วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก ความพร้อมไม่มีในโลก

อย่าหายใจทิ้งเปล่านะลูกเอ๋ย
ออกเข้าเคยหยุดนิ่งดิ่งกลางศูนย์
ก็ให้ทำอย่างเคยจักจำรูญ
บุญเพิ่มพูนทับทวีทุกวี่วัน
ตะวันธรรม

(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ…………)
…การทำใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวไม่จำกัดกาลเวลาและสถานที่ ที่ตรงไหนที่เรานึกถึงพระรัตนตรัย สถานที่ตรงนั้นเป็นอริยะ เป็นที่สว่างที่บริสุทธิ์เป็นแหล่งกำเนิดแห่งบุญกุศลขึ้นมาในใจของเรา

เพราะฉะนั้นเราหมั่นฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทั้งหลับตาลืมตา ทุกอิริยาบถ ทุกสถานที่ แม้ในห้องน้ำที่เราจะต้องไปขับถ่ายอาหารเก่า อาบน้ำอาบท่า ล้างหน้า แปรงฟัน ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง
ฝึกทุกวัน แล้วก็หมั่นสังเกตว่า เราวางใจอย่างไร นึกอย่างไร ประคองใจอย่างไร วันนี้ใจจึงอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างนิ่งๆ นุ่มๆ เบาสบายได้ต่อเนื่อง
หรือวันใดเราทำอย่างไรจึงได้ผลตรงกันข้าม สิ่งนี้ไม่มีใครทำแทนกันได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของเราเอง
เราต้องสังเกต ต้องแก้ไขและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดกาลเวลาและสถานที่

อย่าไปคอยความพร้อมแล้วจึงค่อยทำ เพราะความพร้อมในโลกมนุษย์นี้หาได้ยากอย่างยิ่ง
ความพร้อมอยู่ที่เราลงมือทำอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง ทำทุกสิ่งควบคู่กันไป ปัญหามีเราก็แก้ งานในชีวิตประจำวันเราก็ทำไป
บุญก็ต้องสร้าง สมาธิก็ต้องนั่ง ทำทุกสิ่งไปพร้อมๆ กัน
อย่าไปคอยให้ทุกสิ่งพร้อม เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย และความพร้อมจริงๆ หาได้ยากยิ่ง

แม้แต่บรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งพระองค์มีความพร้อมมากกว่าเราในทุกด้าน ท่านยังต้องสละทุกสิ่ง ปลีกวิเวกหาที่รื่นรมย์ในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าที่ท่านมีอยู่
ก็แปลว่า ความพร้อมอยู่ที่ใจ ท่านพร้อมลงมือทำทันที นับประสาอะไรกับเรา ซึ่งหยาบๆ นี้เราไม่มีความพร้อมเท่ากับท่าน
ดังนั้นเราก็ต้องทำควบคู่กันไป

เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ประคองใจไป นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆสบายๆ นึกถึงดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ ในกลางท้องของเราให้ต่อเนื่อง

บางครั้งใจแวบไปคิดเรื่องอื่นบ้างก็ช่างมัน เพราะเรากำลังเป็นนักเรียนใหม่ ยังฝึกฝนอยู่ กับเราไม่ค่อยจะให้โอกาสตัวเองนั่งนานๆ นิ่งนานๆ
เรานั่งบ้าง ไม่นั่งบ้าง มันก็นิ่งบ้าง ไม่นิ่งบ้าง
เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยประคองใจ ถ้ามันแวบไป เราก็ดึงกลับมาก็แค่นั้นเอง
และก็ประคองต่อไป หยุดใจไว้เรื่อยๆ

ใจที่ถูกส่วน
นึกถึงดวงหรือองค์พระให้ต่อเนื่อง นึกว่า “มีอยู่” และก็อยู่ตรง
นั้นอย่างเบาๆ สบายๆ แล้วเดี๋ยวก็ถูกส่วนเอง
ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราฝึกฝนบ่อยไหม

ถ้าฝึกฝนทุกวันมันจะค่อยๆ ปรับปรุงของมันเอง จนกระทั่งก้าวไปสู่ความถูกส่วน
ซึ่งตอนนั้นเราก็จะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า ถูกส่วนเป็นอย่างนี้
เพราะว่าเมื่อถึงตรงนั้นใจมันอยากจะอยู่อย่างนั้นนานๆ และก็ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเห็นหรือไม่เห็น

อยากอยู่กับอารมณ์อย่างนี้ พึงพอใจอย่างนี้นานๆ โดยไม่หวังสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทน อะไรจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ได้กังวล
จะมืดหรือสว่างก็ไม่กังวล จะมีภาพมาให้เห็นหรือไม่มีให้เห็นก็ไม่กังวล
สรุปว่าไม่กังวลกับอะไรทั้งสิ้น นั่นแหละถูกส่วน
และใจก็จะเริ่มรู้สึกนุ่ม ไม่กระด้าง
ความนุ่มของใจที่สัมผัสได้ เหมือนเราสัมผัสผ้านุ่มๆวัตถุที่นุ่มๆ แล้วเราก็มีความรู้สึกว่านุ่มๆ

ใจที่นุ่มนวล
ใจเมื่อนุ่มนวล เราก็จะรู้ด้วยตัวของเราเองว่าใจนุ่มนวลแล้ว
ถ้านุ่มนวล ใจก็จะนิ่งนาน นานขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
แล้วจะไม่สนใจสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังจากเพื่อนกัลยาณมิตรที่มาเล่าประสบการณ์ภายในของตัวเองหรือของคนโน้นคนนี้
เราจะไม่สนใจมากเกินไป สนใจแค่เป็นเพียงกำลังใจให้กับตัวเองว่า สักวันหนึ่งเราก็จะมีประสบการณ์ภายในเช่นเดียวกับเขา ที่จะนำมาเล่าเป็นธรรมทานแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์

ถึงตอนนั้นใจก็จะเริ่มนิ่ง นุ่ม นาน แล้วก็มีความสุขเล็กๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เขาเรียกว่า อทุกขมสุข คือ ไม่สุขแต่มันก็ไม่เป็นความทุกข์
มันจะเป็นกลางๆ เฉยๆ แต่ยังไม่มีความสุขอย่างที่เรายอมรับว่ามีความสุข

แต่ ณ จุดนั้น ถ้าเราประคองต่อไป จากอทุกขมสุขหรือไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ใจก็จะประณีตขึ้น เหมือนถูกกรองถูกกลั่นให้ละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ
ใจจะใสขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ความสุขก็จะเริ่มมา ในเบื้องต้น
จะรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ ไม่มีข้อจำกัดสำหรับกายมนุษย์ว่า จะต้องโตเพียงแค่นี้ มีขอบเขตเพียงแค่นี้ แต่ดูเหมือนเส้นรอบวงขอบเขตของกายถูกตัดออกไป

ถ้าเป็นบ้านก็เหมือนกับพังฝาออกไป แล้วก็จะค่อยๆ ขยายขึ้นไป กว้างขึ้น รู้สึกตัวโตขึ้น พองขึ้น ขยายขึ้น เบ่งบานขึ้น
ซึ่งความเบ่งบานของใจที่ขยาย มาพร้อมกับความสุขที่เราสัมผัสได้ และยอมรับว่า เออ เรามีความสุข ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเจอบ้างนิดหน่อยแล้ว
เหมือนไปเหยียบชานเรือนแห่งความสุข คล้ายๆ กับเราเข้าไปใกล้แหล่งน้ำตก หรือชายทะเล
เราได้ยินเสียงน้ำตก เสียงคลื่นกระทบฝั่ง แล้วมีความรู้สึกว่า เออ เราใกล้สิ่งนั้นเข้าไปแล้ว
ถ้าได้รับละอองน้ำกระเซ็นมาก็เริ่มมีความรู้สึกสดชื่นเล็กๆ ขึ้นมา
ความสุขภายในก็เช่นเดียวกัน มันก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์
สิ่งที่เราจะต้องทำมีเพียงอย่างเดิมอย่างเดียว คือ หยุดนิ่งนุ่มเบา สบาย เฉยๆ ไม่ว่าจะมีความสุขเพิ่มขึ้นแค่ไหนก็เฉยๆ
มีภาพมาปรากฏให้เห็นก็เฉยๆ มีแสงสว่างเกิดขึ้นก็เฉยๆ
อย่าไปแสวงหาคำตอบ ต้องหัดทำตัวเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ไม่มีมันสมอง คิดไม่เป็นวิเคราะห์ไม่เป็น วิจัยวิจารณ์ไม่เป็น นิ่งอย่างเดียว แช่อิ่มอยู่ในความสุขสบายนั้นไปเรื่อยๆ
อย่าเพิ่งไปอยากรู้อะไร ในเมื่อมันยังไม่ถึงเวลา อย่าเพิ่งไปชิงสุกก่อนห่ามในการเรียนรู้
เพราะเราเพิ่งจะฝึกให้ได้หยุดแรก และหยุดแรกเกิดขึ้นก็มีประสบการณ์ภายในระดับหนึ่ง
เหมือนเพิ่งเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ อย่าไปถึงขั้น Advance ว่า ทำไมไม่เรียก ก.ไผ่ ทำไมเรียก ก.ไก่ เพราะมันยังไม่ถึงเวลา

หน้าที่ของเราคือ นิ่ง นุ่ม เบา สบาย ผ่อนคลาย เฉยๆ
ไม่คิดอะไร ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์อย่างนั้นแหละ
นิ่งๆ มีอะไรให้ดู เราดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
เดี๋ยวเราจะสมปรารถนาในชีวิต ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อย่างที่มหาเศรษฐีของโลกไปไม่ถึง
ไม่มีอะไรที่จะง่ายไปกว่านี้ ที่ทำใจหยุดนิ่งนุ่มเบา สบาย ผ่อนคลาย มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
มีดวงมาให้ดู เราก็ดูดวง มีแสงสว่างมาให้ดู เราก็ดูแสง
ไม่ต้องไปคิดต่อว่าแสงมาจากไหน ใครเอาไฟมาส่องเรา เราลืมปิดไฟหรือเปล่า
ซึ่งมักจะเป็นกันเป็นส่วนมาก สำหรับนักเรียนใหม่ที่ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ไม่เป็น
ทำให้ใจต้องถอยหลังกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีก
ก็เท่ากับเราไปสกัดกั้นความก้าวหน้าของใจที่ต้องการความละเอียด ด้วยความขี้สงสัยของเรานั่นเอง

เมื่อมันยังไม่ถึงเวลาที่จะสงสัย เราก็อย่าเพิ่งไปทำตอนนั้น
แต่ถ้ามันถึงเวลาแล้ว เมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย ศึกษาวิชชาธรรมกายได้แล้ว ตอนนั้นแหละเราจะเริ่มเอาคำถามขึ้นมาใช้ถามกับเรา
อย่างเช่น ทำไมต้องเป็นดอกบัว ดอกบัวมีความเกี่ยวข้องกับความดีและพระพุทธศาสนาอย่างไร
ก่อนเรามาเกิดเรามาจากไหนอะไรอย่างนี้เป็นต้น

แต่ตอนนี้เราเป็นนักเรียนอนุบาล กำลังฝึกเรื่องหยุดนิ่ง
ซึ่งเราไม่เคยฝึกกันมาก่อนในชีวิต ก็ต้องให้มันเป็นไปตามขั้นตอนของการศึกษาเรียนรู้ชีวิตภายใน
มันมีความลับของชีวิตอีกเยอะแยะที่เราจะต้องเรียนรู้ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ด้วยว่าอะไรคือความลับของชีวิต
อีกมากมาย เวลาที่เหลืออยู่นี้เราก็ฝึกฝนกันไป ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
อาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก 1 บทที่ 11 www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก ความพร้อมไม่มีในโลก”

  1. นายนิติ นามสุวรรณ

    น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานทรงคุณค่า
    จากหลวงพ่อธัมมชโย#คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุครับ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *