ทำไมในพระไตรปิฎกไม่พูดถึงฐานที่ 7

คำถาม:
การทำพระกรรมฐานเกี่ยวกับพระธรรมกาย ในบทที่กล่าวถึงฐานที่ ๗ ทำไมในพระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวไว้เลย แม้แต่ในการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ของพระสาวก แต่ละองค์ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องธรรมกาย เวลาใครจะนิพพานต้องนิพพานในฐานที่ ๗ ก็ไม่ได้กล่าวไว้เลยเล่าครับ ?

คำตอบ:
อย่าว่าแต่แค่เรื่องนี้เลย แม้แต่ว่าฝึกสมาธิซึ่งมีอยู่ ๔๐ วิธีในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้เขียนรายละเอียดวิธีปฏิบัติเอาไว้ ทำไมจึงไม่เขียน?
        ที่ท่านไม่เขียนกันไว้ก็คงเป็นด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับที่เราในปัจจุบันไม่ได้จดบันทุกข้อมูลอะไรตั้งหลายอย่างนั่นแหละ คือเมื่อเริ่มมีการบันทึกพระไตรปิฎกนี่ ขณะนั้นมีพระอรหันต์อยู่มากมายเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะฉะนั้นพอพูดถึงการทำสมาธิ พูดถึงธรรมกายนี่ใครๆ ก็รู้จัก ท่านจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะฉะนั้นรายละเอียดวิธีปฏิบัติจึงถูกละกัน ไม่บันทึกไว้ พวกเรารุ่นหลังเลยไม่ได้เห็น
        ส่วนวิธีฝึกสมาธิเพื่อเข้าถึงธรรมกาย ที่เราใช้เป็นแม่บทอยู่ขณะนี้ ก็เป็น ๑ ใน ๔๐ วิธี ที่ท่านไม่ได้ให้รายละเอียดไว้นั่นแหละ ตำราที่เราใช้นี้เป็นตำราที่เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ ก่อนหน้านั้นพระอรหันต์มีเต็มเมือง สิ่งเหล่านี้เขารู้กันทั้งนั้น จึงถือว่าเป็นของธรรมดาเลยไม่ได้บันทึกไว้ หรือบันทึกเพียงสั้นๆ
        พอผ่านเวลาไปแล้วเป็นร้อย ๆ ปี พระอรหันต์เริ่มหายาก บันทึกสั้น ๆ ที่พอมีอยู่บ้าง คนรุ่นหลังเริ่มอ่านไม่เข้าใจ นึกถึงวิธีปฏิบัติไม่ได้ เอาละสิทีนี้ ก็เหมือนกับพวกเราขณะนี้ จะเทียบให้ดูก็ได้ ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อรุ่นแม่มาถึงรุ่นเรา คำว่าน้ำพริก เรารู้ว่าน้ำพริกคืออะไร ? แต่ไม่แน่ว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า รุ่นหลานรุ่นเหลนของเราน้ำพริกของเขาจะหน้าตาเหมือนน้ำพริก ของเราหรือเปล่าก็ไม่รู้
        ตำราที่เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ ได้เขียนศัพท์คำว่าธรรมกายเอาไว้ แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ ก็นึกตามไม่ได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี) ท่านค้นคว้าในสมาธิจนเข้าถึงธรรมกายได้รู้ได้เห็นด้วยตัวของท่านเอง และบันทึกขึ้นตอนการปฏิบัติเอาไว้ ศัพท์ที่ท่านใช้ปรากฎว่าตรงกับศัพท์ดั้งเดิม ตรงกับตำราที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
        นักศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาจึงควรมั่นใจได้ว่า ท่านไม่ได้พูดนอกตำรา ส่วนคำว่าฐานที่ ๗ หรือฐานต่าง ๆ ที่ท่านยกมาเป็นคำสอน ก็เป็นข้อแนะนำในทางปฏิบัติ เป็นศัพท์ที่ท่านบัญญัติขึ้น เพื่อสอนลูกศิษย์ ใครก็ตามที่เข้าธรรมกายในตัวแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะตรงฐานที่ ๗ หรือไม่ แม้ที่สุดคำภาวนาว่า สัมมา อะระหัง ก็ไม่จำเป็นต้องเอามาภาวนาอีก
        หลวงพ่อว่าเราลงมือปฏิบัติตามคำที่ท่านสอนก่อนดีกว่าอย่ามัวไปติดใจสงสัยในศัพท์แสงอะไรให้มากนักเลย เข้าถึงธรรมกายแล้วจะเลิกสงสัยเอง

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *