คำถาม:
คุณทิพย์สุดา อริยวัตร เขียนมาถามว่า ลูกได้รับมอบหมายจากอธิบดีศาลแพ่ง ให้ทำหน้าที่สอนธรรมะแก่ผู้พิพากษาและข้าราชการเดือนละ ๑ ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๘ นี้ เลยรู้สึกหนักใจ เนื่องจากผู้พิพากษาก็อยู่ในโลกของเขา คนทั่วไปยากที่จะเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของเขาได้ ขอความเมตตาจากหลวงพ่อ ช่วยแนะนำแนวทางในการสอนธรรมะด้วยค่ะ
คำตอบ:
ตรงนี้ก็ขอตอบเป็นกลางๆ ก็แล้วกัน อย่าว่าแต่ไปให้ความรู้ธรรมะแก่ผู้พิพากษาเลย ซึ่งก็ถือว่าท่านผู้พิพากษานี้ ถ้าสติปัญญาท่านไม่เยี่ยม ท่านก็คงไม่ได้รับตำแหน่งนี้ เมื่อสติปัญญาท่านเยี่ยม ก็ถูกแล้วที่คุณโยมจะรู้สึกประหม่า ที่จะไปมอบธรรมะให้กับท่านเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับเรื่องธรรมะก่อน ในเรื่องของธรรมะกับความรู้วิชาการทางโลก ตรงนี้อย่าปนกัน ผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางโลก ไม่ได้หมายความว่าจะมีสติปัญญาเฉียบแหลมในทางธรรม ตรงนี้ต้องชัดเจนกันเลย เป็นประการที่ ๑.
ประการที่ ๒. แม้ผู้ที่มีความเข้าใจเฉียบแหลม สติปัญญาดีมีความเข้าใจในเรื่องทางธรรมเหมือนๆ กัน แต่ก็อย่าเพิ่งทึกทักว่า จิตใจของเขาจะเป็นธรรมเหมือนกัน เพราะว่ามีความรู้ความเข้าใจธรรมะเหมือนกันนี่แหละ แต่ว่าถ้าความรู้ธรรมะนั้นเป็นความรู้ในระดับที่เข้าใจ ในระดับที่ตรองมา ใช้ตรึกตรอง ใช้พินิจพิจารณาแล้วเข้าใจเหตุผลต้นปลายว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ที่เกิดเป็นกรรมดีอย่างนั้น เพราะได้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วผลจะส่งให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่อไป มองทะลุปรุโปร่งเข้าใจหมด แต่นั่นเป็นเพียงระดับเข้าใจ ยังไม่เกิดผลดีอย่างแท้จริง ที่จะเกิดผลดีอย่างแท้จริงขึ้นมาได้นั้น อยู่ตรงที่ได้นำธรรมะที่ศึกษาดีแล้วมาปฏิบัติ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยเรา ถ้ามาเป็นนิสัยเราทั้งเนื้อทั้งตัวเรากลายเป็นธรรมะขึ้นมา ไม่ใช่แค่รู้ แค่ท่องจำ เอาไปสอบ เอาไปเทศน์ คนละระดับกัน
ตรงนี้ ก็อยากจะให้กำลังใจ แล้วก็ให้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ถามซึ่งเป็นสุภาพสตรี ท่านผู้พิพากษาเหล่านั้น สติปัญญาของท่านก็เฉียบแหลม อาจจะเฉียบแหลมในระดับเดียวกับเรา หรือว่าอาจจะหย่อนกว่าเราบ้าง หรือมากกว่าเราก็ตาม แต่ว่าสติปัญญาของท่านนั้น ถูกนำไปใช้ในเรื่องของการพิพากษาหรือเรื่องของคดีความ แต่ไม่แน่นะว่า ความเฉียบแหลมของท่านในเรื่องทางธรรม จะมีมากกว่าเรา ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกัน
ถ้าความเฉียบแหลมในทางธรรมก็มีเท่ากับเรา บางทีอาจจะมีมากกว่า ก็ไม่เป็นไร เท่ากับเราด้วย มีมากกว่าเราด้วย แล้วจะให้ไปเทศน์ให้เขาฟัง บรรยายให้เขาฟังทำไมกันล่ะ หรืออาจจะมีเท่ากับเรา หรือมากกว่าเราด้วย แต่ว่านั่นเป็นความเข้าใจธรรมะ ท่านจะก้าวล่วงไปถึงขนาดฝึกธรรมะ นำธรรมะนั้นมาฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัยใจคอ ในชีวิตประจำวันได้แล้วหรือยัง ตรงนี้ไม่แน่ อาจจะยังไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น เมื่อเราได้ เราก็มีสิทธิที่จะเทศน์ ที่จะบรรยายให้ท่านฟังได้อีกเหมือนกัน
สมมุติว่าท่านก็นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ไม่ได้น้อยหน้ากว่าเราเลย อาจจะดีกว่าเราด้วย เพราะท่านเป็นผู้พิพากษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่าท่านที่มีความรู้ทางธรรมอย่างดี แล้วปฏิบัติธรรมอย่างดี ท่านเหล่านี้อย่าว่าแต่จะไม่ได้ฟังธรรมะจากผู้ที่มีธรรมะเสมอกันกับท่านเลย แม้หย่อนกว่าท่าน ท่านก็ยินดีที่จะฟัง เต็มใจอย่างยิ่งที่จะฟัง เพราะว่าในโลกนี้ การได้ยินธรรมะ ฟังธรรมะจากผู้ที่ปฏิบัติธรรมะตัวจริง เป็นมงคลอย่างยิ่ง หาฟังได้ไม่ง่ายเลย
เพราะฉะนั้นถ้าคุณโยมที่ถามมานี่ มั่นใจในความรู้ธรรมะและการปฏิบัติธรรมะของตัวเองว่าไม่ผิดพลาด ก็บรรยายให้ท่านฟัง ท่านก็จะชื่นใจ ฉะนั้นการที่เราไปบรรยายให้ท่านเหล่านี้ฟัง มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล ดีเสียอีกถ้าเราเกิดมีผิดพลาดอะไร ท่านเหล่านี้ท่านไม่ฉีกหน้าเราหรอก ท่านมีแต่จะช่วยตักเตือนหรือชี้แนะให้ยิ่งๆ ขึ้นไปแก่เรา มันก็เป็นบุญของเรา ถ้าเรามองความจริงของโลกอย่างนี้ชัดๆ แล้วเข้าใจความเมตตากรุณา ความยุติธรรมของท่านผู้พิพากษาตามความเป็นจริงอย่างนี้ คุณโยมไปบรรยายธรรมเถอะ ไม่ต้องกลัว
อย่างไรก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ถ้าจะแนะนำธรรมะข้อใดกับใคร เราต้องปฏิบัติธรรมะข้อนั้นให้ได้เสียก่อน จะได้ไม่ผิดพลาด เพราะถ้าพลาดจะเกิดผลเสียตามมา เช่น
๑. เขาไม่เชื่อ ถ้าเราพูดผิดๆ เราก็เสียหาย เขาโต้แย้งมา เราก็เสียหาย หน้าแตก หรือเขาไม่รู้เหมือนกัน เขาเชื่อเราไปเลย ทั้งที่เราพูดผิด เขาก็นำธรรมะข้อนั้นไปปฏิบัติแบบผิดๆ เมื่อปฏิบัติแบบผิดๆ บาปก็เกิดแก่เขา ตกนรกทั้งเป็น ตายไปตกนรกจริงๆ ลึกด้วย
๒. เรื่องที่เราจะนำไปพูด คัดเอาเฉพาะที่เราปฏิบัติได้จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ พูดร้อยครั้ง ก็ถูกทั้งร้อยหนนั่นแหละ ไม่มีคลาดเคลื่อน ได้บุญทั้งเราผู้พูด ได้บุญทั้งท่านผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ฟัง
เรื่องนี้ หลวงพ่อได้รับคำแนะนำจากคุณยายอาจารย์มา คุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อาจารย์ของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อบวชพรรษาแรก ก็มีญาติโยมมาขอร้องให้เทศน์ แต่ว่าก็ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไรดี โดยเฉพาะเขาไม่ได้กำหนดหัวข้อมาอย่างชัดเจน ก็เลยไปปรึกษาขอบิณฑบาตความรู้จากคุณยายอาจารย์ “คุณยาย นี่เขานิมนต์ไปเทศน์ ไม่รู้จะเทศน์เรื่องอะไรจึงจะพอเหมาะพอดี”
คุณยายตอบชัดเจนเลยว่า “ท่านก็ถามตัวเองว่าตั้งแต่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ตั้งแต่มาเจอยาย ตั้งแต่มาบวชนี่ได้ปรับปรุง แก้ไขนิสัยตัวเอง ให้ดีขึ้นในเรื่องใดบ้าง อย่างไรบ้าง ไปนึกทบทวนให้ดี พอทบทวนเสร็จเรียบร้อย ถึงรู้ว่าเราเคยแก้ไขเรื่องนี้ แก้ไขมาอย่างนี้ ทำให้เราดีขึ้น ก็นำเรื่องนั้นแหละ ไปเทศน์ รับรองจะต้องถูกใจเขา เพราะว่าไม่ว่าคนยุคนี้ คนยุคไหนๆ กิเลสที่มีอยู่ในใจก็ ๓ ตัวเหมือนกันคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดในสิ่งที่ถูก อย่างไรก็ต้องถูกใจเขา ท่านเอาเรื่องนี้ไปพูด รับรองว่าจะเกิดประโยชน์แน่ ๆ เลยกับผู้ฟัง เป็นการทบทวนความดีของเราด้วย เกิดบุญด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย”
คุณยายให้คำแนะนำหลวงพ่อมาอย่างนี้ แล้วหลวงพ่อก็ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิตของความเป็นพระ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ไปทดลองทำดู รับรองว่าได้ผล หรือถ้าอย่างไรไปทำดูแล้วได้ผลอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังบ้างก็ได้นะ ก็ขอให้ไปปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มที่ไม่ต้องลังเล แล้วให้ได้บุญเยอะๆ จากการบรรยายธรรมครั้งนี้ด้วย
โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา