กัณฑ์ ๘ พระปรมัตถ์ : อกุศลจิต

กัณฑ์ที่ ๘ พระปรมัตถ์ : อกุศลจิต
๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖

นโม ตฺสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ (๓ หน)

ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต
จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมีติ สพฺพถาติฯ
วิภาวินีฎีกา (บาลี) ๑

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วยปรมัตถเทศนา ซึ่งมีมาในพระปรมัตถปิฏก ยกอุเทศในเบื้องต้นขึ้นแสดงก่อน เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์แนะนำแก่ท่านทั้งหลาย สืบไปเป็นลำดับๆ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา

เริ่มต้นแห่งปรมัตถปิฎกนี้ว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา ในพระอภิธรรมปิฎกนั้น กล่าวโดยความประสงค์แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยอรรถอันลึกซึ้งโดย ปรมัตถ์ ก็จัดเป็น ๔ ประการ ๑ จิต ๒ เจตสิก ๓ รูป ๔ นิพพาน ๔ ประการเท่านี้ พระพุทธศาสนามีปิฎก ๓ คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ที่ท่านทั้งหลายได้เคยสดับตรับฟังแล้ว โดยมากในพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง ในพระปรมัตถ์ไม่ค่อยจะได้ฟังนัก วันนี้จะแสดงในพระปรมัตถปิฎก เพราะเวลานี้วัดปากน้ำกำลังเล่าเรียนพระปรมัตถปิฎกอยู่ ควรจะฟังพระปรมัตถปิฎกนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะได้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัส

ในเริ่มแรกเริ่มเบื้องต้น ทรงตรัสในดาวดึงส์เทวโลก ได้ทรงตรัสพระปรมัตถปิฎกนี้สนองคุณพระพุทธมารดา และแก่หมู่เทพเจ้าทั้งหลายที่พากันมาสดับตรับฟัง ทรงตรัสอยู่ถ้วนไตรมาส ๓ เดือน เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธนิมิต ให้ตรัสพระอภิธรรมปิฎก พระบรมครูทรงไปแสวงหาอาหารบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ไปฉันในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรเถรเจ้าไปปฏิบัติสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ วัน แล้วพระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฎกนั้นมาแก่มนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สดับฟัง

เมื่อพระองค์ทรงตรัสเทศนาจบพระปรมัตถปิฎกแล้ว เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกที่เมืองสังกัสนคร ในคราวนั้นพระองค์ทรงเปิดโลก ให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์ เห็นกันและกันพร้อมกัน เห็นปรากฏเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นพระพุทธาภินิหารเป็นมหัศจรรย์ สรรพสัตว์เหล่านั้นตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อยากเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่ง มดดำมดแดง อยากเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับในเนื้อความของปรมัตถปิฎก ณ เวลาวันนี้ นับว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ดังจะแสดงต่อไป

ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมีติ สพฺพถาติ แปลว่า เนื้อความในพระปรมัตถปิฎกนั้น ถ้าจะกล่าวโดยเนื้ออันยิ่งใหญ่แล้ว กล่าวโดยปรมัตถ์ จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ ประการนี้เท่านั้น เรียกว่า พระปรมัตถปิฎก เป็นเนื้อความของพระปรมัตถปิฎกทีเดียว จำไว้ให้มั่น จิต ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๘๙ ดวงหรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๕๒ ดวง นี่ส่วนเจตสิก รูป ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ รูป ; มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็น ๒๘ นิพพาน แยกออกไปเป็น ๓ คือ กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน ธาตุนิพพาน นิพพานแยกเป็น ๓ ดังนี้

วันนี้จะแสดงในเรื่อง จิต เป็นลำดับ จิต ๘๙ ดวง หรือจิต ๑๒๑ ดวง ท่านจัดไว้ดังนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตรจิต ๘ ดวง นี่เป็นจิต ๘๙ ดวง จำไว้เสียให้มั่นคือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ๑๘ กับ ๑๒ รวมกันเป็น ๓๐ กามาวจร ๒๔ รวมกันเข้าเป็น ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ รวมกันเข้าเป็น ๖๙ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมกันเข้า เป็น ๘๑ ดวง โลกุตรจิต ๘ ดวง รวมเข้าเป็น ๘๙ ดวง ดังนี้นี่โดยย่อ ถ้าโดยพิสดาร ต้องแยกโลกุตรจิตออก ยกฌานขึ้นรับรองจิตทั้ง ๘ ดวง นี้คงเหลือจิต ๘๑ ดวง
จิต ๘๙ ดวงยกเอาโลกุตรจิต ๘ ดวงออกเสีย ยกฌานทั้ง ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง จิตเดินในฌานทั้ง ๕ นั้น ฌานละ ๘ ดวง คูณกับ ๕ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๑ ดวง เป็นโลกิยจิต ยกเอาโลกุตรจิต ๔๐ ดวง มาบวกกันเข้าก็รวมเป็นจิต ๑๒๑ ดวง ก็จิต ๘๑ ดวงนั่นเอง แต่ว่ายกเอาโลกุตรจิต ๘ ดวง ออกเสีย ถ้าว่าเอาโลกุตรจิตมาเพียง ๘ ดวง ก็เป็นจิต ๘๙ ดวง ถ้าหากว่า โลกุตรจิต ๘ ดวง นั้น แยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕ ก็เป็น ๑๒๑ ดวง นี่รู้จักแล้วว่า จิตมีเพียงเท่านี้ จะชี้แจงแสดงจิตเป็นลำดับไป ให้จำไว้เป็นหลักเป็นประธาน

ต่อไปนี้จะแสดงคัมภีร์ปรมัตถ์ที่เป็นหลักเป็นประธานให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริงๆ ที่เราได้ยินได้ฟัง ได้เข้าเนื้อเข้าใจแล้วนั้นยังไม่ถึงเนื้อธรรม เมื่อถึง จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงละ จงตั้งอกตั้งใจฟัง ยากไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของละเอียดด้วย ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ไม่ใช่อยู่กับคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ต้องมีกิเลสบาง ปัญญาละเอียดทีเดียว จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจได้ ถ้าจะเทียบละก็ ต้องเข็มเล็กๆ ด้ายเส้นเล็กๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะละเอียดได้ ถ้าเข็มโตไป ด้ายเส้นโต จะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฎกนี้เป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกัน จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ เหตุนั้นจงตั้งใจฟังให้ดี

ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้นั้น แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก โลภมูล ความโลภมี ๘ ดวง โทสมูล ความโกรธมี ๒ ดวง โมหมูล ความหลงมี ๒ ดวง ๘ กับ ๔ รวมเป็น ๑๒ ดวง นี้อกุศลจิต อกุศลจิตนี้แหละทั้งสากลโลกภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ที่จะทำความชั่วร้ายไม่ดีไม่งาม ก็เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้แหละ ไม่ใช่ทำด้วยอย่างอื่นเลย ทำด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ทั้งนั้น ทำชั่วนะเราต้องรู้ตัวเสีย ให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว คำว่าที่เรียกว่าจิตน่ะ มันเป็นดวงๆ ที่จะจัดนี้มีถึง ๑๒ ดวง ดังนี้คือ

จิตโลภ จัดเป็น ๘ ดวง
จิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิดและเกิดขึ้นตามลำพัง นี่ดวงหนึ่ง
จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวงหนึ่ง
จิตที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดโดยลำพัง นี้ดวงหนึ่งนี้ ดวงที่ ๓
จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้อีกดวงหนึ่งรวมเป็น ๔ ดวง
จิตที่เกิดประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง นี้ดวงหนึ่งเป็นดวงที่ ๕
จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวงหนึ่ง เป็นดวงที่ ๖
จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง นี้ดวงหนึ่ง เป็น ๗ ดวง
จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวงหนึ่งเป็น ๘ ดวง
นี้ชั้นหนึ่ง ๘ ดวง นี้เป็นส่วน โลภะ ความอยาก

จิตโกรธ จัดเป็น ๒ ดวง
จิตโกรธเกิดขึ้นตามลำพังดวงหนึ่ง
จิตโกรธเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวงหนึ่ง

จิตหลง ก็มี ๒ ดวง
จิตหลงเกิดขึ้นโดยความสงสัย นี้ดวงหนึ่ง
จิตหลงเกิดขึ้นโดยความฟุ้งซ่าน ดวงหนึ่ง
รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยกัน นี้เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านี้

ฟังยากไหมล่ะ ยากจริงๆ ไม่เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว ฟังเหมือนบุรุษคนหนึ่ง นั่งกินข้าวอยู่ทีละคำๆ มันก็อิ่มเป็นลำดับขึ้นไป บุรุษคนหนึ่งนั่งกินลมอยู่เป็นคำๆ เข้าไป พอเลิกแล้วไม่อิ่มสักนิด อ้ายกินข้าวกินลมมันลึกซึ้ง อย่างนี้จริงไหม นี้ฟังเรื่องปรมัตถ์เหมือนกินลม ไม่มีเนื้อมีหนังเลย ไม่อิ่มไม่ออกเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ แต่รสชาติอัศจรรย์นักนะ อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟัง

จิตดวงที่ ๑ ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก จิตดวงนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ต้องอย่างนี้ละ จึงจะมีรส ค่อยมีรสหน่อย เราจะต้องพินิจพิจารณา หากว่าจิตของเราเองมันเกิดขึ้น มีความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง เออ อ้ายประกอบด้วยความเห็นผิดน่ะ เห็นอย่างไร ลักษณะเห็นผิดน่ะ เหมือนเรายินดีมากในสิ่งที่ผิด เมื่อเราเห็นทรัพย์เข้าก้อนหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเขา ก็รู้เหมือนกันว่าเป็นของเขา แต่มันอยากได้เหลือทน ทรัพย์ก้อนนั้นมันใหญ่พอประมาณอยู่ ถ้าได้เข้าแล้วมันเลี้ยงชีพได้ตลอดสาย นับเป็นล้านๆ หรือนับเป็นแสนๆ ทีเดียว เมื่อไปเห็นทรัพย์เข้าเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้คิดไว้เลยว่า จะเอาทรัพย์ก้อนนั้น หรือจะขโมยหรือจะลักเขา ไม่ได้คิดเลย พอไปเห็นทรัพย์ก้อนนั้นเข้าในที่ที่ควรจะได้ เจ้าของเผลอ พอเห็นทรัพย์เข้าเท่านั้น ใจมันปลาบปลื้มยินดีอย่างชนิดปล่อยชีวิตจิตใจทีเดียวอย่างนี้ ความยินดีมากมันเกิดขึ้นเองแล้ว จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมากนั่นแหละ นี่ทรัพย์ก้อนนี้เราหยิบเอาเสีย ธนบัตรสักแสนหนึ่งไม่เท่าไร ถ้าใบละหมื่นก็ ๑๐ ใบเท่านั้น ใบละพันๆ ก็ ๑๐๐ ใบ เท่านั้น เป็นแสนหนึ่งเสียแล้ว เอ นี่จะเอาหรือไม่เอา นี่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เอาได้ เราก็รวย พอเห็นผิดเกิดขึ้นเช่นนั้น ไม่ต้องมีใครชักชวนกระตุ้นละ ก็คว้าเอาทรัพย์ของเขาเข้าทีเดียว คว้าทีเดียว ซ่อนทีเดียว นี่สำเร็จสมความปรารถนาของตัวแล้ว เอาไปได้สำเร็จสมเจตนาด้วย และไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วย ทำสนิทที่เดียว นี่แหละจิตดวงนั้นแหละเกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย มันเห็นว่าของเขา ไม่ใช่ของเรา นี่มันไปลักของเขานี้จะไม่ผิดอย่างไรเล่า มันก็ผิดนะซี่ เกิดขึ้นตามลำพังของตัว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูง ไม่ว่าในป่าหรือในที่ลับใดๆ หรือในที่มืดใดๆ ก็ตามเถอะ เอาทรัพย์ของเขามาได้สมเจตนา ไม่แต่เพียงแสนหนึ่งนะ สตางค์หนึ่งก็ดี ๒ สตางค์ก็ดี ถ้าว่าเป็นของเขาละก็ แบบเดียวกันอย่างนี้ทั้งหมด ถ้าว่าจิตเกิดขึ้นโดยความยินดีเช่นนั้น ถือเอาของเขามาเช่นนั้น นี่แหละโลภมูลดวงหนึ่ง นี้เป็นดวงต้นเกิดขึ้น เป็นอกุศลทีเดียว เราต้องไปนรกแน่ ต้องได้รับทุกข์แน่ เชื้อจิตดวงนี้ ต้องได้รับทุกข์แน่ รับบาปแน่ทีเดียว นี่ที่จะทำบาปลงไปชัดๆ มันปรากฏแก่ตนดังนี้ นี่ดวงหนึ่ง

ดวงที่ ๒ ต่อไป จิตประกอบด้วยความยินดีมาก และเห็นผิดอีกเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง คราวนี้เห็นทองคำเข้าก้อนหนึ่ง หรือไปเห็นสายสร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ราคานับแสนทีเดียว โดยเป็นของหลวงด้วย ราคานับแสนๆ ไม่ใช่ของราษฎร์ แต่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเขาเอามาซ่อนไว้ ไปเห็นเข้าหรือตกหล่นอยู่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามเถอะ ไปเห็นเข้ารู้ทีเดียวนี่ไม่ใช่ของธรรมดา ราคามากทีเดียว เมื่อไปเห็นเข้าเช่นนั้นไม่กล้า เพราะรู้ว่าเป็นของหลวง มันไม่กล้าลักของหลวง กลัวติดคุกติดตะรางขึ้นมาเสียแล้ว ก็มากระซิบกับเพื่อนกัน เออ ข้าไปพบของสำคัญไว้ที่นั่นแน่ะทำอย่างไรนี่ อยู่ที่นั่นแน่ะ ข้าไปพบเข้าแล้ว จะทำอย่างไร อ้ายเพื่อนก็ว่า ทำไมไม่เอาเสียล่ะ เพื่อนกระตุ้นเข้าแล้วว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ พอว่าเท่านั้นแหละก็แพล็บไปเอามาสมความปรารถนา นี่ถูกกระตุ้นหรือชักจูงเข้า แล้วไปเอาของของเขามาแล้ว โดนอกุศลเข้าอีกดวงหนึ่ง นี้เป็นอกุศลสำคัญ นี้แหละเป็นโลภมูล เกิดจากความโลภ เป็นอกุศลร้ายกาจอย่างนี้หนา นี้ว่าถึงลักถึงขโมย ไม่ใช่ลักไม่ใช่ขโมยอย่างเดียว ที่ชั่วละก็ทั้งนั้นแหละ แบบเดียวกัน ชักตัวอย่างให้เข้าใจ ให้เข้าใจว่า ดวงจิตดวงนี้มันเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักหลักนี้

ดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง ยินดีมากเมื่อไปเห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่าเข้า ที่มีค่ามาก จะเป็นเงินทองหรือแก้วแหวนชนิดใดๆ หรือผ้านุ่งผ้าห่มชนิดใดๆ ก็ตามเถอะ เป็นวัตถุชนิดหนึ่งชนิดใดใช้ได้ จนกระทั่งสตางค์เดียวก็ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อไปเห็นเข้าแล้ว ก็รู้ว่าของเจ้าของเขาพิทักษ์รักษาอยู่ เขาดูแลอยู่ เราไปพบทองเข้าหนักขนาดพันบาท นี่ก็มากอยู่ หนักขนาดพันบาท แต่ว่าทองนี้ถ้าเราเอาไปได้ เราก็ใช้ได้นาน ลงทุนลงรอนได้ ถ้าเราเอาไปไม่ได้ เราก็จนอยู่แค่นี้ ถ้าเราเอาไปได้ละก็ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เชียว ถ้าหากเขาจับเราได้ก็ต้องเข้าคุกตะรางไป ถ้าเขาจับเราไม่ได้ล่ะ เราก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดอะไร เห็นว่าถ้าเราเอาไปได้ก็เป็นประโยชน์แก่เรา เราไม่เอาไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เข้าใจว่าจะหลบหลีกพ้น แต่เราต้องได้รับผลชั่วเพราะเราขโมยเขา จะทำอย่างไรได้ก็มันจนนี่ มันก็ต้องขอไปทีสิ คว้าทองนั้นเข้าก้อนหนึ่งโดยความยากจนมาเป็นของตัวแล้ว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูงเลย คิดตกลงในใจของตัวเอง เอาของของเขาไปดังนี้แล้ว ก็รู้ด้วยว่าเป็นบาป เป็นกรรม เป็นอกุศล เป็นโทษ เห็นก็ไม่ใช่เห็นผิดเห็นถูกนี่แหละ เห็นว่า เป็นบาป เป็นกรรม เป็นโทษ แต่ว่ามันจนเต็มที มันก็ต้องขอไปที ใจกล้าหน้าด้านเอาทีหนึ่ง มันก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน อกุศลอีกนั่นแหละ ลักเขาขโมยเขาไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เห็นถูก นี้เป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ดวงที่ ๓

ดวงที่ ๔ ก็แบบเดียวกันอย่างนั้นอีก จิตที่ประกอบด้วยความอยากมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แบบเดียวกันกับเห็นทองอย่างนั้นแหละ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง ที่นี้เราเห็นเพชรสักเม็ดหนึ่งราคานับล้าน แต่ไม่ใช่ของเราแบบเดียวกัน เออ! เมื่อไปเห็นเพชรเข้าเช่นนั้นแล้ว จะตกลงใจอย่างไรล่ะ ราคามันมากขนาดนี้ เมื่อไรจะพบกันล่ะ แต่ยังไม่กล้าที่จะเอาเพชรเม็ดนั้น ด้วยกลัวเกรงอันตรายหรือกลัวติดคุกติดตะราง นำเอาเรื่องไปบอกพวกเพื่อนๆ พวกเพื่อนๆ บอกว่าทำไมจึงไม่เอา เอ็งนี่มันโง่เกินโง่อย่างนี้นี่ พอเพื่อนว่าเข้าเท่านั้น ก็ไปลักเพชรเม็ดนั้นได้สมความปรารถนา เอาไปเก็บไว้สมเจตนาของตน นี้ต้องมีผู้กระตุ้น หรือชักจูง เป็นจิตดวงที่ ๔

๔ ดวงนี้เป็นโลภมูลทั้งนั้น โลภมูล อีก ๔ ดวง ต่อมาเป็น ๘ ดวง

ดวงที่ ๕ จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่ว่าประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่มีความยินดีมากมายใหญ่โตนัก ได้ก็เอา ไม่ได้ก็แล้วไป พอสมควรแต่ว่ากิริยาแบบเดียวกัน นี่เป็นจิตดวงที่ ๕

ดวงที่ ๖ จิตที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณแบบเดียวกัน และประกอบด้วยความเห็นผิด ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนา ก็แบบเดียวกันอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่ามันไม่ยินดีมากนัก ดวงก่อนยินดีมาก ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นเพราะความอยากได้พอประมาณ เช่น ไปเห็นทองหรือเพชรดังกล่าวแล้วแบบเดียวกัน ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จความปรารถนา นี้เป็นดวงที่ ๖

ดวงที่ ๗ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นมีความอยากได้พอประมาณแต่ว่าไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง ก็แบบเดียวกันดังอธิบายมาก่อน นี่เป็นดวงที่ ๗

ดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากได้พอประมาณ ไม่มีความเห็นผิด แต่ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนาแบบเดียวกันนั่นแหละ นี้เป็นดวงที่ ๘

จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลัง ไม่ได้ต่างจากกัน ๔ ดวงก่อน จิตที่เกิดขึ้นด้วยความอยากมากยินดีมาก ๔ ดวงหลัง นี่ยินดีพอประมาณเท่านั้น เมื่อรู้จักจิต ๘ ดวงนี้แล้ว มันก็อยู่ในตัวของเรานี่เอง เกิดขึ้นแก่เราเอง เราเคยพบมานี่อ้ายพวกนี้ เคยพบเคยปะอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน วันนี้เราจะรู้จักมันละ พอมีรสบ้าง แต่ว่ายังมีรสน้อยเต็มที กว้างกว่านี้ยังจะมีรสมากกว่านี้อีก แต่ว่าให้รู้จักเสียชั้นหนึ่งก่อนโดยย่อ

จิตที่เป็นอกุศล จิตโทสะ มี ๒ ดวง
จิตโทสะ ดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง อ้ายนี่อกุศลจิต เกิดขึ้นโดยลำพัง มันเป็นอย่างไร อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพัง เช่น เราไปในสถานที่ใดๆก็ช่าง อยู่ในบ้านก็ช่าง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีอะไรทั้งหมด ใจมันโกรธจิตดวงนี้เป็นจิตโกรธ มันโกรธขึ้นไม่มีใครทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็พลุ่งพล่านโกรธขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครว่าไม่มีใครทำอะไรทั้งหมด โกรธขึ้นมาก็มีอาการต่างๆ ใครจะพูดกระทบกระเทียบเข้านิดๆ หน่อยๆไม่ได้ ก็แปลบๆ ขึ้นมาทีเดียว นั่นมันเรื่องอะไร ไม่มีใครรู้เรื่องของตัวเลย มันโกรธอยู่ในใจอย่างนั้นแหละ นี่โกรธขึ้นโดยลำพัง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีว่ากล่าวกระทบกระเทียบเลย มันเกิดขึ้น มันพลุ่งพล่านอยู่ภายในของตัวเอง อ้ายนี้แหละเขาเรียกว่า โทสจริต นี่แหละโทสจริต มันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นโดยลำพัง

จิตโทสะ ดวงที่ ๒ มันเกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้นเตือน มีคนชักจูงหรือกระตุ้นขึ้น อ้ายนั่นมันยั่วให้โกรธน่ะซี สามียั่วให้ภรรยาโกรธบ้าง ภรรยายั่วให้สามีโกรธบ้าง หรือชาวบ้านยั่วให้โกรธบ้าง คนโน้นคนนี้ยั่วให้โกรธบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง มีคนยั่วให้โกรธ เอารูปที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอาเสียงที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอากลิ่นที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอารสที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง ยั่วเข้ามันก็โกรธนะ นั่นแหละมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงให้โกรธขึ้น

จิต ๒ ดวงนี้ก็ร้ายเหมือนกัน จิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นโดยลำพังดวงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงดวงหนึ่ง จิตเหล่านี้พออธิบายง่ายหรอกจิตโกรธนี่นะ

จิตหลงนี่น่ะลึกซึ้งนัก จิตหลงมี ๒ ดวง
จิตหลงดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงใจ อ้ายนี่สำคัญอยู่ จิตหลงเกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงในใจ จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ในการครองเรือนของตนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง หรือไม่ได้ครองเรือนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ลังเลไม่ตกลงในใจอย่างนั้นแหละร่ำไป อย่างนี้เขาเรียกว่า จิตหลง จะทำอะไรก็ไม่แน่นอนลงไป เข้าทำราชการก็ไม่แน่นอน แต่จะทำหรือไม่ทำก็ไม่แน่นอน ส่วนตัวก็ไม่แน่นอน ทำนา ทำไร่ ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่ตกลงในใจ ถึงทำกิจการอันหนึ่งอันใดก็ไม่ตกลงในใจทั้งนั้น เมื่อสั่งการงานไม่ตกลงในใจอย่างนี้ มันลังเลอยู่เช่นนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หลงงมงายอยู่เช่นนั้น นี่เขาเรียกว่า จิตหลงมันเกิดขึ้น ลังเลไม่ตกลงในใจ สิ่งใดที่ลังเลไม่ตกลงในใจแล้ว พูดออกไปก็ดี ทำลงไปก็ดี มีผิดกับถูก ๒ อย่างเท่านั้น ถูกก็มี ผิดก็มี เพราะมันลังเล ไม่ตกลงในใจเสียแล้ว

การที่จิตลังเลไม่ตกลงในใจนะ เช่น เรารักษาศีลอย่างนี้แหละ ไปเจอทรัพย์เข้าหรือสัตว์เข้าตัวใหญ่ๆ ที่ชอบอกชอบใจ ที่มีค่ามาก เราฆ่าลงไปเป็นอาหารของเราได้นาน เราลักเอาไปก็เป็นอาหารได้นาน แต่เราไม่ตกลงในใจ เราจะรักษาศีลดี หรือรักชีวิตดี จะลักเขาดีหรือจะฆ่าเขาดี หรือว่าจะไม่ลักไม่ฆ่าเขาดี ถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเขา เราก็อด เราก็จน ถ้าลักเขาฆ่าเขาได้ เราก็เลิกอดเลิกจน ลังเลไม่ตกลงในใจอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลง มันระคนจิตหลงเข้าคละอยู่ด้วย ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลงอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ผิดไป ถ้าทำถูกมันก็ถูกไป แต่ว่าในที่นี้ประสงค์เอาที่ผิด เพราะว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ประสงค์ที่ผิดฝ่ายเดียว เรียกว่าลังเลไม่ตกลงในใจ นี้เป็นจิตหลงดวงหนึ่ง

จิตหลงดวงที่ ๒ อาการทำโดยฟุ้งซ่านนะ อ้ายนี่มันครึ่งบ้าครึ่งดี ลูกเต้าใกล้เคียง เหวี่ยงบึงลงไปให้ก็ตายเลย กำลังมันไม่สบายอกสบายใจ ทำโดยฟุ้งซ่าน ด้วยหลงเหมือนกัน เหมือนคนทำโดยฟุ้งซ่านทำมันแรงเกินไป ไม่ปรารถนาให้ตายหรอก มันไปตายเข้าก็เลยติดคุก นั่นเพราะทำด้วยจิตฟุังซ่่าน นี้เป็นจิตหลงดวงหนึ่ง

จิตหลง ๒ ดวงนี้สำคัญนัก ต้องคอยระแวดระวังสำคัญอยู่ ไม่ให้ไปทางถูก ให้ไปทางผิดร่ำไป

นี้จิต ๑๒ ดวงนี่แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้เราไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงไปด้วยประการใดๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าว่าเล่าเรียนเสียให้ชัดแล้ว รู้หน้า รู้ตา รู้ขอบ รู้เขต ของมันแล้ว มันจะข่มเหงเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้ว มันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น นี่แหละมันเนื้อหนังปรมัตถ์ทีเดียว ฝ่ายความชั่วล่ะ เป็นเนื้อหนังของพระอภิธรรมปิฎกทีเดียว จิต ๑๒ ดวงนี่แหละ

ที่แสดงวันนี้แสดงแต่เพียง ๑๒ ดวง เวลาไม่เพียงพอ แล้วต่อไปจะแสดงเป็นลำดับไป อเหตุกจิต กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต พอหมดเรื่องจิตแล้วละก็จะแสดง รูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ หมดรูปแล้วจะแสดงนิพพานให้เข้าเนื้อเข้าใจแตกฉานใน ๔ อย่างนี้ให้ได้

เพราะวัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้วใน ๔ อย่างนี้ ภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันแล้ว ที่แสดงนี้ก็เป็นอุปการะแก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่กำลังเล่าเรียนกันอยู่นี้ กำลังศึกษาอยู่ มีครูสอน พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ไม่ใช่เล่นๆหนา ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษาพอ ถ้าไม่มีการศึกษาพอละก็ลูกศิษย์สู้ครู ถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละ เพราะเป็นของที่ลึกซึ้งนัก ถามเจ๊งแน่ ถามติดแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกา ควรตั้งอกตั้งใจศึกษาเถิด

ปรมัตถปิฎกเป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริงๆ ส่วนวินัยปิฎกเป็นข้อห้ามข้อปรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนสุตตันตปิฎกเป็นสายบรรทัด เป็นตัวอย่างว่า คนนั้นทำอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้ คนนั้นทำดังนี้พ้นจากทุกข์ พ้นจากไตรวัฏไปสู่นิพพานอย่างนี้ นั่นเป็นหน้าที่ของสุตตันตปิฎก ไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม

ส่วนปรมัตถปิฎกนี้ เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆนะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลาย เพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุ สามเณร จงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎกนี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา

ที่ได้ชี้แจงแสดงมา ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุเตขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

โอวาท พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

อ้างอิงเนื้อหา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อการศึกษาและดำรงไว้ซึ่งคำสอน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *