มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๒)

มงคลที่ ๖ ตั้งตนชอบ – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (๒)
 
        คนพาลทำกรรมชั่วที่มีผลเผ็ดร้อน แล้วเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นไม่ดี ไม่ควรกระทำ  ส่วนบุคคลใดทำกรรมใดแล้ว มีหัวใจแช่มชื่นเบิกบาน ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้น เป็นความดี ควรทำ

        กิเลสเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานในสังสารวัฏ คอยบังคับบัญชาทำให้มนุษย์มีจิตใจตกต่ำ เป็นสาเหตุให้โลกเกิดความรุ่มร้อน ฉะนั้นวิธีการคุ้มครองโลกให้ได้รับความร่มเย็น ต้องเริ่มด้วยการคุ้มครองใจของตนเองก่อน โดยกำจัดกิเลส  อาสวะที่หมักดองอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป การทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย จะทำให้จิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์ อาสวกิเลสจะค่อยๆ หลุดร่อนออกจากใจ หากทุกคนในโลกเข้าถึงพระธรรมกาย ใจจะได้รับการคุ้มครองด้วยพระธรรมกาย เมื่อนั้นโลกภายนอก จะได้รับการคุ้มครองตามไปด้วย ภัยทั้งปวงย่อมจะหมดสิ้นไป โลกนี้จะสดใส ถ้ามนุษย์ในโลกเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน

มีอมตวาจาที่เขมเทพบุตรกล่าวไว้ใน เขมสูตร ว่า
“ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ          ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
ยสฺส ปติโต  สุมโน         วิปากํ ปฏิเสวติ
        คนพาลทำกรรมชั่วที่มีผลเผ็ดร้อน แล้วเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นไม่ดี ไม่ควรกระทำ ส่วนบุคคลใดทำกรรมใดแล้ว มีหัวใจแช่มชื่นเบิกบาน ไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้น เป็นความดี ควรทำ”
       
คนพาล คือ คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ แม้จะมีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถ เรียนจบจากสถาบันการศึกษาสูงแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้ายังทำบาปอกุศล ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนพาล ลักษณะของคนพาล คือ คิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วเป็นประจำ ความไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของคนพาล เหมือนเด็กไร้เดียงสา ที่ไม่รู้ว่าไฟฟ้านั้นมีอันตราย เอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ  เมื่อถูกไฟดูด จึงรู้ซึ้งถึงพิษภัยของไฟฟ้า แต่กว่าจะรู้ตัว ก็ถูกไฟดูดเสียแล้ว

      ความทุกข์ที่เกิดจากถูกไฟดูด อย่างมากก็ถึงตายในภพชาตินี้เท่านั้น แต่ผู้ทำบาปอกุศลไว้ กรรมนั้นจะตามไปเป็นอุปสรรคให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งกายและใจ เดือดร้อนต่อในทุคติภูมิเป็นเวลายาวนานอีกหลายภพหลายชาติ เพราะคนทำบาปอกุศลอยู่เป็นประจำ จิตจะเศร้าหมอง เมื่อยามละโลก ภาพของบาปอกุศลจะมาปรากฏให้เห็นเป็นกรรมนิมิตและคตินิมิต  เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แม้หมู่ญาติจะพยายามสวดมนต์อ้อนวอน ย่อมไม่อาจทำให้ผู้ล่วงลับที่ไปสู่อบาย กลับไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำ แล้วสวดอ้อนวอนให้ก้อนหินลอยขึ้นมา ก้อนหินก็ไม่อาจลอยขึ้นมาได้ฉะนั้น

       ส่วนผู้สั่งสมแต่บุญกุศลเป็นประจำ จิตจะผ่องใส มีแต่ความสุขความปีติเบิกบานใจ ทุกครั้งที่นึกถึงบุญที่ตนเคยทำไว้ ผู้รู้ทั้งหลายต่างอนุโมทนา กิตติศัพท์ชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมเป็นที่รู้จักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย  เมื่อละจากโลกนี้ ย่อมไปสบาย มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่พักกลางทาง เมื่อถึงเวลาจะกลับลงมา สร้างบารมีใหม่ เหมือนเนยใสที่บุคคลเทลงไปในน้ำ ย่อมไม่จมน้ำ มีแต่จะลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ฉันใด ผู้สั่งสมบุญไว้ดีแล้ว ย่อมไม่จมลงไปสู่อบาย ฉันนั้น

    *สำหรับตอนนี้จะได้ติดตามเรื่องราวของผู้ที่ทำทั้ง   บุญและบาป ต่อจากตอนที่แล้วว่าชายหนุ่มผู้มีภรรยาสวย ถูกพระราชากลั่นแกล้ง รับสั่งให้ไปนำดินสีอรุณ และดอกบัวแดงกลับมาให้ทันก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เขารีบออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อไปถึงสระโบกขรณี อมนุษย์ที่รักษาสระโบกขรณีเห็นเขาแล้วเกิดความกรุณาแปลงเป็นมนุษย์เข้าไปหา เมื่อทราบเรื่องราวของชายหนุ่ม จึงอนุญาตให้เขานำดินสีอรุณและดอกบัวแดงไปได้ตามชอบใจ

      เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว เขารีบเดินทางกลับทันที จนมาถึงประตูเมืองตั้งแต่ยังไม่สิ้นแสงตะวัน แต่เข้าเมืองไม่ได้ เพราะทหารปิดประตูเมืองก่อนเวลา เมื่อเข้าเมืองไม่ได้ จึงเดินวนเวียน ไปมาด้วยความกระวนกระวายใจ ขณะนั้นเองเขาเหลือบไปเห็นหลานชายของพ่อค้า ที่ถูกเสียบอยู่บนหลาวใกล้ประตูเมือง จึงเดินเข้าไปทักทาย เล่าเรื่องของตนให้ฟัง และขอความช่วยเหลือ ให้เป็นพยานให้ตนด้วย

      หลานพ่อค้าผู้ถูกเสียบอยู่บนหลาวกล่าวว่า “เราถูกหลาวเสียบอยู่เช่นนี้ จะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้ จะเป็นพยานให้ท่านได้อย่างไร เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในตอนเที่ยงคืน จะมีเปรตตนหนึ่งเหาะมาหาเราทุกคืน ท่านจงรออยู่บริเวณนี้ จะได้ขอร้องให้เปรตตนนั้นช่วยเป็นพยานให้”

     แม้บุรุษหนุ่มจะไม่ค่อยเชื่อ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงเดินไปเดินมาอยู่ในที่นั้น  ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยาม เขาเห็นเปรต    ขี่ม้าขาวเหาะมาในตอนเที่ยงคืน แม้จะกลัวเปรตมาก แต่ดูเหมือนจะกลัวความตายมากกว่า จึงเดินเข้าไปขอร้องให้เปรตช่วยเป็นพยานให้ เปรตรู้สึกสงสาร จึงยอมตกลงเป็นพยานให้

    รุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้ชายหนุ่มเข้าเฝ้าโดยด่วน พลางตรัสว่า “เจ้าฝ่าฝืนราชอาชญา เพราะฉะนั้นเราจะลงราชทัณฑ์แก่เจ้า”  ชายหนุ่มรีบชี้แจงว่า ตนมาถึงก่อนที่พระอาทิตย์ จะตกดิน แต่ประตูเมืองได้ปิดก่อนเวลา ทำให้เข้าเมืองไม่ได้

        พระราชาตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้ามีพยานไหม”  เขารีบทูลว่า “มีพระเจ้าข้า มีเปรตเปลือยกายตนหนึ่ง มาหาหลานชายที่ถูกหลาวเสียบอยู่ จะเป็นพยานให้กับข้าพระองค์ได้ พระเจ้าข้า” “เราจะเชื่อเจ้าได้อย่างไร” “ขอเดชะ ถ้าเช่นนั้น วันนี้ประมาณเที่ยงคืน ขอพระองค์เชิญเสด็จไปพิสูจน์เถิด พระเจ้าข้า”

         คืนนั้น พระราชาพร้อมหมู่อำมาตย์และชายหนุ่มพากันไปพิสูจน์ความจริง ครั้นเที่ยงคืน เปรตเปลือยกายได้ขี่ม้าขาวมาปรากฏกายให้เห็น และตรงเข้าไปหาหลานรักที่ถูกเสียบหลาว พลางกล่าวว่า “เจ้าหลานรัก เจ้าจงมีชีวิตอยู่ต่อไปเถิด การได้มีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์นี้ ดีเลิศประเสริฐนัก” พระราชาทรงถามเปรตว่า “ผู้ที่ถูกเสียบหลาวอยู่นี้ ไม่มีญาติมิตรมาเยี่ยมเลย เพราะญาติมิตรต่างพากันทิ้งเขาไปหมด เขามีร่างกายเปื้อนเลือด มีโลหิตหยดเหมือนหยาดน้ำค้าง นอนหงายบนหลาวไม้สะเดา   เช่นนี้ จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ทำไมท่านจึงบอกคนที่ไร้ญาติขาดมิตรว่า ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป”

        เปรตทูลชี้แจงว่า “ข้าแต่พระราชา บุรุษผู้นี้มิใช่ใครอื่น แต่เป็นหลานแท้ๆ ของข้าพระองค์เอง ข้าพระองค์มีความกรุณา ต่อหลานชายว่า ขออย่าให้หลานชายคนนี้ด่วนไปตกนรกเลย เพราะเขาเป็นคนขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ตายแล้วต้องไปตกนรก เสวยทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน การนอนอยู่บนหลาวนี้ ประเสริฐกว่าตกลงไปในนรกตั้งหลายร้อยหลายพันเท่า”    พระราชาตรัสถามต่อไปว่า “เรื่องราวของหลานชายท่านนี้ เรารู้แล้ว แต่เราอยากรู้ว่า ท่านทำบุญอะไรไว้ จึงได้ขี่ม้าขาว  ที่น่าอัศจรรย์ตัวนี้ มีรัศมีสว่างไปทั่วทุกทิศ มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งอบอวลอยู่ตลอดเวลา”     เปรตได้เล่าบุพกรรมของตนตั้งแต่ได้นำกะโหลกศีรษะโค มาวางทอดเป็นทางไว้ ให้มหาชนสัญจรไปมาได้สะดวก ผลบุญนั้นทำให้ได้ม้าขาวปลอดอันเป็นทิพย์เป็นพาหนะ ที่มีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกสารทิศ และมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว เพราะพูด ปิยวาจาอันอ่อนหวาน และกล่าวสรรเสริญผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ที่ต้องเปลือยกายเช่นนี้ เพราะได้นำเสื้อผ้าของเพื่อนไปซ่อน เพียงเพื่อต้องการจะล้อเล่น แต่ทำให้เพื่อนได้รับความลำบากใจคือ อับอายขายหน้าชาวเมือง

        เห็นไหมว่า ผู้ที่มีทั้งบุญและบาป คือ บุญก็ทำ กรรมก็สร้าง เวลาสมบัติบังเกิดขึ้น ก็จะมีวิบัติติดมาด้วย มากบ้างน้อยบ้างตามแต่เหตุที่ตนทำไว้ ทำให้บุญส่งผลได้ไม่เต็มที่ เวลาได้ของ  ก็เป็นของมีตำหนิ เกิดเป็นเทวดาก็ได้สมบัติไม่บริบูรณ์ ดังนั้น  ให้ทุกคนสั่งสมแต่บุญกุศลอย่างเดียว ทุ่มเททำไปให้เต็มที่ เวลาสมบัติบังเกิดขึ้น ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ก็จะเป็นสมบัติที่ประณีต เป็นสมบัติอัศจรรย์ ไม่มีวิบัติติดตามมา ทำให้มีโอกาสใช้สมบัติในการสร้างบารมีได้อย่างเต็มที่ดังใจปรารถนา ไม่มีวิบัติมาตัดรอนให้เสียหาย และดีที่สุด คือ ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ จะได้มีอริยสมบัติติดตัวไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน

*มก. อัมพสักขรเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๔๖๘

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/2310
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *