การรับนิสัยของพระบวชใหม่คืออะไร

คำถาม: 
เคยได้ยินเขาพูดกันว่า พระบวชใหม่ต้องถือนิสัย คือรับถ่ายทอดนิสัย การถ่ายทอดนิสัยมีเพื่ออะไร ทำไมพระจึงต้องถ่ายทอดนิสัย แล้วถ่ายทอดกันได้อย่างไร?

คำตอบ: 
ตอนที่หลวงพ่อไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เมื่อหลายปีก่อน ได้พบว่าการสอนของเขากำหนดว่านักศึกษาทุกคนจะต้องมีติวเตอร์ คือมีพี่เลี้ยง และนักศึกษาต้องอยู่หอพัก อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของติวเตอร์
        ได้ถามท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยว่า เห็นดีอย่างไรจึงมีระบบพี่เลี้ยง เหมือนธรรมเนียมการบวชในพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เท่ากับว่าเขาปฏิบัติตามหลักธรรมในพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว
        เขาตอบชัดเจนว่า การถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการนั้นไม่ยาก เพราะตำรับตำราในท้องตลาดเดี๋ยวนี้มีมาก แต่การถ่ายทอดนิสัยสันดานนั้นยาก และสำคัญที่สุดเขาพยายามศึกษากันมามากว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้ทางวิชาการที่ถ่ายทอดไปนั้น ไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด 
        ก็พบว่ามีทางเดียวคือจะต้องถ่ายทอดนิสัยด้วยเทคนิคการถ่ายทอดนิสัยที่ได้ผลอย่างหนึ่ง คือการให้อยู่ใกล้ชิดกัน เพราะฉะนั้นจึงยังต้องใช้ระบบพี่เลี้ยงต่อไป
        พอเขาพูดอย่างนี้ หลวงพ่อก็นึกถึงระบบปกครองของพระสงฆ์ ซึ่งพระวินัยกำหนดว่าพระภิกษุที่บวชใหม่ ต้องอยู่กับอุปัชฌาย์ 5 ปี เพื่อรับการถ่ายทอดนิสัย พระภิกษุสมัยนี้บวชปีสองปีแรกไม่ค่อยจะอยู่กับอุปัชฌาย์กัน เพราะกลัวอุปัชฌาย์เข้มงวด เพราะฉะนั้นการถ่ายทอดนิสัยจึงขาดตอน คุณภาพของสงฆ์ก็หย่อน เหมือนกับลูกๆ ของโยมนั่นแหละเดี๋ยวนี้ พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ อยากอยู่หอพัก นิสัยก็เลยเหมือนคนแถวๆ หอพัก ไม่เหมือนพ่อไม่เหมือนแม่ นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสังคม 
        ด้วยเหตุนี้หลักสูตรของพระภิกษุจึงกำหนดไว้ว่า พรรษาที่ 1-5 เรียกว่า “พระนวกะ” (นะ-วะ-กะ) เทียบทางโลกในระบบมหาวิทยาลัยก็เท่ากับ “เฟรชชี่” คือน้องใหม่ ถ้าผิดอะไรก็ขออภัยด้วย
        สำนวนชาวบ้านบอกว่าเป็นประเภท “มะม่วงยังไม่ลืมต้น” คือ พระที่ยังติดทางโลกอยู่มาก เพราะฉะนั้นถ้าใครต้องการบวชนานๆ ระยะพรรษาที่ 1-5 จึงยังไม่ควรกลับบ้าน เพราะถ้ากลับบ้านแล้วเดี๋ยวจะบวชอยู่ได้ไม่นาน เช่น พอกลับไปเห็นเสื้อผ้า เห็นกางเกงที่แขวนอยู่ ก็มักจะคิดอยากกลับไปสวมใส่ใหม่
        ตัวหลวงพ่อเองตอนบวชใหม่ๆ ทำใจแข็งไม่ยอมกลับบ้าน แต่พอเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันมาเยี่ยม ขนาดเขายังไม่ได้พูดอะไร แค่เห็นเขาใส่เสื้อผ้าใหม่ๆ มา ก็อดคิดไม่ได้ว่าแฟชั่นใหม่นี้เข้าทีดีนะ ถ้าเราใส่คงหล่อแน่ ทั้งที่ตัวเองก็ไม่หล่อ อ้วนก็อ้วน ยังไม่วายเข้าข้างตัวเอง หรือพอไปเห็นกับข้าวที่เคยกินแกล้มเหล้ามาก่อน เขาเอามาถวาย แหม…รสชาติมันถูกปาก สัญญาเก่า     ความทรงจำเก่ามันหวนกลับมา ขวดเหล้ามาลอยเด่นในมโนภาพทันที
        หลวงพ่อก็เคยตกอยู่ในสภาพเหมือนมะม่วงยังไม่ลืมต้นนะ นี่คือชีวิตนักบวช ใครไม่เคยบวชจะไม่เข้าใจ เป็นพระก็ต้องรบกับกิเลสของตนเอง ไม่ได้รบกับใคร มีประอุปัชฌาย์คอยกำกับบ้างโอกาสพลาดก็น้อยลง การยอมให้พระอุปัชฌาย์กำกับ หรือมีพระพี่เลี้ยงคอยประคองอบรมให้รักษาศีล 227 ข้อได้ตลอดรอดฝั่ง นี้แหละเรียกว่า การถือนิสัย

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *