วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก คลายความผูกพันใจจะอยู่กับตัวเข้าสู่ภายใน

ง่ายแต่ลึก เล่ม ๓ บทที่ ๒ : คลายความผูกพันใจจะอยู่กบตัวเข้าสู่ภายใน

คลื่นทะเลมุ่งขึ้น เนินไศล
ลูกธนูมุ่งพรูไป สู่เป้า
ฝนจากยอดดอยไหล มุ่งสมุทร
นักรบกล้ามุ่งเข้า กลางให้สุดสาย
ตะวันธรรม

เริ่มต้นให้ถูกต้องจะได้ไม่เสียเวลา
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ให้สังเกตให้ดีนะว่า ได้ทำตามนี้หรือเปล่า หลับตาเบาๆ พอสบายๆ คือ หลับอย่าบีบตา อย่าเม้มตา เหมือนปรือๆ ตาสักนิด ถ้าตรงนี้ได้ตรงอื่นก็ง่ายแล้ว

เราหลับตาเบาๆ สบายๆ กล้ามเนื้อบนใบหน้าก็จะผ่อนคลาย มันไม่ตึง ไม่เกร็ง ไม่เครียด ก็พลอยทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายผ่อนคลายไปด้วยทั้งเนื้อทั้งตัว บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ลำตัว ขา ถึงปลายนิ้วเท้า มันจะผ่อนคลายไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัวเมื่อเริ่มต้นได้ถูกต้องที่การหลับตา นี่สำคัญนะ

ตรงนี้อย่าฟังผ่าน เพราะได้ยินทุกวัน ทุกครั้ง ทุกอาทิตย์ เราเลยมองข้ามไป แล้วก็ทำให้เสียเวลาในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเวลายิ่งมีน้อยอยู่แล้ว และความตายไม่มีนิมิตหมาย เพราะฉะนั้นทำให้ถูกหลักวิชชาเสีย จะได้เข้าถึงเร็วๆ จะได้เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเรา จะได้อบอุ่นใจ มั่นใจสุขใจ และงานอะไรที่เกี่ยวกับการสร้างบารมีเราจะได้ทำกันต่อไปอย่างมีความสุข สนุกกับการสร้างบารมี เพราะฉะนั้นเริ่มต้นต้องให้ถูกต้องนะ

คลายความผูกพัน เอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว
แล้วก็รวมใจมาไว้กลางท้องกลางกายของเรา คือ ทำความรู้สึกว่าในกลางท้องของเรามีดวงใสๆ ใสเหมือนกับเพชร เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง เหมือนน้ำบ้างกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ที่เจียระไนแล้วเป็นอย่างดี แล้วเราก็นึกให้ต่อเนื่องอย่างสบายๆ

จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ ให้ใจอยู่กับบริกรรมทั้งสอง มันจะได้ไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ซึ่งการฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ทำให้เราไม่เจอความสุขที่แท้จริง กายมันก็ไม่เบา ใจก็ไม่เบา กายจะทึบ ตื้อๆ ตันๆ คับแคบ อึดอัด ไม่ขยาย เพราะฉะนั้น

วิธีที่จะทำให้กายเบา ใจเบา ขยาย ต้องเอาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หลักมีอยู่อย่างนี้

พิจารณาอย่างไรให้คลายความผูกพัน
เรามาสังเกตดูคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์สอนให้คลายความผูกพันจากสังขารทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง หรือพูดภาษาปัจจุบันก็คือ สิ่งมีชีวิตกับไม่มีชีวิตนั้น ให้คลายความผูกพัน อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น ผูกพันกับมันมากนัก เพราะไม่เกิดประโยชน์อันใด กายก็ไม่เบา ใจก็ไม่เบา ขยายก็ไม่ขยาย แสงสว่างภายในก็ไม่เห็น ก็จะดำเนินชีวิตได้ไม่ถูกต้อง

เราลองทบทวนดู ตั้งแต่ร่างกายเราออกไป จะพิจารณาจากข้างในออกไปข้างนอกก็ได้ หรือพิจารณาข้างนอกเข้ามาหาข้างในก็ได้

ข้างในเราก็ดูกายของเราเป็นเกณฑ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้งเนื้อทั้งตัวมันก็จะเสื่อมผุพังลงไป ไม่ว่าจะซ่อมแซมสร้างเสริมหรืออะไรก็แล้วแต่ สร้างเสริมขึ้นมามันก็ผุก็พัง แปลว่า มันไม่ยั่งยืน ไม่คงทน ล้วนไปสู่จุดสลาย จึงต้องคลายความผูกพัน ร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ เสื้อผ้า รองเท้า แว่นตา ปากกา เครื่องประดับ เพชรพลอยก็เหมือนกันล้วนผุพัง นี่เขาเรียกว่า พิจารณาจากข้างในไปข้างนอก

มาที่บ้านเราบ้าง ที่นอกเหนือจากเสื้อผ้า เครื่องประดับข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่ในตัวเรา ออกไปมันก็พัง บ้านเอย รถเอย ทรัพย์สินเงินทอง รั้วบ้าน เพื่อนบ้าน รถหน้าบ้านขยายไปเรื่อยๆ กระทั่งทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดประเทศ นานาชาติทั่วโลก จักรวาลต่างๆ ล้วนผุพังหมด

พระองค์สอนให้คลายความผูกพัน เพราะไปนึกถึงมันก็ไม่เกิดประโยชน์ เอาใจไปวนๆ อยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารอย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์ วนๆ แล้วก็หมดไปชาติหนึ่ง เราไปนึกถึงสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมันอยู่นอกตัวเรา ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กายมันไม่เบา ใจไม่เบา ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่สบาย ไม่ขยาย ไม่เห็นแสงสว่าง ไม่เห็นดวงธรรม ไม่เห็นกายในกายไม่เห็นพระรัตนตรัยในตัว นี่แหละ ๔๕ พรรษา พระองค์ก็ทรงสอนตอกย้ำเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเริ่มต้นอะไรก็จะมาลงตรงนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลายเป็นธรรมดา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็วนๆ กันอย่างนี้

พอเรานึกอย่างนี้บ่อยๆ ก่อนนั่งนาทีเดียวมันก็นึกจบแล้วว่า ทั้งหมดล้วนผุพังแม้แต่ร่างกายเรา เพราะฉะนั้นอะไรก็พังหมด ใจจะได้คลาย พอใจคลายความผูกพันจากภายนอก ซึ่งหลักใหญ่ๆ ก็มีสิ่งที่มารวมกันเป็นก้อน เป็นรูปเป็นร่าง เขาเรียก รูป เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง สัมผัสบ้าง ธรรมารมณ์อะไรต่างๆ เหล่านั้น หรือเรียกว่า เบญจกามคุณ

พอเราคลายความผูกพันจากสิ่งเหล่านั้น ใจก็จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว มาหยุดนิ่งๆ อยู่ภายใน พอหยุดนิ่งอยู่ภายในถูกส่วนเข้า ความสว่างก็เกิด รุ่งอรุณแห่งการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน แสงสว่างภายในก็เรืองรองสว่างไสวขึ้น ใจก็จะใสขึ้นไปเรื่อยๆ ใจใสจะมาพร้อมกับความรู้สึกที่ใสๆ คือ เกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่เป็นมลทิน เป็นบาปอกุศลธรรม เราจะรู้สึกเหมือนหลุดล่อนออกจากสิ่งที่ผิดพลาดผ่านมาอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปสารภาพบาปอะไรกับใคร รู้สึกบาปกรรมต่างๆ ถูกถอดออกไปเมื่อใจใส มันหยุด มันนิ่ง มันสว่าง แล้วก็จะเห็นไปตามลำดับ ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง ยิ่งดิ่งไม่หยุดไม่ยั้ง แล้วก็เกิดพลังในการสร้างความดี ใจก็จะละเอียดลุ่มลึกไปเรื่อยๆ

ยิ่งละเอียดก็ยิ่งบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จนกระทั่งเราเห็นความบริสุทธิ์ของใจเป็นดวงใสๆ ปรากฏเกิดขึ้นตรงกลาง เป็นความบริสุทธิ์ที่เห็นได้ ที่เลยความรู้สึกว่าบริสุทธิ์ มันจะเห็นแจ้งขึ้นมาว่า ‘อ๋อ ความบริสุทธิ์ของใจเป็นอย่างนี้’ จะเป็นดวงใสๆ ที่ประกอบด้วย เห็น จำ คิด รู้ รวมเป็นดวงเดียวกัน ซ้อนกันอยู่ ความรู้สึกว่า หลุดล่อนจากบาปจะเกิดขึ้น จะไปสารภาพบาปที่ไหนมันก็ไม่หมด ไปรำพึงรำพันให้ใครช่วยเรา ไม่ได้หรอก นอกจากเพ้อๆ ฝันๆ เลื่อนลอยกันไปตามสมมติฐานที่ตั้งเอาไว้

ทีนี้ มันเกิดขึ้นจริงในตัวเรา และเรารู้สึกขึ้นมาเองด้วยว่ามันบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นๆ เราก็หลุดล่อนไปเรื่อยๆ เหมือนมะขามหรือเหมือนเงาะที่เรารับประทาน เนื้อกับเปลือกมันไม่ติดกัน อันนี้ก็เหมือนกัน มันล่อนจากใจไป ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่งยิ่งดิ่งไม่หยุด

ทำไมนั่งแล้วตื้อๆ ตันๆ เหมือนจระเข้กบดาน
แต่บางทีก็มาสะดุดตรงนี้ คือ เราหยุดนิ่งได้ในระดับหนึ่ง ฟุ้งก็ไม่ฟุ้ง แต่ไม่มีอะไรใหม่ๆ มาให้ดู ทำไมมันนิ่งเฉยๆ เหมือนจระเข้กบดาน ตื้อๆ ตันๆ อย่างนั้น นั่นก็เพราะเรามีความตั้งใจมากเกินไป มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นอยากเห็นอะไรเกินไป

ความอยากเห็น เขาจะใช้ตอนก่อนนั่ง แต่เวลานั่งเขาใช้ความหยุด หยุดความอยาก อยากเป็นสมุทัย เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ แม้อยากจะเห็นธรรมะก็ตาม ซึ่งจิตเป็นกุศลธรรมแต่เจือไปด้วยโมหะ คือ ความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น
ประสบการณ์ภายในจึงไม่มีอะไรใหม่ให้ดู เพราะเรามีความอยากเข้าไปเจือโดยไม่รู้สึกตัว เพราะรู้ว่าถ้าเห็นธรรมะแล้วดีจะไปนรกไปสวรรค์ได้ ไปศึกษาเรื่องราวอะไรต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ไปรู้ไปเห็นได้ เราเลยอยากได้มากเกินไป เพราะความอยากแท้ๆ จึงทำให้แย่อยู่ทุกวัน

อย่าคิดว่าเรานั่งแล้วสูญเปล่า ไม่ก้าวหน้า
ต้องหยุดอย่างเดียว ไม่มีอะไรใหม่ หรือแม้มีอะไรใหม่ก็ต้องหยุดเฉยๆ ไม่มีอะไรใหม่ให้เราดู เราก็นิ่งเฉยๆ ช่างมัน ไม่ได้แปลว่า เรานั่งแล้วสูญเปล่า เสียเปล่า ไม่ก้าวหน้า นั่นเราคิดไปเอง

ทุกครั้งที่เรานั่งหลับตา ฝึกใจให้หยุดนิ่งความบริสุทธิ์จะถูกสั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย ใจจะถูกขัดเกลา กรอง แล้วก็กลั่นให้ใสขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เหมือนปลวกที่ขนดินเข้ามาก่อเป็นจอมปลวก เหมือนเรารดน้ำที่โคนต้นไม้ ต้นไม้เจริญขึ้นทุกวัน แต่เราสังเกตไม่ออกว่า มันโตขึ้นวันละเซ็นต์ หรือสองเซ็นต์ หรือไม่ถึงเซ็นต์ แต่เผลอประเดี๋ยวเดียว มันก็มีผลให้เราได้ชื่นใจ ได้ลิ้มรส

การทำสมาธิภาวนาก็เหมือนกัน เรามีหน้าที่คือ หลับตาเบาๆ ผ่อนคลายสบาย รักษาใจให้หยุดให้นิ่งเฉยๆ อย่าไปคำนึงถึงการเห็นหรือไม่เห็นเกินไป อย่าไปคำนึงถึงว่า มันต้องสว่าง มันไม่ควรมืด เรามีหน้าที่หยุด หยุดไปกระทั่งใจจะถูกส่วนไปเอง

คำว่า เอง ไม่ได้แปลว่า เราไปทำให้เกิดขึ้น มันจะถูกส่วนไปเอง แต่ถ้าเราฝึกบ่อยๆ จนเป็นวสี จนชำนาญ ตอนนี้เราทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ในขั้นตอนนี้เรายังไม่ชำนาญ ยังจับจุดไม่ได้ เราก็ยังทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่แปลว่า ไม่ได้อย่างถาวรตลอดกาลนาน ก็ไม่ใช่อย่างนั้น

เป็นแต่เพียงเราต้องปรับวิธีการ นึกทบทวนคำแนะนำต่างๆ ที่เราฟังผ่านๆ ไป หรือจำได้ชั่วคราว พอถึงเวลามีประสบการณ์อย่างนี้จริงๆ แล้วเราลืม อดจะลุ้น เร่ง เพ่ง จ้องไม่ได้ เราก็ต้องรีบแก้ไข เพราะมันไม่เกิดประโยชน์อันใดที่เราจะทำอย่างนั้น ก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ทำใจให้เหมือนเด็กๆ innocent ไม่ได้คิดอะไร ให้เริ่มต้นใหม่ก็เริ่มต้นใหม่ แล้วก็ฝึกการหยุดใจไปนิ่งๆ

เราอย่าไปปฏิเสธประสบการณ์ภายในในทุกๆ ประสบการณ์ อะไรเกิดขึ้นเราก็ต้องชื่นบานตลอด เป็นมิตรกับทุกๆ ประสบการณ์ แม้ความมืดภายใน หรือไม่มีอะไรใหม่มาให้ดู หยุดกับนิ่งอย่างเดียว

หยุดเป็นตัวสำเร็จ
เชื่อเถิดนะลูกนะ เพราะคำนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านกล่าวเอาไว้ ซึ่งถอดออกมาจากพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดาว่า สมณะหยุดแล้ว ในที่นี้หมายถึงหยุดใจภายในไม่ได้หมายถึงหยุดการเคลื่อนไหวของร่างกาย

เพราะฉะนั้น ก็ต้องหยุดอย่างเดียว นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เรานั่งอย่างนั้นไปก่อนให้มีปีติสุขกับการนั่ง ให้ถูกหลักวิชชาเดี๋ยวก็เห็นเอง เพราะสิ่งที่เราอยากจะเห็น มันมีอยู่แล้ว ทำถูกหลักวิชชามันก็เห็นความสุขกับการเห็นอยู่ในกำมือเรา ขอเพียงให้นั่งหลับตาทำให้ถูกหลักวิชชาเท่านั้นแหละ เดี๋ยวเราจะมีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางธรรม เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ ที่เงินซื้อไม่ได้ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้ เป็นความรู้สึกยิ่งใหญ่ที่ไม่ผยองแต่ว่าเยือกเย็น สุขใจ เบิกบานใจ มีแต่ความรักและหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งปวง

ฝึกตรงนี้ให้ได้นะ ฝึกหยุด ฝึกนิ่ง ฝึกให้ใจใสๆ ปรับให้ถูกหลักวิชชา ทบทวนตั้งแต่ปิดเปลือกตา เพราะหลับตาเป็นมันต้องเห็นภาพภายใน ไม่เห็นเป็นไม่มี ไม่เห็นเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ถ้าหลับตาเป็นนะ

หลับตาเป็น ผ่อนคลายสบาย หยุดใจนิ่ง เฉยๆ หลักการก็มีแค่นี้

มีอะไรให้ดู เราก็ดูไป มีความมืดให้ดูก็ดูไป มีความสว่างให้ดูก็ดูไป มีภาพอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเฉยๆ เรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น คือ ไม่ให้มีความคิดเลยแปลว่าเรากำลังเรียนแบบนักเรียนอนุบาล ไม่ใช่นักศึกษาปริญญาเอก ที่กำลังวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ประสบการณ์ภายในเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่ เรายังไม่ถึงตรงนั้น

เราอยู่ในระดับที่ว่า ฝึกหยุดให้มันเป็นในขั้นของอนุบาลและอนุบาลของชีวิตนี้ ถ้าหยุดเป็นแล้วถือว่าจบหลักสูตร ได้ดอกเตอร์ เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำให้เราได้ทุกสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากศึกษาเรียนรู้อะไรต่างๆ เหล่านั้น

นี่จ้ะ วิชชาชีวิตสำคัญมาก ที่เราต้องให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น สิ่งอื่นแค่เป็นเครื่องอาศัยชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็พลัดพรากกันไปเท่านั้น ไม่เราพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็พลัดพรากจากเราไปก่อน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง นี่เป็นปกติธรรมดาของชีวิตในทุกภพทุกชาติที่ผ่านมา แม้ในชาติปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างนี้แล้วใจจะใส ไม่ผูกพันกับสิ่งใด มันจะหยุดจะนิ่งอย่างเดียวและอย่างดีด้วย

หยุดนิ่งอย่างเดียวและหยุดอย่างดี ที่จะทำให้เราเข้าถึงความสุขภายใน ยืนยันพุทธพจน์ที่ว่า
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
ได้เป็นอย่างดีเลย
ฝึกทุกวัน ทุกอิริยาบถ ไม่ได้ไม่มี

เพราะฉะนั้น ฝึกตรงนี้นะ ฝึกทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด หยุดนิ่ง ลิ้มรส ขับถ่าย exercise เราก็ทำไปจนกระทั่งติดเป็นนิสัย จะไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป นอกจากคนตาย คนไม่ได้ทำ คนบ้าเท่านั้นเพราะเขาสูญเสียระบบประสาทการรับรู้ คนตายแล้วก็ทำไม่ได้

เรายังมีทุกอย่างที่สมบูรณ์หมดทั้งร่างกายและจิตใจ เรามี know-how มีวิธีการ ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ เรามีศูนย์กลางกายเรามีใจ เรามีประสบการณ์ภายในที่รอคอยเราอยู่ และเราก็ได้ยินได้ฟังเพื่อนนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาได้มาแบ่งปันประสบการณ์ภายใน เปิดเผยให้เราได้รับทราบทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทุกเพศทุกวัย ได้ยิน ได้เห็นจนเจนตาคุ้นหูอยู่แล้วเพราะฉะนั้นเราต้องได้อย่างแน่นอน ไม่ได้ไม่มี

พยายามฝึกไปนะ ในทุกอิริยาบถ ในทุกสถานการณ์ ดิน อากาศ ฟ้า จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เราจะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นคงทำได้ยาก เรามาปรับที่ใจของเราให้สามารถอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้แล้วจะมีสุข เหมือนจุดเย็นในกลางเตาหลอมนั่นแหละ จะมีความเย็นกายเย็นใจ สบายอกสบายใจ ซึ่งเป็นต้นทางที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ฝึกกันไปเรื่อยๆ

การหยุดใจเป็นการเชื่อมบุญเก่ากับบุญใหม่
การหยุดใจนี่ เท่ากับเราไปเชื่อมบุญเก่า ที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นบุญเล็ก บุญปานกลางบุญใหญ่ ทุกบุญในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ หรือในบารมี ๓๐ ทัศ ก็จะมาเชื่อมกันเป็นดวงบุญหนาแน่น ที่จะไปตัดรอนวิบากกรรมวิบากมารให้หมดสิ้นไป หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ในหลายๆ วิบากกรรม ที่เป็นผังสำเร็จติดตัวเรามา กับบุญนี้ก็จะได้ไปรื้อผังเก่า ตั้งผังใหม่ ออกแบบชีวิตให้เรามีรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติที่สมบูรณ์กว่าในภพนี้ชาตินี้ ที่จะเกื้อกูลต่อการสร้างบารมีของเราในภพชาติต่อไป แม้บุญนี้จะเชื่อมสายสมบัติในปัจจุบันที่เรากำลังสร้างบารมีอยู่ ให้มาติดอยู่ที่กลางกายเรา จะได้ไปดึงดูดทรัพย์หยาบมาให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน และในทุกสิ่ง ทุกข์โศกโรคภัยอะไรต่างๆ หนักก็เป็นเบา เบาก็เป็นหาย มันก็จะดีทั้งในปัจจุบันแล้วก็ในอนาคต

เพราะฉะนั้น ฝึกกันไปนะลูกนะ เวลาที่เหลืออยู่นี้ลูกก็ประคับประคองใจไป ฝึกไปให้หยุดนิ่งๆ อย่างเบาๆ สบายๆตามที่ได้แนะนำมาตั้งแต่เบื้องต้นนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก ๓ บทที่ ๒ www.dhamma01.com

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *