กัณฑ์ ๑-๙ พระสังฆคุณ

กัณฑ์ ๑ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
พระสังฆคุณ
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ยทิทํ
จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย
ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติฯ

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
สาวกของพระองค์ผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมมี ๒ จำพวกคือ
ปุถุชนสาวก๑
อริยสาวก๑
ปุถุชนสาวกนั้น ได้แก่ ผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ยังมิได้บรรลุธรรมวิเศษอันใด ยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงได้ชื่อว่า ปุถุชนสาวก แต่สาวกตามความหมาย ในบทสังฆคุณ ที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้นนี้ เฉพาะแต่ อริยสาวกเท่านั้น อริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ประเสริฐ คือ สาวกที่ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว พ้นจากฐานะปุถุชนแล้ว เรียกตามโวหารในทางศาสนาว่า เป็นชั้นอริยะสาวก ชั้นอริยะ หรือที่เรียกว่า อริยสาวกนั้น ท่านจัดเป็น ๔ คู่ คือ
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล คู่ ๑
สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล คู่ ๑
อนาคามิมรรค อนาคามิผล คู่ ๑
อรหัตมรรค อรหัตผล คู่ ๑
แต่ถ้าจัดเป็นรายบุคคล ท่านจัดเป็น ๘ คือ
โสดาปัตติมรรค ๑ โสดาปัตติผล ๑
สกทาคามิมรรค ๑ สกทาคามิผล ๑
อนาคามิมรรค ๑ อนาคามิผล ๑
อรหัตมรรค ๑ อรหัตผล ๑
จึงรวมเป็น อริยบุคคล ๘ จำพวกด้วยกัน แบ่งเป็นชั้นๆ ตามลำดับธรรมวิเศษที่ได้บรรลุ
พระอริยบุคคล บำเพ็ญกิจถูกส่วน เพ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นดวงใส จนแลเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม เป็นชั้นที่ ๕ เป็นชั้นๆไป โดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ
ชั้นต้น ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ ให้เป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒ วา หนา ๑ คืบ ใสเหมือนกระจกเงาส่องหน้า นี่เป็นปฐมฌานแล้ว กายธรรมนั่งบนนั้น ดังนี้เรียกว่า กายธรรมเข้าปฐมฌาน
แล้วเอาตาธรรมกายที่นั่งบนฌาน เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์ เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น ธรรมกายน้อมเข้าฌานที่ ๒ นั้นแล้ว ฌานที่ ๑ ก็หายไป ฌานที่ ๒ มาแทนที่ ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่าธรรมกายเข้าฌานที่ ๒ ทำนองเดียวกันนั้น ต่อๆไป ในกายรูปพรหม กายอรูปพรหม
ต่อจากนี้ไป ให้ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มี
ฌานที่ ๔ ก็หายไป ฌานที่ ๕ เกิดขึ้นแทนที่ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ เมื่อธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๕ ดังนี้แล้ว
ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีอีก
ฌานที่ ๕ ก็หายไป ฌานที่ ๖ เข้ามาแทนที่ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๖ แล้วนั้น
ใจกายธรรมน้อมไปอีกว่า ละเอียดกว่านั้นมี
ฌานที่ ๖ ก็หายไป ฌานที่ ๗ มาแทนที่ เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๗ นั้น
แล้วใจธรรมกายก็น้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีก
ฌานที่ ๘ ก็บังเกิดขึ้นทันที เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ รู้สึกละเอียดจริง ประณีตจริง นี้เรียกว่าเข้าฌานที่ ๑-๘ โดยอนุโลม แล้วย้อนกลับจับแต่ฌานที่ ๘ นั้นถอยลงมาหาฌานที่๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ เรียกว่า ปฏิโลม ทำดังนี้ ๗ หน ธรรมกายจึงคงไปอยู่บนฌานที่ ๘
ในระหว่างเข้าฌานนั้น ตั้งแต่๑ ถึง ๘ นั่น ตาธรรมกายดูทุกขสัจ เห็นชัดแล้วดูสมุทัยสัจ เห็นชัดแล้วดูนิโรธสัจ เห็นชัดแล้วดูมรรคสัจ เมื่อถูกส่วนเข้า ธรรมกายตกศูนย์เป็นดวงใส วัดผ่าศูนย์กลางได้ ๕ วา ในไม่ช้าศูนย์นั้นกลายกลับเป็นธรรมกายหน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๕ วา นี่เป็นพระโสดาแล้ว
แล้วธรรมกายโสดานั้น เข้าฌาน แล้วพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายทิพย์ ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายโสดา ตกศูนย์วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๐ วา ไม่ช้าศูนย์นั้นกลับเป็นธรรมกายหน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา มีชื่อว่าพระสกทาคามี
แล้วธรรมกายเข้าฌาน และพิจารณาอริยสัจในกายรูปพรหม ทำนองเดียวกันนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายสกทาคา ตกศูนย์วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๕ วา แล้วกลับเป็นธรรมกายหน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา มีชื่อว่าพระอนาคามี
แล้วเอาธรรมกายของพระอนาคามีเข้าฌาน พิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายอรูปพรหม เห็นชัดเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา เมื่อถูกส่วนธรรมกายพระอนาคามี ตกศูนย์วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒๐ วา แวบเดียวกลับเป็นธรรมกายหน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา นี้เป็นพระอรหัตแล้ว
ที่ว่าธรรมกายนั้น สัณฐานเป็นรูปพระพุทธปฏิมากรเกตุดอกบัวตูมสีขาว เป็นเงาใสเหมือนกระจกส่องหน้า

ชั้นพระโสดาละกิเลสได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่ท่านละสักกายทิฏฐิได้ก็โดยท่านพิจารณาเห็นชัดว่าสังขารร่างกายนี้เหมือนเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตก จะทำลายไป จะยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนมิได้ เป็นสักแต่ธาตุทั้งหลายประสมส่วนกันเข้า จึงเป็นรูปเป็นนาม ย่อมแปรผันไปตามลักษณะของมัน ไม่ยืนยงคงที่ ถ้าไปยึดถือเป็นตัวเป็นตน ก็รังแต่จะนำความทุกข์มาให้ ดังที่กล่าวมานี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ส่วนธรรมกายนั้นท่านเห็นว่าเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ท่านจึงไม่แยแสต่อกายมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นของไม่มีสาระ ดังกล่าวข้างต้นท่านจึงข้ามพ้นสักกายทิฏฐิไปได้
ที่ท่านละวิจิกิจฉาได้ ก็ด้วยท่านเข้าถึงธรรมกาย แล้วถอดกายทั้ง ๔ ซึ่งเป็นโลกีย์ถอดเป็นขั้น ออกไปเสียได้แล้ว ท่านจึงหมดความกินแหนงสอดแคล้วในพระรัตนตรัย เพราะท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียแล้ว
ที่ท่านละสีลัพพตปรามาสได้นั้น ก็เพราะเมื่อท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียเช่นนี้แล้ว ศีลและวัตรใดอันเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐินอกพระพุทธศาสนา ไม่มีในท่านแล้วจึงได้ชื่อว่า ท่านพ้นแล้วจากสีลัพพตปรามาส คือการยึดมั่นซึ่งศีลและวัตรนอกพระพุทธศาสนา

ชั้นพระสกทาคา นอกจากกิเลส ๓ อย่าง ดังที่พระโสดาละได้แล้วนั้น ยังละกามราคะ พยาบาทอย่างหยาบ ได้อีก ๒ อย่าง กามราคะ ได้แก่ความกำหนัดยินดีในวัตถุกาม และกิเลสกามพยาบาท คือ การผูกใจโกรธ

พระอนาคา ละกามราคะ พยาบาทขั้นละเอียดได้

พระอรหัต ละกิเลสทั้ง ๕ ดังกล่าวมาแล้วนั้นได้โดยสิ้นเชิง แล้วยังละสังโยชน์เบื้องบนได้อีก ๕ คือ รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ ความกำหนัดยินดีในอรูปฌาน มานะ ความถือตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อวิชชา ความมืด ความโง่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบันและอนาคต ของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรมและอริยสัจ จึงรวมเป็น ๑๐ ที่พระอรหัตละได้

พระอริยบุคคลทั้ง ๘ ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ได้ชื่อว่า อริยสาวก
สุปฏิปนโน ท่านปฏิบัติดี คือปฏิบัติไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา เป็นตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาดำเนินมาแล้ว ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป จึงได้ชื่อว่า ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติแล้วตรง คือความปฏิบัติท่านมุ่งตรงต่อพระนิพพาน ไม่วอกแวกไปทางอื่น
ญายปฏิปนฺโน ปฏิบัติมุ่งเพื่อรู้ธรรมที่จะออกจากภพ ๓ โดยแท้
สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ เพราะท่านปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น จึงสมควรนับว่า เป็นการปฏิบัติอย่างดีเลิศ
อาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรเคารพสักการะ
ปาหุเนยฺโย จึงเป็นผู้ควรต้อนรับ
ทุกขิเณยฺโย จึงเป็นผู้ควรรับของที่เขาทำบุญ
อญฺชลีกรณีโย จึงสมควรกราบไหว้
อนุตฺตรํ ปุญญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ไม่มีอื่นจะดีกว่าอีกแล้ว นี่เป็นเรื่อง สังฆคุณ
เมื่อเรารู้แนวปฏิบัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกดังกล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว เรามีหน้าที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองดูว่า เราจะทำอย่างไร เราเพียงท่องจำ อิติปิโส ภควา ไว้กระนั้นหรือ หรือจะพยายามนึกคำแปลไว้ให้เข้าใจด้วย และระลึกถึงพระคุณเหล่านี้เนื่องๆดังนี้หรือ เราไม่พึงกระทำอะไรยิ่งไปกว่านี้หรือ ในปัญหาเหล่านี้ ขอให้เราส่งใจไประลึกถึงพระโอวาทในเรื่องบูชา

บูชามี ๒ อย่าง อามิสบูชาคือบูชาด้วยเครื่องสักการะอย่างหนึ่ง ปฏิบัติบูชา คือบูชาตัวยการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในการบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้ พระองค์ทรงสรรเสริญว่าปฏิบัติบูชาดีกว่าอามิสบูชา เมื่อคิดทบทวนดูเหตุผลในพระโอวาทข้อนี้แล้ว เราจะเห็นได้ชัดทีเดียวว่า พระองค์มีพระประสงค์ จะให้พวกเรามีความเพียร พยายามปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์ มากกว่าที่จะมามัวบูชาพระองค์อยู่ หาไม่พระองค์จะตรัสเช่นนั้นทำไม และโดยนัยอันนี้เอง จึงเป็นที่เห็นได้ว่า แม้เวลานี้จะเป็นกาลล่วงมาช้านานจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับผลอย่างที่ท่านได้รับ นอกจากคำกล่าวอ้างของคนเกียจคร้าน

ข้อนี้มีคำว่า อกาลิโก ในบทธรรมคุณนี้เองเป็นหลักฐานยันอยู่ว่า ธรรมของพระองค์ผู้ใดปฏิบัติตาม ย่อมจะเกิดผลทุกเมื่อ ไม่มีขีดคั่น อริยสาวกทั้งหลายนั้น ฐานะเดิมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนี้เอง แม้องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เช่นกัน มิใช่เทวดา อินทร์ พรหม ที่ไหน แต่ที่เลื่อนขึ้นสู่ฐานะเป็นพระอริยะได้ ก็เพราะการปฏิบัติเท่านั้น แนวปฏิบัติอย่างไหนถูก พระองค์สอนไว้ละเอียดหมดแล้ว ปัญหาจึงเหลือแต่ว่าพวกเราจะปฏิบัติกันจริงหรือไม่เท่านั้น

ดังที่พรรณนามานี้ก็จะเห็นคำตอบในปัญหาข้างต้นได้แล้วว่า เพียงแต่จะท่องจำ อิติปิ โส ภควา ไว้หรือเพียงแต่ระลึกถึงพระคุณเหล่านั้นไว้ จะยังไม่พอแก่พระประสงค์ของพระองค์ กิจที่เราควรทำอย่างยิ่ง จึงอยู่ที่การปฏิบัติของท่าน ตามแนวปฏิบัติของท่าน

ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้เรียกว่า อิทธิบาท ๔ เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล แปลอย่างจำได้ง่ายว่า ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ ทดลองไม่ว่าจะทำกิจการใด ถ้าประกอบด้วย ๔ อย่างนี้ เป็นสำเร็จทั้งสิ้น ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา ต้องปักใจรักการนี้จริงๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รัก ฉะนั้น ๒ ต้องบากบั่น พากเพียร เอาจริงเอาจัง ๓ วิจารณ์ ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด ๔ ทดลอง ในที่นี้ได้แก่ หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่าวิธีการที่ทำไปนั้น มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไขอย่างนั้นไม่ดี เปลี่ยนอย่างนี้ ลองดูใหม่ เช่น นั่งภาวนาในที่นอน มักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น ข้อสำคัญ ให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง ๔ อย่างนี้เรียกว่า อิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในกิจทั้งปวง

โอวาท พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

อ้างอิงเนื้อหา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อการศึกษาและดำรงไว้ซึ่งคำสอน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *