ขอแสดงอาบัติ

มีพระกัลยาณมิตรรูปหนึ่งเขียนจดหมายมา ท่านใช้คำว่า
“ขอแสดงอาบัติ” กับคุณครูไม่ใหญ่ ที่จริงอยากอ่านตามลำพัง แต่
มีหลายข้อที่ท่านเขียนมาอาจจะไปตรงกับใจใครบางคน จะได้ถือ
โอกาสตรงนี้ชี้แจง ทำความเข้าใจกันสักนิด
ที่จริงถึงไม่ได้แสดงอาบัติ หรือขอขมาก็ให้อโหสิไปหมดแล้ว
เพราะครูไม่ใหญ่อยากจากโลกนี้ไปอย่างใจใส ๆ ไม่มีเวร ไม่มีภัย
กับใคร แต่นี่เป็นความงามของพุทธบุตรที่ท่านเมื่อมีความรู้สึกที่ดี
เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะแสดง ไม่ปกปิด จะเปิดเผย เพื่อความบริสุทธิ์
บริบูรณ์ เพราะท่านมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย
นี่ก็เป็นสิ่งที่ท่านเขียนมาย่อ ๆ ว่า
ท่านเคยมีอคติในใจ ที่ยังไม่กล้าบอกกับใครในส่วนลึกก้นบึ้ง
หัวใจ ซึ่งอาจจะไปตรงกับความคิดของคนอื่น ๆ ที่มีต่อวัดพระธรรมกาย
ก็พูดง่าย ๆ กับครูไม่ใหญ่นั่นแหละ แต่เขามักจะเหมารวม ๆ เป็น
วัดพระธรรมกาย ไม่รู้เป็นยังไง
ที่จริงว่าครูไม่ใหญ่โดยตรงจะดีกว่า เพราะว่า “พระ
ธรรมกาย” บาปนะ เพราะคำว่า “ธรรมกาย” เป็นคำสูง หมายถึง
พระพุทธเจ้าที่อยู่ภายในตัว หมายถึง พระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น
ถ้าใครรู้สึกไม่ชอบหน้าครูไม่ใหญ่ ก็ขอให้ใช้ตรง ๆ เลย ธัมมชโยบ้าง
อย่างนั้น อย่างนี้ อะไรก็ว่าไปเถอะ ครูไม่ใหญ่ไม่ถือ ไม่เอาเรื่อง
เอาราวกับใคร มันไม่มีเวลาจะไปคิดเรื่องเหล่านี้ เวลาที่เหลืออยู่
อยากจะได้บุญ อยากจะทำงานพระศาสนา
คำถามของท่านมี ๓ ข้อ
ข้อ ๑ วัดพระธรรมกายเป็นวัดทุนนิยม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ทางวัดจะหาวิธีแก้ด้วยเงินอย่างเดียว
วัดพระธรรมกายไม่ใช่วัดทุนนิยมนะ เป็นวัด “บุญนิยม”
คือ นิยมเรื่องสร้างบุญ สร้างบารมี ชวนเขาไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ
ข้อ ๒ วัดพระธรรมกาย เป็นวัดไม่ทรงเอกลักษณ์ความเป็น
พุทธ เช่น สร้างโบสถ์ไม่เหมือนวัดทั่ว ๆ ไป ผมคิดว่า เมื่อรวม
คนได้มาก ๆ ก็กลายเป็นคริสต์ เอาไม้กางเขนไปปักกลางช่อฟ้า
ตอนที่ให้สถาปนิกออกแบบ บอกวัตถุประสงค์ไปว่า อยาก
ได้โบสถ์ที่แข็งแรง ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เสร็จเร็ว ประหยัด ถ้าพัง
ก็ซ่อมง่าย ถ้าสร้างโบสถ์ที่วิจิตรงดงาม มันก็ดีนะ ใจประณีต แต่
จะเสียเวลานาน ใช้เงินเยอะ ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เวลาพังก็
ซ่อมยาก เพราะช่างที่เกิดมาสร้าง ไม่เกิดมาซ่อมอีก ทีนี้ถ้าเอา
คนรุ่นหลังมาซ่อม มันก็หัวมงกุฎท้ายมังกร กลัวจะต่อกันไม่ติด
เขาก็เลยออกแบบมาให้ดูหลายแบบ ก็เลือกเอาแบบนี้ ตรงสเปก
เร็ว เรียบง่าย ทำความสะอาดง่าย พังซ่อมง่าย ใช้เงินไม่เยอะ
ใช้ประโยชน์ได้เยอะ จึงได้โบสถ์แบบนี้มา
ข้อ ๓. วัดพระธรรมกายเป็นวัดที่จัดหาเงินเข้าวัดแบบแชร์ลูกโซ่
คนไปหาเดินสายจะได้ค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ให้หัวหน้า
สายแต่ละคนที่มีเงินเข้าวัดเยอะ
ขอกราบเรียนพระเดชพระคุณให้ทราบเลยว่า อย่าว่าแต่วัด
ไม่ให้เงินสักสลึงเลย เขายังต้องเสียเงินมหาศาลเพื่อทำบุญเสียอีก
บางคนเอาชีวิตเป็นเดิมพันไปทำงานสร้างบารมี บางคนถึงกับเสียชีวิต
บางคนบาดเจ็บ แต่ส่วนใหญ่จะเสียทรัพย์ แล้วก็อะไรเยอะแยะไป
หมดเลย ถ้าได้เห็นวิธีการทำงานของทีมงานแต่ละคนที่กระจายกัน
อยู่ทั่วประเทศมีแต่จะชื่นชมอนุโมทนา
ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ไปบนถนนลูกรังที่เป็น
หลุมเป็นบ่อ ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ตากแดดกันหัวแดง บางที
นั่งรถไปหล่นลงมาก็มี บ้างก็เดินฝ่าเปลวแดด ใบหน้าไม่ได้สวยเลย
สักคน ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย แต่ทุกคนก็หยัดสู้ เพราะอยากได้บุญ
บางคนไม่สบาย ก็ยังออกไปทำหน้าที่ ป่วยเป็นมะเร็ง
ให้คีโม ผมร่วง หนังศีรษะไม่มีผมมาปกป้อง ระหว่างแดดที่แรงกล้า
กับหนังศีรษะ ผิวหนังลอกไปหลายสิบแผ่น เหงื่อโทรมกาย แต่
ดวงใจเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส
บางคนต้องข้ามน้ำข้ามทะเล ไปเกาะกลางทะเลก็มี บ้างก็
ขึ้นเขาลงห้วย ลำบากทั้งลูกพระ ลูกเณร ลูกอุบาสก ลูกอุบาสิกา
แล้วก็ลูกทุก ๆ คนที่ออกไปทำหน้าที่อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
ไม่ได้เห็นแก่ความยากลำบาก เพียงเพื่อจะไปบอกให้ผู้มีบุญที่
กระจัดกระจายกันว่า มาสร้างบุญกันเถิด เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี
มาทำพระนิพพานให้แจ้ง ชวนทุกคนให้มาถึงธรรม ไปบอกเขาว่า
ในตัวเรามีพระรัตนตรัยในตัว ให้แสวงหาพระในตัว อย่าตายฟรี
เลย เพียงเพื่อจะไปบอกเขาอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แบบแชร์ลูกโซ่ และแชร์เป็นยังไง
ครูไม่ใหญ่เล่นไม่เป็น ไม่รู้จัก ได้ยินแต่เขาลงหนังสือพิมพ์ แล้วเขาก็
ถวายข้อหาอย่างนี้มาให้ เรื่องโซ่ตรวนนี่ ไม่ชอบเลยจริง ๆ จะเป็น
พ่อโซ่ แม่โซ่ หรือลูกโซ่ก็ตาม
เงินที่ได้มาก็นำมาทำงานพระศาสนา เพราะทุกอย่างมีค่า
ใช้จ่ายทั้งนั้น นั่งเฉย ๆ แค่เราหายใจเข้าออกก็เสียค่าใช้จ่ายแล้ว
เพราะเราจะต้องมีชีวิตอยู่จึงหายใจได้ จะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีอาหาร
อาหารไม่ได้หล่นลงมาจากฟ้า มันก็มีค่าใช้จ่าย กว่าจะมาถึงมือ
ถึงท้องได้ มันจ่ายกันมาตลอดสายเลย
ท่านถามมา ๓ ข้อ ก็เลยถือโอกาสตอบตรงนี้
๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)
ที่มา
คำตอบคุณครูไม่ใหญ่ เล่ม ๑
https://www.dhamma01.com/book/48
๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *