภทที่ ๓   อสังขารปรินิพพายี พระอนาคามีที่ไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ความเพียรมาก แล้วดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน

ประเภทที่ ๔ สสังขารปรินิพพายี คือพระอนาคามีอริยบุคคลที่ไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้น โดยต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า แล้วดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน

ประเภทที่ ๕ ประเภทสุดท้าย อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี คือพระอนาคามีที่ไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกชั้นต่ำที่สุด คือ ชั้นอวิหาสุทธาวาสพรหมโลก แล้วจึงจุติไปอุบัติในสุทธาวาสพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐะ แล้วจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ตามที่หลวงพ่อได้เล่ามานี้ เป็นประเภทของพระอนาคามี ซึ่งเมื่อท่านละโลกไปแล้ว จะมุ่งสู่ปัญจสุทธาวาสพรหมโลกอย่างเดียว ไม่กลับมาสู่เทวโลกหรือมนุษยโลกอีก แต่หากสมัยใดมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสรู้ในโลก พระอนาคามีอริยบุคคลก็จะหาโอกาสลงมาสู่มนุษยโลก เพื่อที่จะได้เห็น และฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งเป็นคราวไป เหตุการณ์เช่นนี้ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะพระอนาคามีเหล่านี้ตระหนักดีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศที่สุดในภพ ๓ เป็นครูของมนุษย์และเทวดา รวมไปถึงพรหมและอรูปพรหมทั้งหลายอีกด้วย การที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี ก็เพราะอาศัยการฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ จึงมีความเคารพเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก

นี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโลกุตรภูมิขั้นที่ ๓ คือ อนาคามีบุคคล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสมณะที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา เป็นสมณะแท้หรือพระแท้ คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกายนั่นเอง เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนในโลกได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งการที่จะเข้าถึงได้นั้นต้องอาศัยการปฏิบัติธรรมอย่างถูกวิธี ต่อเนื่องสมํ่าเสมอ ทำทุกวันและตลอดเวลา แม้เราจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำภารกิจอันใดก็ตาม ให้หมั่นนำใจมาวางไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ฝึกหยุด ฝึกนิ่ง ตรึกถึงดวงแก้ว หรือองค์พระบ่อยๆ ใจเราจะได้ผูกพันกับพระรัตนตรัย

แม้บางครั้งประสบการณ์ภายในอาจมีขึ้นลง สว่างบ้าง มืดบ้าง เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง ขอให้ทำไปเถอะ เพราะความสมํ่าเสมอเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรม บางทีเราอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ก้าวหน้า นั่นเราคิดไปเอง แต่ที่จริง มันก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนการปลูกต้นไม้ เราอาจจะสังเกตไม่ออกว่ามันโตขึ้นวันละกี่เซน แต่ความจริงมันเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เติบโตขึ้นทุกวัน เผลอประเดี๋ยวเดียว ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ผลิดอกออกผลแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าท้อ ให้หมั่นทำความเพียรต่อไป ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ให้ขยันนั่งธรรมะ ภารกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน และจงจำไว้ว่า ความขยันหมั่นเพียรเท่านั้นจะทำให้เราได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน

*   ภูมิวิลาสินี (พระพรหม โมลี)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13829
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *