ปัญจสุทธาวาส

ปัญจสุทธาวาส (พรหมที่เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา)

ทุกวันนี้มนุษย์กำลังสับสน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม คือต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ซึ่งเปรียบเสมือนคุกใหญ่ที่ควบคุมเชลยเอาไว้ สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ มีกับดักคือเบญจกามคุณต่างๆ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม และได้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะเข้าใจความเป็นไปและความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับชีวิตได้ คุณค่าของชีวิตอยู่ที่การสร้างบารมีและทำใจหยุดใจนิ่ง เพราะใจหยุดคือสิ่งเดียวที่จะฉุดให้หลุดออกจากวังวนแห่งวัฏสงสารอันหาเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลายไม่ได้ เพื่อเข้าสู่กระแสพระนิพพานถึงที่สุดแห่งการเกิด นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สามัญญผลสูตร ว่า
“ภิกษุเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ย่อมสามารถลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมาก ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใด ก็ทำภาชนะชนิดนั้นให้สำเร็จได้”

อานุภาพของผู้มีใจหยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว เป็นอานุภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ดังพุทธพจน์ที่หลวงพ่อได้ยกขึ้นมา ภพสามจะอยู่ในสายตาของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว คืออยู่ในญาณทัสสนะของธรรมกายที่สามารถไปรู้ไปเห็นได้หมด ถ้าฝึกจิตให้ดีที่เรียกว่ากัมมัฏฐาน คือใจนุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว จะโน้มน้าวจิตไปทางไหนก็ได้ โน้มจิตไปตรวจดูนรกขุมต่างๆ ก็รู้เห็นได้ตามความเป็นจริง จะไปสวรรค์หรือพรหมโลกก็รู้เห็นได้หมด โดยเฉพาะผู้ที่ฝึกสมาธิขั้นสูงอยู่ในระดับใจบังคับกายได้ คือใจเป็นนายกายเป็นบ่าว เมื่อใจฟ่องเบาเต็มที่ ย่อมสามารถอาศัยรูปกาย ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ ไปสู่พรหมโลกได้เหมือนกัน

* ที่ผ่านมาหลวงพ่อได้อธิบายถึงพรหมโลกในชั้นต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ และจตุตถฌานภูมิ รวมเป็น ๑๑ ชั้นแล้ว คราวนี้หลวงพ่อจะเล่าถึงพรหมโลกอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า สุทธาวาส เป็นที่อยู่ของพรหมที่เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ชั้นพระอนาคามี

สุทธาวาสภูมินี้มีอยู่ ๕ ชั้นด้วยกัน ตั้งอยู่เป็นชั้นๆ ขึ้นไปตามลำดับภูมิธรรม ไม่ได้ตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเหมือนปฐมฌานภูมิดังที่หลวงพ่อได้นำมาเล่าแล้ว สุทธาวาส ๕ ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐภพ สำหรับ อวิหาสุทธาวาสภูมิ เป็นพรหมโลกชั้นที่ ๑๒ ตั้งอยู่สูงขึ้นไปจากอสัญญีสัตตาภูมิประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่สถิตของพรหมอนาคามีบุคคล ผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติของตนเอง ที่ว่าไม่เสื่อมคลายในสมบัติที่ท่านมี หมายความว่า ท่านไม่ละทิ้งพรหมสถานที่อยู่ของท่านแม้เวลาเพียงแค่เล็กน้อยก็ตาม เพราะว่าพรหมที่สถิตอยู่ในอวิหาพรหมโลกนี้ ท่านจะไม่จุติในระหว่างสถิตอยู่จนถึงกำหนดอายุขัย ซึ่งแตกต่างจากพรหมในสุทธาวาสภูมิที่เหลือ ๔ ภูมิ คือ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฎฐภูมิ เพราะพระพรหมเหล่านี้ อาจไม่ได้อยู่ครบกำหนดอายุ ก็มีการจุติหรือนิพพานเสียก่อนบ้าง

สุทธาวาสแต่ละชั้นมีความแตกต่างกันตามกำลังบุญ เช่น อวิหาพรหมจะเสวยพรหมสมบัติอันประณีตและบริสุทธิ์มาก เพราะได้เคยเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบพระพุทธศาสนา และมีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งทำอนาคามิผลให้บังเกิดขึ้นได้สำเร็จ เป็นพระอนาคามีบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้น ท่านเป็นผู้มีสัทธินทรีย์ คือ มีศรัทธาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตแล้ว จึงตรงมาเกิดเป็นพรหมผู้บริสุทธิ์ในพรหมโลกแห่งนี้ เสวยพรหมสมบัติจนกว่าจะสิ้นอายุ หรือจนกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธ์เข้าสู่อายตนนิพพาน

พรหมวิมานที่สูงขึ้นไปจากอวิหาสุทธาวาสประมาณ  ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ จะเป็น พรหมโลกชั้นที่ ๑๓ ชื่อว่า อตัปปา เป็นที่สถิตของพรหมอนาคามีผู้ไม่มีความเดือดร้อน ที่ว่าเป็นผู้ไม่เดือดร้อน หมายถึงท่านไม่มีความเดือดร้อนทั้งทางกาย วาจา และใจ เพราะพรหมที่สถิตอยู่ในอตัปปาสุทธาวาสภูมินี้ จะเข้าฌานสมาบัติ หรือมิฉะนั้นก็เข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมซึ่งเป็นกิเสลเครื่องข้องอันเป็นเหตุทำให้ร้อนใจไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เลย ฉะนั้น จิตใจของท่านจึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น ไม่มีความเดือดร้อน ทำให้ท่านได้เสวยพรหมสมบัติอันประณีตและบริสุทธิ์มาก

แต่เดิมพรหมเหล่านี้เคยบวชหรือเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน มีปกติเห็นภัยในวัฏสงสาร อุตสาหะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีบุคคล และในขณะที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีวิริยินทรีย์ คือ มีวิริยแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น เป็นผู้ทรงคุณวิเศษในพระพุทธศาสนา เมื่อดับขันธ์แล้ว จึงตรงมาอุบัติเป็นพระพรหมผู้บริสุทธิ์ในพรหมโลกชั้นนี้

สูงจากอตัปปาสุทธาวาสพรหมโลกขึ้นไปอีก ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ ก็จะถึง พรหมโลกชั้นที่ ๑๔ ชื่อว่า สุทัสสาสุทธาวาส เป็นที่สถิตของพรหมอนาคามีผู้ทรงไว้ซึ่งความเห็นอย่างแจ่มใส หมายความว่า สามารถเห็นสภาวธรรมโดยแจ่มแจ้ง ชัดเจน มีจิตใจที่ใสสว่างสงบเยือกเย็น เสวยพรหมสมบัติอันประณีตและบริสุทธิ์มากๆ

ที่ท่านได้พรหมสมบัติอันเลิศเช่นนี้ เพราะบรรดาพรหมแต่ละองค์ผู้สถิตอยู่ที่พรหมวิมานของตนในสุทัสสาพรหมโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผู้มีวาสนาบารมี ในส่วนลึกของจิตใจก็มีธุลีกิเลสเหลือติดอยู่น้อยมาก เพราะได้ทำความเพียรในการขจัดกิเลสอาสวะมามากจนตลอดชีวิต และเป็นผู้เลิศในด้านสตินทรีย์  คือมีสติแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น ครั้นดับขันธ์ลง จึงตรงมาเกิดเป็นพรหมผู้บริสุทธิ์ในพรหมโลกแห่งนี้

สูงขึ้นไปจากสุทัสสาสุทธาวาสอีก ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ จะถึง พรหมโลกชั้นที่ ๑๕ ชื่อว่าสุทัสสีสุทธาวาส เป็นที่สถิตอยู่ของพรหมอนาคามีผู้ทรงไว้ซึ่งความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า คือมากกว่าพรหมชั้นสุทัสสาสุทธาวาสที่กล่าวมา ท่านพรหมอนาคามีเหล่านี้ เป็นผู้มีสมาธินทรีย์ คือ มีสมาธิแก่กล้ามากกว่าอินทรีย์อย่างอื่น ทำให้มีจักษุ ๓ อย่าง คือ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ และธรรมจักษุ ซึ่งมีกำลังมากกว่าพรหมอนาคามีที่สถิตอยู่ในสุทัสสาพรหมโลก เพราะฉะนั้น จึงทำให้ท่านมีความเห็นในสภาวธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มใสเป็นอย่างยิ่ง มีจิตใจสงบเยือกเย็นเสวยพรหมสมบัติอันประณีตตลอดเวลา

สูงขึ้นไปอีก ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ จะถึง พรหมโลกชั้นที่ ๑๖ ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายชื่อว่า อกนิฏฐสุทธาวาส บางทีเรียกว่าอกนิฏฐภพ เป็นที่สถิตของพรหมอนาคามี ผู้ทรงคุณวิเศษที่สุดโดยไม่เป็นสองรองใคร หมายความว่า  ไม่ได้เป็นรองทั้งในเรื่องของความสุขและความรู้ เพราะเป็นผู้เลิศในด้านปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาแก่กล้ากว่าอินทรีย์อย่างอื่น

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า หากพรหมอนาคามีในชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสาและสุทัสสี ยังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นพรหมอายุขัย ก็จะต้องจุติจากพรหมโลกที่ตนสถิตอยู่ มาอุบัติในอกนิฏฐพรหมโลกนี้ เมื่อมาอุบัติในชั้นอกนิฏฐะนี้แล้ว จะไม่ไปอุบัติในที่ใดภูมิใดอีก เพราะจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และนิพพานอยู่ในพรหมโลกชั้นนี้ อกนิฏฐสุทธาวาสนี้ จึงเป็นพรหมโลกที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ อย่างประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าพรหมโลกชั้นอื่นๆ ทั้งหมด

ทั้งหมดนี้เป็นพรหมโลกชั้นปัญจสุทธาวาสอย่างย่อๆ ซึ่งถือว่าเป็นพรหมโลกที่จัดอยู่ในรูปภพ รวมเป็น ๑๖ ชั้น ยังไม่พูดถึงอรูปภพอีก ๔ ชั้น ที่เราจะมาเรียนรู้กันต่อไป ขอให้ทุกคนหมั่นนั่งธรรมะ และรักษาใจให้ผ่องใส ให้ใจอยู่ในธรรม มีอารมณ์สบายกันทั้งวัน ความสบายจะทำให้เราได้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างง่ายดาย แล้วเราจะเข้าใจเรื่องพรหมโลกได้กระจ่างแจ้งกันทุกคน

* ภูมิวิลาสินี (พระพรหมโมลี)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13769
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *