วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก บ่มอินทรีย์

การนั่งสมาธิ จากหนังสือ ง่ายแต่ลึก ๓ บทที่ ๒๐ บ่มอินทรีย์
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จงหมั่นสำรวมไว้ อย่าพลั้ง
ใจนิ่งหยุดภายใน นั่นแหละ
จับบ่มอินทรีย์รั้ง เหนี่ยวให้พ้นดำ
ตะวันธรรม

       ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ
สบายๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์
ผ่องใส แล้วก็หยุดใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ใน
กลางท้องของเราอย่างสบายๆ
       จะตรึกนึกถึงดวงใส หรือองค์พระใสๆ ก็ได้นะ หรือภาพ
องค์พระกลางดวงแก้วก็ได้ หยุดเบาๆ หรือวางใจสบายๆ ให้
ใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไป

อย่ากดลูกนัยน์ตา อย่ากังวลศูนย์กลางกาย

       อย่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดูนะ ตาเราก็ยังอยู่ที่เดิม เพราะ
มันไม่เกี่ยวกับกายเนื้อ นัยน์ตาเนื้อ เราหลับแค่สบายๆ
ถ้ากังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มากเกิน
ไป ก็นึกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ขยายออกไป
สุดขอบฟ้า แล้วเราเข้าไปอยู่ตรงกลางแล้ว เป็น
ศูนย์กลางของสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ทำใจ
เราให้นิ่งๆ จะนึกว่าเราอยู่ในองค์พระ หรือองค์
พระอยู่ในตัวเราก็ได้

       ค่อยๆ ฝึกกันไปเรื่อยๆ ทุกวัน อย่าท้อนะ ต้องขยัน
ฝึกกันไป ยิ่งถ้าเราให้โอกาสกับตัวเราเอง ทำหยุดทำนิ่ง ทำ
ใจใสๆ ใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มากขึ้นไป
เรื่อยๆ แหละ

ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง

       นี่เป็นกิจสำคัญของเรานะ เป็นงานที่แท้จริงสำหรับการ
มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเวลาจะละโลกเขาตัดสินกันด้วยบุญ
ด้วยบาป ใครใจใสใจหมอง ถ้าผ่องใสไม่เศร้าหมองก็ไปสุคติ
โลกสวรรค์ ถ้าเศร้าหมองไม่ผ่องใสก็ไปอบาย จะมีภพภูมิที่
รองรับเราอยู่ แล้วแต่ละภพภูมิก็จะมีช่วงระยะเวลายาวนาน
มาก ถ้าสุขก็สุขนาน ถ้าทุกข์ก็ทุกข์นาน
       นี่เป็นเรื่องราวของชีวิต ชีวิตใหม่หลังจากตายแล้ว เพราะ
เราต้องตายกันทุกคน และเราก็เคยตายกันมาแล้วนับครั้งไม่
ถ้วน แต่เราก็ลืมไป พอมาเกิดใหม่ก็ลืมอีก แล้วก็ไม่อยาก
ตาย กลัวตาย

       ถ้ากลัวตาย ก็ต้องกลัวให้ถูกหลักวิชชา
คือ สั่งสมบุญกันไว้ทั้งทาน ศีล ภาวนา ทำให้
มากๆ แล้วความกลัวตายก็จะค่อยๆ ลดลงไป
เรื่อยๆ เพราะว่ากลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย แต่ว่า
เราก็มีความพร้อมที่จะตาย

       ยิ่งถ้าหากเราปฏิบัติธรรมได้เห็นดวงใส เห็นองค์พระ
ใสๆ ความตายนั้นก็ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวเท่าไร แม้กายหยาบ
จะทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากวิบากกรรมที่เรา
ทำไว้ในอดีตก็ตาม มันก็ทรมานได้แค่กายหยาบ แต่ว่าใจจะ
ผ่องใส เพราะว่ามีดวงธรรม มีองค์พระ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง
ที่ระลึก เป็นที่ยึดที่เกาะของใจ
       ใจมันจะใส แล้วก็จะดึงดูดทุกๆ บุญที่เราได้ทำผ่านมา
ซึ่งบางบุญเราก็นึกไม่ออก ลืมไปแล้ว แต่มันก็จะมาฉายให้
เห็นเป็นภาพ ที่เรียกว่า กรรมนิมิต ให้เราเห็นได้ชัดเจนด้วย
ตัวของเรา จะเป็นภาพที่ดีบังเกิดขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งความปีติ
ความปลื้ม ความผ่องใสของดวงจิต
       เพราะฉะนั้น คำว่า ที่พึ่งที่ระลึก มันลึกซึ้ง คือ พึ่งได้
ทั้งในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ พึ่งได้ในขณะที่กำลังจะหมดชีวิต
พึ่งได้กระทั่งตายแล้ว พึ่งได้ตลอดเวลาเลย คือไปถึงตรงนั้นนะ
ที่เราเข้าถึงดวงธรรม หรือองค์พระ ใจจะใส จะสบาย ความ
ทุกข์มันจะไม่แล่นกลับไป แม้ว่าภายนอกบางครั้งเราอาจจะ
อัตคัดขาดแคลนวัตถุสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ของกิน

ของใช้ แต่ว่าใจยังใสอยู่ แล้วเมื่อถึงตอนถอดกาย เราก็จะละ
จากโลกนี้ไปอย่างสง่างาม

บ่มอินทรีย์

       ปัจจุบันนี้เรายังมีกายมนุษย์อยู่ เราก็จะต้องใช้กาย
มนุษย์ของเรา และสิ่งที่เรามีอยู่นี้ทำแต่ความดีล้วนๆ ทั้ง
ทาน ศีล ภาวนา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็เป็นแค่ของอาศัยกัน
ชั่วคราวเท่านั้นแหละ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มันก็
ชั่วคราว เพราะฉะนั้นก็อย่าไปผูกพันอะไรกันมากมายนัก เอา
แค่ว่าพึ่งพาอาศัยไว้สร้างบารมีกัน ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้าน
ช่อง ที่ดิน รถรา สมบัติอะไรพวกนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ มัน
ชั่วคราวกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงทาง ถ้าหลงทาง
แล้วมันจะห่างไกลกัน
       การปฏิบัติธรรมทุกวันจะช่วยให้เรามาได้ถูกทาง แล้ว
หนทางที่ถูกนี้ก็จะค่อยๆ แจ่มแจ้งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเรา
ไม่ท้อกันเสียก่อน เราก็จะค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย
เหมือนเราค่อยๆ บ่มอินทรีย์ของเรา บ่มกาย บ่มวาจา บ่มใจ
บ่มศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นต้น
       ถ้าพูดง่ายๆ บ่มกายวาจาใจของเราให้ค่อยๆ แก่รอบ
ขึ้น บ่มไปเรื่อยๆ เหมือนการเร่งความสวยของเพชรพลอย
ด้วยความร้อนอย่างนั้นแหละ บ่มไป หรือเหมือนบ่มผลไม้
ให้สุกงอม

       เพราะฉะนั้น เราหลับตาแล้วยังมืดอยู่ ก็
อย่าไปคิดว่า ไม่ก้าวหน้า หรือไม่ได้อะไรเลย
เรากำลังบ่มอยู่ ค่อยๆ ทำไป มันก็ค่อยๆ คุ้น
ค่อยๆ ชำนาญไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ สาง
ค่อยๆ สว่าง ค่อยแจ่มแจ้งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเข้า
ถึงดวงธรรม องค์พระภายในได้เองในภายหลัง
ค่อยๆ บ่มไป

       ภายนอกเราก็ทำความดีไปเรื่อยๆ สิ่งไม่ดีเราก็ไม่ทำ
แล้วก็ทำใจให้ใสๆ
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก 3 บทที่ 20 www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก บ่มอินทรีย์”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *