โทษของการทำปาณาติบาต (เรื่องพระอรหันต์เถระสร้างทานแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์อุทิศให้หมู่เปรตที่เป็นบิดา มารดาและญาติ)
พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในยามที่เรามีความทุกข์ สามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ในยามที่มีความสุขก็ช่วยเพิ่มเติมความสุขได้ ยิ่งถ้าเรามีใจรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยได้แล้วละก็ ยิ่งทำให้ชีวิตเราพบความสุขอันไม่มีประมาณ เราจะเข้าถึงสุขชนิดนี้ได้ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ทำใจของเราให้หยุดนิ่งเข้าไปสู่ภายใน ตามหลักอริยมรรคในหนทางสายกลาง จนกระทั่งเข้าไปถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายภายในตัวของเราได้
มีเทวคาถาของเขมเทพบุตรได้กล่าวเอาไว้ใน เขมสูตร ว่า
“จรนฺติ พาลา ทุมฺเมธา อมิตฺเตเนว อตฺตนา
กโรนฺติ ปาปกํ กมฺมํ ยํ โหติ กฏุกปฺผลํ
น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ
ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ วิปากํ ปฏิเสวติ
คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประพฤติกับตนเองดังศัตรู ย่อมทำกรรมชั่วที่มีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้ว ไม่ดีเลย”
ผู้ที่ถูกความมืดคืออวิชชาครอบงำจิตใจจนมืดดำสนิท ทำให้ไม่กลัวต่อบาป เมื่อคิด พูด ทำ ก็กระทำในเรื่องที่เป็นบาปอกุศล ชีวิตก็พบกับความมืดมนไม่พบแสงสว่าง บุคคลเช่นนี้ท่านเรียกว่าคนพาล เพราะไม่ได้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ความมืดภายนอกนั้นยังพอมีวันสว่างได้ แต่ความมืดในจิตใจที่ไม่ได้รับแสงแห่งพระธรรมเป็นความมืดที่น่ากลัว เพราะจะทำให้พลัดตกไปในอบายภูมิ ไม่มีโอกาสทำความดี มีแต่เสวยวิบากกรรมที่ทุกข์ทรมาน ชีวิตของผู้ที่สั่งสมบาปอกุศล ทำบาปเป็นอาจิณโดยที่ไม่รู้ตัว เป็นชีวิตที่น่าอันตรายอย่างยิ่ง กว่าจะรู้ตัวว่าผิดพลาดก็สายเกินแก้เสียแล้ว จำต้องทนทุกข์ทรมานรับใช้กรรมอันเผ็ดร้อนที่ก่อเอาไว้ในอบายภูมิเป็นเวลายาวนาน
หลวงพ่อมีตัวอย่างของผู้ที่กระทำปาบอกุศลเพราะความหลงผิด แล้วไปเกิดในนรกมาให้ทุกท่านได้รับทราบอีก
* เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลพระราชโอรสของพระราชาพระนามกิตวะเสวยน้ำจัณฑ์อยู่กับเหล่าอำมาตย์ มีสนมกำนัลแวดล้อมจำนวนมาก ขณะที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าสุเนตต์กำลังเที่ยวบิณฑบาต เนื่องจากกำลังมึนเมา อีกทั้งเมาด้วยอำนาจความเป็นใหญ่คิดไปว่า สมณะนี้ไม่ยอมนอบน้อมต่อเรา จึงตรงเข้าไปแย่งบาตรมาจากมือของท่าน ทุ่มลงที่พื้นดินจนแตก แล้วทรงหัวเราะชอบใจดื่มน้ำจันฑ์ต่อไปตามปกติ โดยไม่รู้สึกตัวว่าได้กระทำความผิดมหันต์ในพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็ไม่โกรธเคืองหรือขุ่นมัวแต่อย่างใด เพราะจิตของท่านบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หลุดพ้นแล้วจากความโลภ ความโกรธ และความหลง
ด้วยวิบากกรรมนั้น เมื่อพระราชโอรสเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ได้ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะถูกไฟเผาไหม้อยู่ถึง ๘๔,๐๐๐ ปี ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดเป็นเปรต กว่าเศษกรรมจะหมดก็ต้องเป็นเปรตผู้หิวโหยรับผลกรรมอีกยาวนาน เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นก็มาบังเกิดเป็นลูกชาวประมง ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
เนื่องจากในอดีตเคยสั่งสมบุญเอาไว้มากเหมือนกัน แต่เพราะประพฤติผิดในพระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้ชีวิตต้องพบกับความตกต่ำ เมื่อได้โอกาสกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง บุญในอดีตก็ตามส่งผลให้เป็นเด็กที่ระลึกชาติได้ จึงรู้ว่าตนเองได้ประสบเคราะห์กรรมมามากเพราะเผลอไปทำบาปอกุศลเอาไว้ จึงตั้งใจว่าภพชาตินี้จะไม่ยอมทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้นหนูน้อยจึงไม่ยอมไปจับปลากับพวกหมู่ญาติเพราะกลัวบาป ไม่ยอมฆ่าสัตว์ทุกชนิด มีแต่หาโอกาสปล่อยปลาให้ชีวิตสัตว์เป็นทานอยู่เป็นประจำ
พวกญาติรู้สึกไม่ชอบใจการกระทำของหนูน้อยเป็นอย่างยิ่ง จึงไล่เขาออกจากบ้าน หนูน้อยจึงไปขอบวชเป็นสามเณรอยู่กับพระอานนท์เถระ ตั้งใจศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิเจริญภาวนาไม่เคยขาด ต่อมาเมื่อได้รับการอุปสมบทแล้ว ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้พาภิกษุ ๑๒ รูป ไปจำพรรษาอยู่ที่สานุบรรพต ฝ่ายพวกญาติประมาณ ๕๐๐ คน มิได้ก่อสร้างกุศลกรรมไว้สร้างแต่บาป เมื่อละโลกแล้วทำให้ไปบังเกิดในหมู่เปรต
โยมมารดาบิดาของพระเถระซึ่งได้บังเกิดเป็นเปรต เห็นพระลูกชายมาก็ดีใจ แต่ไม่กล้าเข้าไปหา จึงส่งเปรตผู้เป็นพี่ชายไป เปรตพี่ชายจึงออกมาปรากฏกายให้พระเถระเห็น เป็นเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม เปลือยกายซูบผอม มีอาการอิดโรยเหมือนหิวข้าวหิวน้ำมาเป็นเวลายาวนาน เปรตบอกให้พระเถระรู้ว่า ตนเป็นพี่ชาย มารดาและบิดาของท่าน ซึ่งบัดนี้ไปเกิดเป็นเปรต ต้องเสวยทุกข์ทรมานแสนสาหัส ขอให้พระเถระช่วยอนุเคราะห์แก่โยมมารดาบิดาด้วย เมื่อให้ทานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ด้วย
พระเถระเมื่อทราบว่า เปรตเหล่านี้เคยเป็นบิดามารดาของท่าน ก็ปรารถนาที่จะสงเคราะห์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ในเปรตภูมิ เช้าวันนั้น ท่านไปบิณฑบาตมาได้ ก็แจ้งแก่พระสงฆ์ทั้ง ๑๒ รูปว่า วันนี้ท่านปรารถนาจะถวายสังฆทานเพื่ออนุเคราะห์แก่ญาติซึ่งไปบังเกิดเป็นเปรต ขอให้สงฆ์เป็นเนื้อนาบุญรับภัตตาหารด้วย เมื่อพระเถระถวายสังฆทานแล้ว ได้อุทิศส่วนกุศลไปให้มารดาบิดาและพี่ชาย ตั้งจิตแผ่ส่วนกุศลไปว่า “อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ, สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ขอทานนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเถิด” ทันทีที่พระเถระอุทิศส่วนกุศลไปให้ โภชนะอันประณีตก็บังเกิดขึ้นแก่เปรตผู้เป็นญาติที่มารอรับส่วนกุศล
จากนั้นเปรตพี่ชายซึ่งมีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข ก็ไปแสดงตนแก่พระเถระ แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โภชนะอันมากมายพวกข้าพเจ้าได้แล้ว แต่ขอท่านจงดูเถิด พวกข้าพเจ้ายังเปลือยกายอยู่เลย ขอท่านจงพยายามให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ผ้านุ่งห่มด้วยเถิด” พระเถระไปเลือกเก็บผ้าจากกองหยากเยื่อเอามาทำเป็นจีวร ซักย้อมอย่างดี แล้วถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ
ครั้นถวายแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้มารดาบิดาและพี่ชาย เปรตเหล่านั้นก็ได้รูปกายใหม่ นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว ได้มาแสดงตนแก่พระเถระ พร้อมกับบอกว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกเรามีผิวพรรณดี มีกำลัง มีความสุข มีผ้านุ่งห่มมากกว่าผ้าที่มีในแคว้นของพระเจ้านันทราช ผ้านุ่งผ้าห่มของพวกเราไพบูลย์และมีค่ามาก ผ้าเหล่านั้นอยู่ในอากาศ ข้าพเจ้าทั้งหลายเลือกนุ่งห่มแต่ผ้าที่พอใจ แต่ว่าพวกข้าพเจ้ายังไม่มีบ้านเรือนอยู่ ยังไม่มีน้ำดื่มและยานพาหนะใดๆ ขอท่านจงอนุเคราะห์ให้พวกข้าพเจ้าได้ที่อยู่อาศัย มีน้ำดื่ม และได้ยานพาหนะด้วยเถิด”
พระเถระได้ฟังดังนั้น ก็ได้สร้างกุฏิที่มุงด้วยใบไม้ จัดตั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ ทำรองเท้า แล้วได้ถวายภิกษุสงฆ์ได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ครั้นแล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้มารดาบิดาและพี่ชายเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ว่า ทันทีที่อุทิศส่วนกุศลให้กับเปรต ทิพยปราสาทก็บังเกิดขึ้นกับหมู่ญาติ เป็นปราสาทที่งดงามประดุจทิพยวิมานในเทวโลก น้ำดื่มคือสระโบกขรณี มีน้ำเย็น มีท่าราบเรียบดี ดารดาษด้วยดอกปทุมและดอกอุบล มีกลิ่นหอม ทำให้เปรตได้อาบดื่มกินอย่างสบาย เปรตผู้เป็นญาติพากันมาแสดงตนให้พระเถระเห็นพร้อมด้วยราชรถอันวิจิตร แล้วกล่าวขอบคุณพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านอนุเคราะห์แล้ว ด้วยการให้ข้าว ผ้านุ่ง ผ้าห่ม เรือน น้ำดื่ม และยาน เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจึงมาเพื่อจะไหว้ท่านผู้เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา”
จะเห็นได้ว่า ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ทำบาปอกุศลเอาไว้ เป็นชีวิตที่ทุกข์ยากน่ากลัวและยาวนาน เกินการคาดเดาว่าจะใช้เวลามากน้อยสักเท่าใด อีกทั้งเป็นชีวิตที่สุดแสนจะทรมานอีกด้วย ดังนั้นการประคับประคองตัวของเราให้ดำเนินชีวิตอยู่บนหนทางแห่งความดี บนเส้นทางแห่งบุญด้วยความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองตัวเราให้ปลอดภัย ทั้งภัยในชีวิต ภัยในอบายภูมิ และภัยในสังสารวัฏ เหมือนมีเกราะแก้วคุ้มกันภัยและอันตรายนานัปการ
ฉะนั้นอย่าได้หลงไปทำบาปอกุศลจนพลัดไปเกิดในอบายภูมิ และจะต้องมารอคอยส่วนบุญที่หมู่ญาติอุทิศให้เหมือนเรื่องนี้ เพราะหมู่ญาติของเราเขาทำบุญแล้วจะนึกถึงเราหรือเปล่าก็ไม่ทราบ โอกาสที่จะพ้นจากทุกข์ในอบายภูมิจึงยากมาก ดังนั้นอย่าได้เป็นอย่างนั้นกันเลย เกิดมาแล้วก็ให้สั่งสมบุญกันให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวเอาบุญไปให้ได้มากที่สุด นอกจากจะช่วยเหลือตัวเราเองแล้ว ยังจะได้ช่วยหมู่ญาติและสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย ถ้าเราหมั่นฝึกตัวเองให้สมบูรณ์ ตัวเราก็เป็นคนที่มีคุณค่าและเป็นที่น่านับถือของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย
* มก. เล่ม ๔๙ หน้า ๓๗๐
พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/12953
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป
กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน