อสัญญีสัตตาพรหม

อสัญญีสัตตาพรหม (ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากจิต  จึงไม่อยากมีจิต)

บุญที่เป็นสุดยอดของบุญคือการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ถึงแม้ว่าปกติของใจจะไม่อยู่นิ่ง มักจะท่องเที่ยวไปตลอดเวลา บางครั้งก็ล่องลอยไปจนตามไม่ทัน ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจ ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปอย่างนั้น จะมีชีวิตที่อึดอัดคับแคบ ไม่มีความสุขในชีวิต แต่หากเรารู้เท่าทันธรรมชาติของใจ และรู้จักปรับใจด้วยการนำใจที่ซัดส่ายล่องลอยไปตามที่ต่างๆ ให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจ เราย่อมพบความสุขที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในชีวิต ใจหยุดคือที่มาแห่งความสุขที่แท้จริง ยิ่งใจหยุดนิ่งมากเท่าไร ความสุขก็ยิ่งมากขึ้นไปตามลำดับ การอบรมใจให้หยุดนิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำกันทุกๆ วัน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะนำเราก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตคือได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน มหาโควินทสูตร ว่า
“ดูก่อนพราหมณ์ สัตว์ละความยึดถืออัตตาว่าเป็นของเราในสัตว์ทั้งหลายที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้เดียวโดดเด่น น้อมไปในกรุณา เป็นผู้ปราศจากกลิ่นเหม็น เว้นจากเมถุน ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้ จึงจะถึงพรหมโลกได้”

เส้นทางไปสู่พรหมโลก เพื่อเสวยพรหมสมบัติอันลํ้าเลิศกว่าความสุขที่เป็นของมนุษย์ และสุขอันเป็นทิพย์ของชาวสวรรค์นั้น ผู้รู้ทั้งหลายได้แนะนำไว้ว่า จะต้องรู้จักปล่อยวางในคน สัตว์ สิ่งของ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น ให้หาโอกาสปลีกวิเวกเพื่อทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ให้บังเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ด้วยการแสวงหาเสนาสนะอันสงัด ซึ่งเหมาะต่อการปฏิบัติธรรม เช่น ตามโคนไม้ บนภูเขา ในซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ เป็นต้น จากนั้นท่านได้สอนต่อไปว่า ต้องมีใจประกอบด้วยมหากรุณา เจริญเมตตาจิตเป็นประจำทั้งเช้าและเย็น แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๔  อธิษฐานจิตให้ตนเองเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใคร แผ่ขยายความปรารถนาดีที่เกิดจากใจใสบริสุทธิ์ไปทั่วโลกทั่วจักรวาล และฝึกฝนให้ชำนาญจนถึงขั้นได้อภิญญาจิต เป็นฌานลาภีบุคคล

ส่วนคำว่า เป็นผู้ปราศจากกลิ่นเหม็น ท่านหมายถึงต้องละเว้นจากเมถุนธรรม และจะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ละการพูดเท็จ การโกง การประทุษร้ายมิตร เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ถี่เหนียว ละขาดจากความเย่อหยิ่ง ความริษยา ความมักได้ ความลังเล ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่นทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ความคิดที่จะประทุษร้ายสรรพสัตว์ต้องหลุดออกจากใจหมดสิ้น ให้ละความเมาและความหลงในสิ่งต่างๆ ผู้ที่ละจากกิเลสเหล่านี้ ท่านจัดว่าเป็นผู้หมดจดจากกลิ่นเหม็น และเป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปเพียงอย่างเดียว

* เรามารับฟังเรื่องราวของพรหมโลกชั้นต่างๆ กันต่อ ครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้อธิบายถึงชั้นเวหัปผลาพรหมซึ่งเป็นชั้นที่ ๑๐ สำหรับชั้นที่ ๑๑ ชื่อว่าอสัญญีสัตตา เป็นที่สถิตของพรหมที่ไม่มีสัญญา เนื่องจากว่าเป็นพรหมที่มีแต่รูปขันธ์ ไม่มีนามขันธ์ พรหมเหล่านี้อุบัติขึ้นด้วยอำนาจของสัญญาวิราคภาวนา เมื่อสถิตอยู่ในอสัญญีสัตตาพรหมโลกนี้ ก็จะมีแต่รูป ไม่มีนาม คือจิตและเจตสิก ทรงเพศเป็นพรหมผู้วิเศษ สถิตอยู่ในปราสาทแก้วพรหมวิมานอันมโหฬารกว้างขวาง มีบุปผาชาติดอกไม้สุคันธรสประดับประดาเรียงกันเป็นระเบียบ เป็นบุปผชาติที่ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ร่วงโรย ประดับอยู่รอบพรหมวิมานทุกทิศ

ผู้ที่ไปอุบัติที่พรหมโลกชั้นนี้ มีมากมายนับไม่ถ้วน ล้วนแต่มีความสง่างาม อุปมาเหมือนรูปปฏิมากรทองคำที่เหลืองอร่าม ที่นายช่างผู้ชำนาญในงานศิลป์ตบแต่งและขัดสีใหม่ๆ มองดูแล้วเหมือนรูปปั้นทองคำบริสุทธิ์ที่สว่างไสว งดงามตรึงใจสุดที่จะพรรณนา เพราะรูปกายของท่านใกล้เคียงกับลักษณะของพระธรรมกาย ซึ่งเป็นลักษณะของมหาบุรุษ แต่มีข้อแตกต่างและน่าสังเกตว่า พรหมผู้วิเศษทั้งหลายเหล่านั้น มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน คือ บางองค์นั่ง บางองค์นอน บางองค์ยืน หากมีอิริยาบถอย่างไร ก็จะอยู่ในอิริยาบถนั้นตลอดไป ไม่เคลื่อน ไม่ไหวติง ทั้งจักษุทั้งสองก็ไม่กระพริบเลย สถิตเสวยสุขเป็นประดุจรูปปั้นอยู่อย่างนั้นชั่วกาลนาน จนกว่าจะหมดอายุขัย

ทำไมพรหมผู้วิเศษทั้งหลายในอสัญญีสัตตาภูมิจึงมีลักษณะเช่นนี้ มีเรื่องเล่าว่า ในยุคสมัยที่โลกยังว่างจากบวรพระพุทธศาสนา ยังไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดเสด็จมาอุบัติในโลกนี้ สมัยนั้น มนุษย์ชั้นปัญญาชนมีจิตปรารถนาจะพ้นจากภัยในวัฏสงสาร จึงได้สละบ้านเรือนเข้าป่าไป แล้วได้บวชเป็นโยคี ฤาษีและดาบส ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติพรตพรหมจรรย์บำเพ็ญตบะ กระทำการบริกรรมในวาโยกสิณ พยายามอยู่จนได้สำเร็จจตุตถฌาน ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็รำพึงในใจว่า

“โอหนอ จิตนี้ นักปราชญ์พึงติเตียนเป็นแน่แท้ ด้วยว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ที่ต้องไปทนทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ ก็เพราะจิตนี่แหละเป็นต้นเหตุ ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็เพราะอาศัยจิตนี่เอง เมื่อถึงคราวถูกลงทัณฑกรรม ถูกโบยถูกตี เพราะมีจิต จึงให้รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวด เมื่อไม่มีจิตเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งปวงก็ไม่มี หากจิตนี้หายไปจากตน ไม่นึกไม่คิดก็คงจะเป็นการดี”

เมื่อเฝ้าคิดรังเกียจจิตของตัวเองอย่างนี้แล้ว อาศัยความเป็นผู้ที่ได้ฌานที่แก่กล้า เฝ้าชอบใจในกิริยาที่ไม่มีจิตของตัวเอง หมั่นประคับประคองรักษาจตุตถฌานไว้มิให้เสื่อมคลาย ครั้นออกจากฌานแล้วก็ยังคงเฝ้าเกลียดชังจิต ให้เกิดความเบื่อหน่ายจิตของตัวเอง ด้วยความชอบใจในภาวะที่ไม่มีจิตนี้ จึงเฝ้าคิด เฝ้าปรารถนา เฝ้าภาวนาอยู่ ตามตำราที่กล่าวสอนต่อๆ กันมาว่า “อสญฺญีปิ อสญฺญีปิ” ขอเราจงอย่ามีสัญญา ขอเราจงอย่าได้เป็นผู้มีจิตเลย

การเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่อย่างนี้เป็นประจำจนตลอดชีวิต ครั้นละโลก ก็ตรงมาอุบัติในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตตาภูมิ ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ และด้วยแรงอธิษฐาน หากนักบวชท่านใด เมื่อถึงคราวจะละสังขาร ตายด้วยอิริยาบถใด นักบวชท่านนั้นก็จะตรงไปอุบัติเป็นพรหมอสัญญีสัตตาในอิริยาบถนั้นๆ เช่น ถ้านั่งตาย ก็ตรงไปอุบัติเกิดเป็นองค์พรหมนั่งนิ่ง ถ้ายืนตาย ก็ตรงไปอุบัติเป็นองค์พรหมยืนนิ่ง ถ้านอนตาย ก็ตรงไปอุบัติเกิดเป็นองค์พรหมนอนนิ่งอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ ตลอดไป

เมื่อผู้รู้มีญาณไปตรวจดู ก็จะมองเห็นพรหมผู้วิเศษเหล่านี้ เข้าสมาบัติอยู่ในท่าต่างๆ อยู่ที่พรหมวิมานของตนเอง สิ้นกาล ๕๐๐ มหากัปเป็นกำหนด ซึ่งโลกสมมติเรียกชื่อว่า พรหมลูกฟัก เนื่องจากเมื่อพรหมเหล่านี้ขึ้นไปสถิตอยู่ในพรหมวิมานของตนเอง เป็นเวลานานประมาณเป็นร้อยๆ มหากัปแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ก็เสมือนกับว่านอนหลับเข้าสู่นิทราอยู่ ไม่มีความรู้สึกรับรู้สิ่งใดๆ ภายนอกเลย เพราะว่าไม่มีสัญญา มีแต่รูปเปล่าๆ

หากเมื่อใดที่พรหมเหล่านี้ถึงกำหนดอายุขัย คือจำต้องจากพรหมโลกเบื้องสูง ซึ่งเป็นอสัญญีสัตตาภูมิแห่งนี้ ก็จะพลันมีจิตใจกลับคืนมาเป็นปกติเหมือนเดิม เป็นผู้มีชีวิตจิตใจเหมือนมนุษย์ทุกอย่าง อุปมาเหมือนนอนหลับ ฝันถึงแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคล หลับเป็นสุขตลอดอายุขัย แต่ท่านไม่ได้นอน  ท่านเข้าฌานสมาบัติในอิริยาบถต่างๆ เสวยสุขอันเกิดจากสภาวะใจที่หยุดนิ่ง คือเป็นเอกัคคตารมณ์ตลอดเวลา

เนื่องจากธรรมปฏิบัติที่ท่านบำเพ็ญและได้เข้าถึงนั้น ยังเป็นสมาธินอกตัว ไม่ได้เอาใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกาย จึงไม่สามารถน้อมใจไปสู่กระแสพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นเมื่อหมดอายุขัย พรหมผู้วิเศษเหล่านี้ก็ต้องจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ตามอำนาจกุศลที่ตนได้ทำไว้ เพราะว่าท่านยังไม่ได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ คือยังไปไม่ถึงพระนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์  เพราะฉะนั้นจึงยังต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในภพสามต่อไป

นี่เป็นเรื่องราวของผู้ได้ฌานสมาบัติบรรลุธรรมถึงขั้นจตุตถฌาน แต่ในระหว่างการเจริญฌานสมาบัติ เฝ้าคิดแต่ว่าความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากจิต  จึงไม่อยากมีจิต ทำให้มาเป็นอสัญญีสัตตาพรหม ซึ่งยังไม่สามารถสลัดตัวเองให้หลุดจากวงจรของสังสารวัฏไปได้ แต่ก็ถือว่าใกล้หนทางพระนิพพานเข้ามาทุกขณะแล้ว สำหรับเรื่องของพรหมยังไม่จบ ไว้คราวหน้ามาศึกษากันต่อ ให้ทุกท่านหมั่นน้อมนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นประจำสมํ่าเสมอ เพราะศูนย์กลางกายคือต้นทางที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน และเป็นหนทางตรงไปสู่อายตนนิพพาน

* ภูมิวิลาสินี (พระพรหมโมลี)

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13765
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *