กตัตตากรรม

กตัตตากรรม (พลั้งปากดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ต้องเป็นเปรตไถนา 1 พุทธันดร)

     พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา แต่ละถ้อยคำที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ เป็นสิ่งที่มีค่าอเนกอนันต์ ทุกถ้อยคำที่พระองค์ได้ทรงแนะนำสั่งสอนชี้แนะหนทางสว่าง มีค่ากว่ารัตนะทั้ง ๗ ที่พระเจ้าจักรพรรดิหยิบยื่นให้เสียอีก เพราะสมบัติจักรพรรดิ จะทำให้เราสมบูรณ์พร้อมเฉพาะในโลกนี้ ที่เป็นมนุษย์อยู่เท่านั้น แต่อริยทรัพย์อันประเสริฐที่เกิดจากรัตนะภายใน ส่องสว่างในกลางใจ จะส่งผลให้เราสมบูรณ์พร้อมทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ ทำให้เราสมบูรณ์ไปทุกภพทุกชาติ เราจะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ชีวิตเราจะก้าวไปสู่ความเต็มเปี่ยม บรรลุมรรคผลนิพพานได้นั้น ก็ต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ดังนั้น การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส จึงเป็นทางมาแห่งรัตนะทั้งภายนอกและภายใน

มีบทสวดอภิณหปัจจเวกขณะ ที่เราสวดกันเป็นประจำว่า
                              “ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ    ใครทำกรรมใดไว้
                        กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา    ดีหรือชั่วก็ตาม
                  ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ    ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
     การที่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันนับภพนับชาติไม่ถ้วนนี้ ล้วนเกิดจากกรรมที่อยู่เบื้องหลัง กรรมในอดีตที่เราเคยทำเอาไว้ เป็นตัวการสำคัญที่นำชีวิตไปสู่ความสว่างหรือความมืดมน ที่ผ่านมาหลวงพ่อได้นำเรื่องกรรมประเภทต่างๆ มาเล่าให้พวกเราได้รับฟังเพื่อประดับสติปัญญาหลายครั้งแล้ว เพราะชีวิตของเราไม่พ้นในเรื่องเหล่านี้ วันนี้มีกรรมชนิดหนึ่ง ที่เรามักจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันสักเท่าไรนัก กรรมชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า กตัตตากรรม

     การกระทำที่ชื่อว่า สักแต่ว่ากระทำลงไปแล้วโดยไม่มีเจตนา ท่านเรียกว่า กตัตตากรรม หมายเอาทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่สัตว์ทำลงไปทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเป็นครุกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรม เป็นเพียงกรรมที่กระทำโดยไม่มีเจตนา ไม่ได้ตั้งใจทำ เพราะหลักของกรรมนั้นมีอยู่ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ  ซึ่งแปลว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม ฉะนั้น ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม หรือถ้าเป็นกรรม ก็ไม่ส่งผลรุนแรงเท่ากับการกระทำที่มีเจตนาแรงกล้า

     เหมือนตัวอย่างที่เด็กทารกไร้เดียงสา มีพ่อแม่ที่ชอบทำบุญให้ทานเป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าบาปบุญมีจริง จึงปรารถนาจะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามเช่นนี้ให้กับลูก เวลาจะทำบุญตักบาตร ก็จับมือทารกที่ยังไม่รู้อะไรเลย ให้ถวายทานแก่พระสงฆ์ หรือเวลาเห็นพระผ่านมา ก็สอนให้พนมมือไหว้ด้วยความเคารพ ทั้งๆ ที่ใจของลูกนั้นก็ยังไม่รู้อะไรเลย แต่ว่ากุศลกรรมที่ทำลงไปนั้น ย่อมให้ผล แม้จะทำแบบไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม กุศลกรรมที่สักแต่ว่าทำนั้น เป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน แม้อกุศลก็เช่นกัน ถึงจะไม่ตั้งใจทำแต่ก็ให้ผล แต่ว่ามีกำลังอ่อน

     กตัตตากรรมนี้ ไม่มีกำหนดเวลาที่จะส่งผลแน่นอน สามารถกำหนดได้เพียงว่าจะให้ผลในภพใดภพหนึ่ง อุปมาเหมือนลูกศรที่คนตาบอดยิงออกจากแล่งธนู ปกติแล้วลูกศรที่คนตาบอดยิงออกไป ไม่สามารถที่จะยิงไปให้ตรงจุดหมายได้ เพราะว่าเขาไม่ทราบถึงเป้าหมายว่าอยู่ตรงไหน เพียงแต่รู้ว่าลูกศรนี้จะต้องตกลงมาบนพื้นดิน อุปมาข้อนี้ฉันใด กตัตตากรรมที่บุคคลกระทำแล้ว ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน จะกำหนดกาลว่าจะให้ผลในชาตินั้นชาตินี้ไม่ได้ กำหนดได้เพียงว่า จะต้องให้ผลในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอนเท่านั้นเอง อาจจะเป็นชาติต่อๆไปหรือในชาตินี้ก็ได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ ไม่สูญหายไปไหน

     * เหมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในยุคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มีพระภิกษุสงฆ์กลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ในโรหนชนบท มีความประสงค์จะเดินทางไปนมัสการพระศรีมหาโพธิ์ ต้นไม้ที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับนั่งแล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างทางอาจจะเป็นเพราะว่าท่านไม่คุ้นกับเส้นทาง จึงหลงทางเข้าไปในป่า แล้วไม่สามารถหาทางออกได้ เดินวนเวียนกลับไปกลับมาในป่าเป็นเวลาหลายวัน  ภิกษุเหล่านี้ได้รับความหิวโหยลำบากเป็นอันมาก

     วันหนึ่ง หมู่ภิกษุสงฆ์เดินมาถึงทุ่งกว้างกลางป่าใหญ่แห่งหนึ่ง เห็นร่างๆ หนึ่งคล้ายมนุษย์ แต่มีรูปร่างที่ดูแปลกประหลาดไม่เหมือนคนธรรมดากำลังเทียมโคใหญ่ ๔ ตัวเข้าที่ไถเหล็ก ไถนาอยู่คนเดียวในกลางป่า ก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่อย่างนั้น โดยไม่สนใจสิ่งใดๆ ภิกษุสงฆ์ดีใจมากจึงพากันตรงรี่เข้าไปถามว่า “อุบาสก ขอให้ท่านพักไถสักครู่เถิด พวกอาตมาหลงทางอยากถามเส้นทางออกจากป่านี้ ขอให้ท่านบอกแก่อาตมาหน่อยเถิด จะได้เป็นบุญกุศล” ชายผู้นั้นตอนแรกๆ ก็ไม่ตอบคำถามอะไร ได้แต่ไถนาไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เมื่อพระภิกษุถามซํ้าๆ อีก จึงกราบเรียนท่านไปว่า

     “พระคุณเจ้า พวกท่านเพิ่งหลงทางแค่ ๗ วันเท่านั้น ความลำบากยังไม่มากเท่าไร แต่ข้าพเจ้าสิหลงทางอยู่ที่นี่ ไถนาอยู่ตรงนี้ตั้ง ๑ พุทธันดรแล้ว ได้รับความลำบากมากกว่าพวกท่านอย่างมากมาย” พระภิกษุทั้งหลาย ได้ฟังเช่นนั้นก็รู้สึกตกใจ จึงพากันพิจารณารูปร่างของอุบาสกผู้นั้น จึงทราบว่า บุรุษผู้นี้มิใช่มนุษย์

     พระภิกษุจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร” เขาตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นเปรต กำลังรับทุกข์ทรมานอย่างหนัก ต้องไถนาทั้งกลางวันกลางคืน จะวางคันไถลง ก็วางคันไถลงไม่ได้” เปรตตนนั้นพูดขึ้นด้วยความรันทดหดหู่ใจ พระภิกษุทั้งหลายจึงถามถึงกรรมในอดีตของเขา เขาจึงเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ตนเองเผลอไปทำพลาดพลั้งเอาไว้ว่า “เมื่อก่อนตัวข้าพเจ้าเป็นชาวนา ในยุคของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่วันหนึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลาย ซึ่งรักการสร้างบุญสร้างบารมีพากันไปทำบุญ สักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บังเอิญว่ากัลยาณมิตรเหล่านั้นอยากจะให้ข้าพเจ้าได้บุญกับเขาด้วย จึงพากันมาชวนข้าพเจ้าไปทำบุญ แต่ตอนนั้นข้าพเจ้าเองกำลังมีใจขุ่นมัว ไม่อยากจะทำบุญทำทานแต่อย่างใด จึงคิดด้วยใจขุ่นๆ ว่า การไปทำบุญเป็นการเสียประโยชน์ เสียเวลาทำมาหากิน สู้ไถนาไม่ได้ จึงตอบคนพวกนั้นไปว่า ไม่ไปหรอก เสียเวลาไถนา

     พวกเขาก็ยังอุตส่าห์พากันชี้แจงว่า นานๆ ครั้ง ถึงจะมีโอกาสที่ดีอย่างนี้ ควรจะรีบตักตวงบุญก่อน เรื่องการงานพักเอาไว้ก่อนก็ได้ ตอนนั้นข้าพเจ้ามีใจที่ขุ่นมัวอยู่แล้ว จึงพูดไปด้วยความขัดเคืองว่า พระพุทธเจ้าของท่านวิเศษที่ตรงไหน ท่านสามารถช่วยเราไถนาได้หรือเปล่าล่ะ ข้าพเจ้าพูดจาถากถางเช่นนั้น เพื่อตัดความรำคาญ

     เหล่ากัลยาณมิตรก็พากันตกใจ กลัวว่าข้าพเจ้าจะได้รับบาปกรรม จึงพากันชี้ขุมทรัพย์ว่า คุณพูดอย่างนี้ไม่ดีนะ ว่าพระว่าเจ้ามันเป็นบาปเป็นกรรม  ข้าพเจ้าเองตอนนั้นกำลังขุ่นมัวใจมืดบอด เมื่อได้ยินอย่างนั้นก็ยิ่งรู้สึกโกรธหนักขึ้นไปอีก เลยพูดตัดบทไปโดยไม่มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามว่า พวกท่านเลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว เราหนวกหู ถ้าพระพุทธเจ้าของพวกท่านไม่สามารถไถนาให้เราได้ เราก็จะไม่ไปทำบุญด้วยหรอก เมื่อใดที่ท่านมาไถนาให้ดูได้ เมื่อนั้น เราจึงจะไปทำบุญ

     ด้วยการพูดจาไม่ยั้งคิด ไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน ทำให้ข้าพเจ้านั้นต้องเกิดมาเป็นเปรต ชดใช้กรรม อดข้าว อดน้ำ ไม่ได้นั่ง ไม่ได้นอนตลอด ๑ พุทธันดร ต้องไถนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะหมดกรรมสักที”

     เมื่อพูดถึงตอนนี้เปรตก็ทำนิ่งๆ แล้วชี้บอกเส้นทางออกจากป่ากับเหล่าพระภิกษุทั้งหลายพร้อมกับบอกว่า เมื่อพระคุณเจ้าทั้งหลายออกไปแล้ว ขอให้บอกเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายด้วยเถิดว่า ขอให้เพื่อนมนุษย์ผู้ยังไม่ตาย จงขวนขวายในการทำบุญให้ทาน อย่าได้ประมาททำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยเหมือนอย่างข้าพเจ้าเลย อย่าได้เป็นคนมีวาจาชั่วหยาบ จ้วงจาบผู้ทรงศีลจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ให้หมั่นสร้างบุญกุศลไว้ เมื่อถึงคราวละโลกไป จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์ทรมานเหมือนอย่างข้าพเจ้า พูดจบก็ประนมมือนมัสการพระภิกษุแล้วก็เริ่มไถนาต่อไป

     เมื่อภิกษุทั้งหลาย รับฟังเรื่องราวที่เปรตตนนั้นเล่าให้ฟังแล้ว ถึงกับขนพองสยองเกล้า เกิดธรรมสังเวชในภัยที่เกิดจากการสร้างกรรมโดยไม่มีเจตนา ทำให้ทุกๆ องค์ได้ข้อคิดว่า การสร้างกรรมโดยไม่เจตนากับผู้ทรงศีลนั้นเป็นบาปหนัก แม้จะเป็นการกล่าวเพียงแค่ลมปาก ที่เปล่งออกมาด้วยความขุ่นมัวชั่ววูบ แต่ต้องมาทนทุกข์ทรมานกับกรรมชั่วนั้นเป็นเวลายาวนานเหมือนกับเปรตตนนั้น ฉะนั้นจะต้องสำรวมระวังให้มากขึ้น มีสติควบคุมกายวาจาใจไม่ให้พลาดพลั้งไปทำบาปอกุศลใดๆ

     จากเรื่องนี้จะเห็นว่า กตัตตากรรมที่ได้ทำไป แม้ว่าไม่รู้ไม่ทราบอะไรเลย ทำด้วยความไม่ตั้งใจ ยังมีผลเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพียงนี้  เพราะฉะนั้น เราอย่าได้ประมาทกัน ต้องมีสติยับยั้งให้ดี ไม่ล่วงเกินใครด้วยกายวาจาใจ และหมั่นสร้างบุญกุศลกันให้เต็มที่ หากจะทำกตัตตากรรมก็ขอให้เป็นฝ่ายกุศล เมื่อทำอย่างนี้ ชีวิตของเราจะปลอดภัยจากภัยในอบายภูมิ  ห่างไกลจากบาปอกุศลที่จะเข้ามาซึมซาบปนเป็นอยู่ในตัวเรา จะมีบุญกุศลอุ้มชูชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป เหมือนมีแก้วมณีโชติรสบันดาลความสุขความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นในชีวิต

* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๓๙๔

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13362
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *