วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก การทำสมาธิไม่ยาก

วิธีนั่งสมาธิ จากหนังสือ ง่ายแต่ลึก ๒ บทที่ ๒๘ การทำสมาธิไม่ยาก
       ทุกทุกสิ่งมีอยู่แล้วในกลางกาย
แม้อารมณ์สบายที่กำลังแสวงหา
แค่ทำใจหยุดนิ่งนิ่งเดี๋ยวก็มา
เชื่อเถิดหนามันเหลือเชื่อแต่เป็นจริง
ตะวันธรรม

       ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ อากาศกำลังดี เดี๋ยว
ตั้งใจนั่งกันให้ดีทุกคนเลย หลับตาเบาๆ สบายๆ แล้วก็เอาใจ
หยุดไปนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางท้องของเรา เหนือ
สะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ ให้วางเบาๆ สบายๆ

วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา

       บางท่านเริ่มต้นยังไม่คุ้นเคยกับการวางใจไว้ตรงกลางกาย
ฐานที่ ๗ เราจะเริ่มต้นตรงไหนก่อนก็ได้ ตรงที่เรามีความรู้สึกว่า
สบาย ที่เราจะไม่ต้องกดลูกนัยน์ตาลงไปดู เพราะบางคนเป็น
อย่างนั้น เราอาจจะทำใจนิ่งเฉยๆ โดยไม่คำนึงถึงศูนย์กลางกาย
ฐานที่ ๗ อย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แต่เรารู้ว่าเป้าหมายตอนสุดท้าย
จะต้องมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะพระรัตนตรัย
อยู่ตรงนั้น นี่สำหรับบางท่านที่ชอบกดลูกนัยน์ตาไปดูก็ต้องแก้
ด้วยวิธีอย่างนี้
       เช่น อาจจะเริ่มต้นที่ ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้าย
ชายขวา ตรงนั้นไปก่อนก็ได้
       หรือฐานที่ ๒ ตรงหัวตา หญิงซ้าย ชายขวา รู้สึกตรงนี้
จะง่ายกับหลายๆ ท่าน เราจะนิ่งตรงนี้ไปก่อนก็ได้
       หรือใครถนัดฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ เราก็ช้อนตาเหลือก
ค้างขึ้นไป แล้วก็ปล่อยตาเป็นปกติ ตรงนี้จะยากสักนิดหนึ่ง สำหรับ
ผู้ไม่คุ้นเคยนะ
       หรือจะเลื่อนลงมาที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
(ฐานที่๔)
       หรือมาที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก (ฐานที่๕)
       หรืออยู่กลางท้องระดับสะดือ คือ ฐานที่ ๖
       หรือยกสูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานที่ ๗
       เราก็ลองสำรวจทบทวนดูสักฐานหนึ่งใน ๗ ฐานว่า เราถนัด
อย่างไหน เอาอย่างนั้นไปก่อน ไม่ได้ผิดหลักวิชชา เพราะเรา
รู้เป้าหมายแล้วว่า เราจะไปที่ตรงไหน เหมือนเราอยู่กันคนละ
ทิศละทาง ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ภาค
กลาง แต่เราอยากจะมาวัดพระธรรมกาย จะเริ่มตรงไหนก่อน
ก็ได้ แต่เป้าหมายสุดท้ายเราก็มาวัดพระธรรมกาย
       หรือจะวางใจนิ่งๆ โดยไม่คำนึงถึงฐานก่อนก็ได้ ให้รู้สึกว่า
สบาย เบิกบาน จะนึกนิมิตเป็นภาพ หรือไม่นึกก็ได้ เราก็
เลือกเอา
       ในเบื้องต้นให้ทำอย่างนี้นะ เพื่อให้มีความรู้สึกว่า การทำ
สมาธิไม่ใช่ของยาก อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ให้เกิดความรู้สึกอย่าง
นี้ไปก่อน พอใจมันนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม สบ๊าย สบาย
อาจจะมีสักแวบหนึ่ง ไม่ถึงนาที รู้สึกตัวมันโล่ง ขยาย หรือ
ตัวหายไป หรือตัวเบาๆ ลอยๆ อ้ะ อย่างนี้ใช้ได้แล้ว แม้ครั้ง
นั้นได้ไม่ถึงนาที หรือได้แค่นาทีเดียวก็คุ้มแล้วกับที่เราได้ลงทุน
นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา
       แล้วก็ทบทวนดูว่า เราทำอย่างไรถึงได้อย่างนั้น เราก็ทำ
อย่างนั้นอีก มันก็จะไปเป็นอย่างนั้นอีก แล้วจาก ๑ นาที ก็ขยาย
มาเป็น ๒ นาที ๓ นาที ขยายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราคุ้นเคย
ชำนาญขึ้น คล่องขึ้น ก็จะไปสู่จุดนั้นได้เร็วขึ้น ซึ่งบางครั้งเรา
นั่งชั่วโมงหนึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ฟุ้งไปตั้ง ๕๐ กว่านาที มา
ได้ตอนท้ายๆ ชั่วโมง แต่พอเราทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จะไปถึง
จุดนั้นได้เร็วเข้า จาก ๕๐ นาที ก็เหลือ ๔๐ นาที ๓๐ นาที ๒๐
นาที ๑๐ นาที กระทั่งไม่ถึง ๑๐ นาที ก็จะถึงตรงนั้น ขึ้นอยู่กับ
เราทบทวนดูว่า เราทำอย่างไร ก็ให้ทำอย่างนั้นบ่อยๆ
       ข้อสำคัญ อย่าไปลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ไปกำกับ ไปบังคับ ให้
หมั่นศึกษา ฝึกฝน และทำความเข้าใจในการทำสมาธิให้ดี แล้ว
เราจะรู้สึกว่า การทำสมาธิไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่อยู่ในวิสัยที่
เราทำได้ แต่เราไม่ได้ทำ แล้วก็คิดกังวลไปก่อนล่วงหน้าทั้งนั้น
       การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องยากคล้ายๆ กับเรานึกถึงเรื่อง
อะไรที่สนุกๆ และเราเพลินๆ ไปในเรื่องนั้น แต่นั่นเพลิน
ไปเรื่อยเปื่อย แต่การทำสมาธิเราต้องการเพลินในอารมณ์
เดียว ซึ่งอารมณ์ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักว่า
ต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ก็จะเข้าถึงปฐมฌาน ที่
ประกอบไปด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อถึงตรงนี้แล้ว
ปีติจะซาบซ่านไปทั่วทั้งเนื้อทั้งตัว ทุกขุมทุกขน ไม่มีส่วนใดของ
ร่างกายที่ความปีติจะแผ่ไปไม่ถึง นั่นเป็นหลักวิชชา
       เพราะฉะนั้น ต้องสงัดจากกาม และสงัดจากอกุศลธรรม
คือ ใจต้องหยุดนิ่งอย่างสบายๆ ดังกล่าว ลองดูนะ
       ลองนิ่งๆ เฉยๆ เบาๆ หลับตาก็แค่ปรือๆ ตาไม่ถึง
กับปิดสนิท และก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ใจนิ่งๆ เย็นๆ
ไม่มีความคิดอะไร นิ่งเฉยๆ เหมือนไม่ได้ทำอะไร แล้วเดี๋ยวมัน
จะถูกปรับของมันไปเอง ปรับให้นิ่ง แล้วจะดิ่งเข้าไปเอง
       ในกรณีที่นิ่งได้ระดับหนึ่งแล้วภาพเกิดขึ้น เราก็ต้องเฉยๆ
อย่างเดิม อย่าไปตื่นเต้นดีใจจนเกินขนาดให้ระงับความตื่นเต้น
เอาไว้ แต่ถ้าระงับไม่อยู่ก็ช่างมัน ยอมให้ตื่นเต้นสักพักหนึ่ง
เพราะมันก็น่าตื่นเต้นเนื่องจากเราไม่นึกว่า คนอย่างเราจะเห็น
แสงสว่างภายใน เห็นดวงใส องค์พระใสๆ มันก็น่าตื่นเต้น
แต่ความตื่นเต้นก็มีข้อเสียทำให้ภาพที่เราเห็นมันหายไป
       เราก็ต้องเลือกดูว่า ระหว่างเรายอมไม่ตื่นเต้นกับยอมตื่น
เต้น เราควรจะเลือกอันไหน ซึ่งนั่งในคราวถัดๆ ไป เราจะเลือก
ได้ว่า เราเลือกขอไมตื่นเต้นดีกว่า เพราะจะทำให้แสงสว่างก็ยังอยู่
ดวงใสๆ ก็ยังอยู่ หรือองค์พระใสๆ ก็ยังอยู่ หรือบางทีเห็น
ตัวเอง ตัวเราเองก็ยังอยู่
       ทันทีที่เรานั่งหลับตาเบาๆ ขัดสมาธิ คู้บัลลังก์ กายตั้งตรง
เท่ากับเรากำความสำเร็จที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ล้านเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้เราเพียงได้นั่งหลับตา
นิ่ง สบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดอะไร ทำเฉยๆ แล้วเดี๋ยวมัน
ก็จะเข้าไปสู่ตรงนั้น
       ในกรณีที่เราจะพูดถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ประณีต
เหนือธรรมชาติ เรามักจะเข้าใจว่า มันเอื้อมไม่ถึง มือมันสั้น
แต่ความจริงมันเหมือนเส้นผมบังภูเขา เส้นผมบังลูกนัยน์ตาเรา
ทำให้มองไม่เห็นภูเขาลูกโตๆ เช่นเดียวกัน “หยุด” อย่างเดียว
นี่แหละที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ภายใน บางทีเราไม่
ค่อยจะเชื่อว่า เอ๊ะ! มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ความจริง
เป็นอย่างนั้น

       ธรรมะเป็นของลึกซึ้ง จะเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ
ถ้าทำถูกหลักวิชชา คือทำให้ง่ายๆ มันก็จะ
ง่าย ถ้าทำของง่ายให้ยาก มันก็ยาก ยากง่าย
ก็อยู่ที่เรานี่แหละ จะทำให้ยากก็ได้ ทำให้ง่าย
ก็ได้ เราจะไม่พูดถึงเลยว่าบุญเราถึงหรือไม่ถึง
ถ้าบุญไม่ถึงเราก็มาไม่ถึงตรงนี้ เหลือแต่ว่าทำ
ถูกวิธีหรือเปล่า สติ สบาย สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
กันไหม ถ้าต่อเนื่องก็ได้

       บ่ายนี้อากาศกำลังดี กำลังสบาย เราลองวางใจนิ่งๆ ดู
สำหรับผู้ที่ถนัดในการนึกภาพก็นึกไป ถ้านึกแล้วสบาย จะเป็น
องค์พระแก้วใสๆ หรือองค์พระองค์ใดองค์หนึ่งที่เราคุ้นเคย
ก็ได้ องค์ใหญ่ องค์เล็ก รูปร่างลักษณะหลากหลายอย่างไร
ก็เอาเถอะ นึกเอา ไม่ชัดไม่เป็นไร เราต้องการความนิ่ง ให้ใจ
มีพระเป็นอารมณ์ ไม่เกี่ยวกับชัดหรือไม่ชัด แต่ว่าเป็นความ
รู้สึกว่า มีพระในตัว หรือพระครอบตัวเรา หรือเราเป็นพระก็ได้
เพื่อใจจะได้นิ่ง
       หรือจะเป็นดวงใสๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
เพชรสักเม็ด ดวงแก้วกลมเหมือนลูกปิงปองอย่างนั้นนะ นึกเอา
อย่างเดียว แล้วบางทีนึกดวงแก้วแต่ว่าเห็นองค์พระขึ้นมา หรือ
นึกองค์พระกลับเห็นดวงแก้ว หรือเป็นอย่างอื่น ภาพอะไรเกิด
ขึ้นก็ช่าง เราก็ดูเฉยๆ ดูอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะ
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

โอวาท หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา หนังสือง่ายแต่ลึก ๒ บทที่ ๒๘  www.dhamma01.com

1 thought on “วิธีนั่งสมาธิ ง่ายแต่ลึก การทำสมาธิไม่ยาก”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *