มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย – มหาสมุทรแห่งคุณธรรม

มงคลที่ ๒๘ เป็นคนว่าง่าย – มหาสมุทรแห่งคุณธรรม

ในชีวิตของนักสร้างบารมี การมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือ ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าเราเป็นคนว่าง่าย อดทนต่อคำตักเตือนสั่งสอน และปฏิบัติตามคำสอนของผู้มีคุณธรรมนั้น ด้วยความเคารพอ่อนน้อม จะส่งผลให้ชีวิตของเราเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้สม่ำเสมอ เพื่อจิตใจของเราจะได้ผ่องใส แล้วจะเป็นคนว่าง่าย พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมที่สูงยิ่งๆขึ้นไปจากกัลยาณมิตร

มีพระบาลีว่าไว้ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า…

ปาปมิตฺเต วิวชฺเชตฺวา ภเชยฺยุตฺตมปุคฺคเล
โอวาเท จสฺส ติฏฺเฐยฺย ปตฺเถนฺโต อจลํ สุขํ

ผู้ปรารถนาความสุขที่มั่นคง พึงเว้นมิตรชั่วเสีย
พึงคบบุรุษผู้สูงสุด และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน

คนว่าง่ายมีความเคารพเชื่อฟัง และตั้งอยู่ในโอวาทของผู้มีคุณธรรม ย่อมจะได้รับการถ่ายทอดคุณงามความดี จะเป็นที่มานอนแห่งสิริมงคลทั้งปวง โสวจัสสตา คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย จะเกิดขึ้นกับเราได้ก็ต่อเมื่อเรามีความสำนึกอยู่เสมอว่า ยังมีสิ่งที่เราจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองอีกมาก แล้วหมั่นสังเกต หมั่นแสวงหาความรู้ และคุณธรรมจากผู้อื่นอยู่เสมอ เมื่อพบแล้วก็ยินดีให้ท่านผู้รู้แนะนำสั่งสอน โดยไม่มีจิตเพ่งโทษ ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง หรือทำให้ท่านเกิดความขัดเคือง แต่ให้ตระหนักในความมีเมตตา และความเสียสละของท่านที่ช่วยแนะนำสั่งสอนให้เราเป็นคนดี

ความเป็นคนว่าง่าย เป็นทางมาแห่งความเจริญ และเป็นคุณธรรมของคนทุกระดับชั้นและทุกวัย ถ้าเราเป็นผู้น้อย เมื่อผิดพลาดก็จะมีผู้ใหญ่คอยตักเตือน ถ้าเป็นผู้เสมอกัน เพื่อนๆก็กล้าชี้แนะ แม้เป็นผู้ใหญ่ ถ้าหากฝึกเปิดใจให้กว้าง ทำใจให้กล้า รู้จักรับฟังเหตุผลของผู้น้อยที่แนะนำด้วยความปรารถนาดี ก็จะมีแต่ความเจริญ นับว่ามีสิริมงคลติดตัว ความเป็นคนน่ารักก็จะบังเกิดขึ้น

*เหมือนในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งอุปสมบทได้ ๕พรรษา เมื่อเรียนกัมมัฏฐานแล้ว ท่านได้ลาอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า พอครบ ๓เดือน ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษอะไร จึงเกิดความท้อแท้ใจเลยละทิ้งความเพียรแล้วเดินทางกลับ ไม่ปฏิบัติตามโอวาทของอุปัชฌาย์อาจารย์ เมื่อพระอุปัชฌาย์ทราบเข้า จึงมาให้กำลังใจ และก็ได้พาท่านไปเข้าเฝ้าพระศาสดา พระบรมศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุรูปนี้ในอดีตชาติเคยเป็นคนว่าง่าย และอยู่ในโอวาทของพระองค์มาก่อน จึงตรัสว่า…

“ภิกษุ…ทำไมเธอถึงได้ทอดทิ้งความเพียรเสียเล่า ผลอันเลิศในพระศาสนานี้ คือ พระอรหัตตผล ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน มีแต่ผู้ที่มีความเพียรเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์บรรลุธรรมได้ ในอดีตเธอเองก็เคยเป็นคนมีความเพียร อดทนต่อโอวาทของครูบาอาจารย์ ดังนั้นแม้จะเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาโอรส ๑๐๐พระองค์ของพระเจ้าพาราณสี ในที่สุดเธอก็ยังได้เป็นพระราชา”

แล้วพระองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังว่า พระภิกษุรูปนี้เคยเกิดเป็นโอรสองค์สุดท้องของพระเจ้าพาราณสีชื่อ สังวรกุมาร เป็นคนว่าง่าย เชื่อฟังคำแนะนำของพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ ได้ทรงผูกใจของมหาชนด้วยการบำเพ็ญสังคหวัตถุธรรม จนเป็นที่รักของทุกคน เมื่อพระเจ้าพาราณสีใกล้จะสวรรคต พระองค์ได้ตรัสกับเหล่าอำมาตย์ว่า “โอรสทุกพระองค์ มีสิทธิ์เป็นเจ้าของเศวตฉัตรทั้งนั้น แต่ใครครองใจพวกท่านได้ ก็จงให้เศวตฉัตรแก่ผู้นั้น”

เมื่อพระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้ว พวกอำมาตย์ก็ประชุมกัน และต่างก็เห็นตรงกันว่า พระโอรสองค์สุดท้อง คือ สังวรกุมาร ครองใจประชาชนได้มากกว่าใคร จึงพร้อมใจกันยกเศวตฉัตรให้ ฝ่ายพระกุมารอีก ๙๙พระองค์ ซึ่งประทับอยู่ในชนบทที่พระบิดาประทานให้ เมื่อทราบข่าวแล้ว จึงปรึกษากันว่าจะรวมตัวกันยกเศวตฉัตร ถวายแด่เชษฐาองค์โตแทน ดังนั้น…ได้พากันไปล้อมพระนครไว้ แล้วส่งหนังสือถึงพระเจ้าสังวรว่า จงคืนเศวตฉัตรมา มิฉะนั้นก็จะต้องรบกัน

พระเจ้าสังวรตรัสถามอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า ควรทำอย่างไรดี พระโพธิสัตว์กราบทูลแนะนำ ให้แบ่งราชสมบัติเป็น ๙๙ส่วนถวายแด่เจ้าพี่ทั้งหมด แล้วส่งสาสน์เชิญให้มารับ เพราะไม่มีความประสงค์จะรบ

พระเชษฐาองค์โตพระนามว่า อุโบสถกุมาร พอได้รับสาสน์แล้ว ก็เรียกน้องๆมาตรัสว่า “น้องเล็กของเราไม่ได้ตั้งตนเป็นศัตรู และยังมอบราชสมบัติให้แก่พวกเราทุกคนด้วย แต่พวกเราจะครองเศวตฉัตรพร้อมๆกัน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น พวกเราจงให้เศวตฉัตรแก่น้องเล็กองค์เดียวเถิด” แล้วทั้งหมดก็เดินทางไปมอบราชสมบัติคืน

เมื่อเสด็จไปถึง เจ้าชายอุโบสถได้ทอดพระเนตรเห็นสิริราชสมบัติของพระอนุชา และได้ทรงใคร่ครวญถึงความประสงค์ของพระบิดาแล้ว จึงทูลถามพระเจ้าสังวรว่า “น้องพี่…เจ้ามีศีลาจารวัตรข้อไหน จึงสถิตอยู่เหนือพี่ๆ และด้วยศีลาจารวัตรข้อไหน หมู่ญาติทั้งหลายที่มาประชุมกันจึงไม่ย่ำยีข่มเหงเจ้า”

พระเจ้าสังวรตรัสตอบว่า “หม่อมฉันไม่ได้ริษยาสมณะทั้งหลาย มีแต่นอบน้อมท่านด้วยความเคารพ สมณะเหล่านั้นจึงพร่ำสอนหม่อมฉัน หม่อมฉันฟังคำของสมณะแล้ว ก็ไม่เคยดูหมิ่น ใจของหม่อมฉันยินดีในธรรม เจ้าหน้าที่พนักงานแผนกต่างๆ หม่อมฉันก็ไม่เคยตัดเบี้ยเลี้ยง และไม่ได้ตัดบำเหน็จบำนาญให้ลดลง อำมาตย์ผู้ใหญ่ และข้าราชการผู้มีความสามารถของหม่อมฉันมีอยู่ และได้ช่วยกันบำรุงพระนครให้สมบูรณ์ แม้พวกพ่อค้าที่มาจากต่างเมือง หม่อมฉันก็ช่วยจัดการอารักขาให้เขาเหล่านั้น”

อุโบสถกุมารได้สดับคุณของพระเจ้าสังวรแล้วจึงตรัสว่า “ดีแล้ว น้องได้ปกครองราชสมบัติและหมู่ญาติโดยธรรม เป็นผู้มีพระปรีชาสามารถ ได้เกื้อกูลต่อพระประยูรญาติ ดังนั้นศัตรูทั้งหลายก็จะไม่มาเบียดเบียน”

พระเจ้าสังวรได้ทรงประทานยศใหญ่แก่เจ้าพี่ทุกๆพระองค์ เจ้าพี่เหล่านั้น ประทับอยู่ในราชสำนักถึงครึ่งเดือน ก่อนจะกลับก็ทูลว่า “เจ้าพี่ทุกองค์จะคอยระวังพวกโจรในชนบทให้ ขอพระองค์จงเสวยสุขในราชสมบัติเถิด”

เพราะพระเจ้าสังวรมหาราช ได้ดำรงอยู่ในโอวาทของมหาอำมาตย์โพธิสัตว์ ตลอดพระชนมายุของพระองค์ จึงเสวยราชสมบัติอย่างมีความสุข เมื่อละโลกแล้ว ก็เสด็จไปสู่สุคติโลกสวรรค์

เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระบรมศาสดาก็ตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า “ภิกษุ…ในกาลก่อนเธอก็เคยเป็นคนว่าง่าย แต่บัดนี้ทำไมเธอจึงไม่ปรารภความเพียรเล่า” แล้วทรงแสดงอริยสัจ๔ ภิกษุรูปนั้นได้สติ และปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ใจหยุดนิ่งเข้าไปตามลำดับ จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ความเป็นคนว่าง่าย จะเป็นทางมาแห่งความสุขความเจริญ และคุณธรรมความดีทุกอย่าง เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรม เพราะฉะนั้นให้พวกเราทุกคน ฝึกที่จะลดตัวของเราลงต่ำ เพื่อยกใจให้สูงขึ้น เหมือนมหาสมุทรเป็นที่รองรับแม่น้ำทุกสายที่ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ให้คำแนะนำของยอดกัลยาณมิตรได้มาช่วยเติมส่วนที่พร่อง และเสริมให้เราเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมของยอดนักสร้างบารมีที่จะมุ่งไปสู่พระนิพพาน ให้ฝึกฝนความเป็นคนว่าง่าย ควบคู่กับการฝึกทำใจหยุดใจนิ่ง จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

*มก. สังวรชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๘๕

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/4162
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *