โครงสร้างดาวดึงส์

โครงสร้างดาวดึงส์

การพัฒนาฝึกฝนอบรมตนเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เป็นรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง ชีวิตจะสูงส่งหรือตกต่ำก็อยู่ที่การพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะในภพชาติปัจจุบันนี้เป็นสำคัญ อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถือเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมชีวิตของเราให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เหมือนเพชรกว่าจะฉายแสงแวววาวเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้ได้พบเห็น ก็ต้องผ่านการเจียระไนมาครั้งแล้วครั้งเล่า บนเส้นทางของการสร้างบารมีให้เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกๆ สิ่ง บางครั้งอาจจะมีอุปสรรคบ้าง หรืออาจพบปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ เมื่อนั้นให้ลองหลับตาของเราเบาๆ ปล่อยวางความคิดจากเรื่องราวทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ตรงกลางกาย กระทั่งใจสงบแล้ว เราจะพบทางออกและมองเห็นช่องทางแห่งความสำเร็จได้ด้วยตนเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า

“ดูก่อนสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลของทานแล้วให้ทาน ไม่มีการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า ตายไปแล้ว เราจะได้เสวยผลแห่งทานนี้ แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า การให้ทานเป็นสิ่งที่ดี บุคคลนั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาในชั้นดาวดึงส์”

นี่เป็นอีกพระสูตรหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเส้นทางการไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่าทำอย่างไรชีวิตหลังความตาย ถึงจะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราก็ได้ทราบกันมาพอคร่าวๆ แล้วว่า ต้องสั่งสมบุญอย่างไรบ้าง ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไรบ้าง จึงจะได้ไปเสวยสุขในสุคติโลกสวรรค์ หลวงพ่อจะเล่ารายละเอียดหรือโครงสร้างโดยคร่าวๆ ที่เป็นภาพรวมของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่ามีลักษณะการตั้งอยู่ของสิ่งสำคัญๆ อย่างไรบ้าง

ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แบ่งออกเป็น ๔ ทิศใหญ่ ตรงกลางจะเป็นที่ประทับของพระอินทร์ มีเวชยันต์ปราสาทสูง ๑,๐๐๐ โยชน์ และแบ่งการปกครองออกไปเป็น ๓ เขตใหญ่ๆ คือ เขตแรกอยู่วงใน มีอยู่ ๘ เขต เขต ๒ แบ่งออกเป็น ๑๐ เขต และเขตที่ ๓ ซึ่งอยู่วงนอกสุดมี ๑๔ เขต รวมเป็น ๓๒ เขต เท่ากับจำนวนพระสหายของมฆมาณพ รวมของพระอินทร์ด้วยเป็น ๓๓ เขต

* ทางด้านทิศตะวันออก มีทิพยอุทยานหรืออุทยานสวรรค์ที่ใหญ่โตมโหฬารมาก สวยงามกว่าสวนใดๆในทิศนี้ คือสวนจิตรลดา มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ในสวนจิตรลดามีสระโบกขรณี ๒ สระ คือจิตรโบกขรณีกับจุลลจิตรโบกขรณี เหตุที่สวนนี้มีชื่อว่า จิตรลดา ก็เพราะว่ามีเถาวัลย์ที่วิจิตรพิสดารบังเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะมีเถาวัลย์ที่พิเศษซึ่งเป็นเถาชั้นยอดอยู่ชนิดหนึ่งชื่อว่า อาสาวดี เถาวัลย์ชนิดนี้หนึ่งพันปีจึงจะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อออกผลก็จะมีเพียงผลเดียวเท่านั้น ครั้นออกดอกออกผลแล้ว ก็จะส่งกลิ่นหอมไม่แพ้ดอกปาริชาติ ฉะนั้นเถาอาสาวดีจึงเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจเหล่าทวยเทพ ซึ่งต่างพากันใจจดใจจ่อรอคอยดูผลของเถาอาสาวดีนี้

ทิศตะวันตก มีสวนสวรรค์ชื่อ นันทวัน ในนันทวันมีสระ ๒ สระ คือ ๑.มหานันทา กับ ๒.จุลลนันทาโบกขรณี ในนันทวันนี้จะมีแท่นบรรทมสำหรับจุติของเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ คือเมื่อตนไหนรู้ตัวว่าจะจุติ ก็จะมาเตรียมตัวจุติกันที่สวนนันทวันแห่งนี้ ก่อนจะจุติเหล่าทวยเทพทั้งหลายก็จะพากันมาอวยพรว่า “ท่านจากเทวโลกนี้แล้ว จงไปสู่สุคติเถิด” สุคติของเขาก็คือการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างความดีให้ยิ่งยวดขึ้นไป จากนั้นต่างพากันกล่าวเชื้อเชิญให้มาเสวยสุขร่วมกันอีก

อย่างเช่นในเรื่องพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ครั้งหนึ่งที่ท้าวสักกเทวราชทราบว่าพระนางผุสดีเทพนารีจะสิ้นอายุ จึงพานางไปสู่นันทวันอุทยาน ให้พระนางประทับบนแท่นนี้ แล้วตรัสบอกนางให้ขอพร ๑๐ ประการ ครั้นพระนางไปบังเกิดใหม่ในโลกมนุษย์แล้ว พระนางก็ได้พรทั้ง ๑๐ ประการสมปรารถนา ดังที่ได้ขอไว้

นอกจากนี้แล้ว ที่สวนนันทวัน ยังมีดอกมณฑารพเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นไม้ประจำสวนนันทวัน ดอกไม้นี้เคยตกจากสวรรค์เพื่อมาบูชาพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะพระองค์ดับขันธปรินิพพาน ดอกมณฑารพมีสีเหลืองทอง มีรัศมีสวยงามมาก มีกลีบเท่าฉัตรใบไม้ ละอองเกสรใหญ่เท่าทะนาน ในระหว่างสระก็มีสวน ในระหว่างสวนก็มีสระสลับกันไปอย่างเป็นระเบียบสวยสดงดงาม สระแต่ละสระจะกว้างใหญ่ขนาดไม่เท่ากัน แต่ส่วนมากก็จะกว้างประมาณ ๕๐๐ โยชน์

ทางด้านทิศเหนือ มีอุทยานสวรรค์ชื่อ มิสกวัน และมีสระขนาดใหญ่ ๒ สระ ชื่อสุธรรมาโบกขรณีกับธรรมาโบกขรณี

ส่วนทิศใต้ จะมีอุทยานสวรรค์ชื่อปารุสกวัน เป็นสวนสวยที่ใหญ่ที่สุดในทิศนี้ ซึ่งจะมีสระใหญ่ ๒ สระเช่นเดียวกันคือ ภัททากับสุภัททาโบกขรณี

ในระหว่างมิสสกวันกับนันทวัน คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะมีสระบัวชื่อปทุมวัน ซึ่งมีดอกปทุมสวยงามมาก ชาวสวรรค์มักจะพากันไปเก็บดอกปทุมเอาไปบูชาพระจุฬามณีในวันพระ ๘ คํ่า ๑๔ คํ่าและ ๑๕ คํ่าเป็นประจำ

ในระหว่างสวนนันทวันกับปารุสกวัน คือทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะมีสระโบกขรณีชื่ออุบลวัน เป็นสระบัวสาย ซึ่งขึ้นชื่อลือชามาก

ระหว่างปารุสกวันกับสวนจิตรลดา คือทิศอาคเนย์ จะมีสระนิลุบลวัน เป็นสระบัวเขียว บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจบุญของเทวดา ทิพยสถานแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานของพระมหาจุฬามณี บุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าทวยเทพทั้งหลาย จะพากันนำทิพยบุปผามาบูชากราบไหว้เป็นประจำ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมบุญกุศลราศีให้กับตัวเอง เพราะชาวสวรรค์ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นพุทธศาสนิกชน ครั้งเมื่อเป็นมนุษย์อาจจะมีความเชื่อที่หลากหลาย เพราะความไม่รู้ แต่เมื่อขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ก็จะรู้เองว่า ทำบุญในพุทธศาสนานี่แหละ จึงจะถูกอู่แห่งทะเลบุญ คือได้บุญมากที่สุด จึงต่างพากันหันกลับมานับถือพุทธศาสนากัน

ในระหว่างสวนมิสสกวันกับสวนจิตรลดา คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทิศอีสาน จะมีสระโบกขรณีชื่อ ปุณฑริกวัน เป็นสระดอกบัวขาว ที่สวนปุณฑริกวันนี้ มีต้นปาริฉัตร ใต้ต้นปาริฉัตรก็มีบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่สวนนี้ยังมีสุธรรมาเทวสภาอีกด้วย เยื้องๆ จากสุธรรมาเทวสภาก็จะมีสระแก้วใส และก็มีสวนป่ามหาวัน ที่ตรงนี้มีปราสาทพันหลังบังเกิดขึ้น สำหรับเป็นที่พำนักของพระอินทร์และเหล่าทวยเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวชมอุทยานสวรรค์แห่งนี้

ที่หลวงพ่อเล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่มีเนื้อที่เล็กๆ แต่กว้างใหญ่ไพศาลมากทีเดียว เพียงแต่จำลองมาให้ฟังพอให้จินตนาการตามได้บ้างเท่านั้นเอง อย่างเช่นศาลาขนาดใหญ่หลังหนึ่งตั้งตระหง่าน มีนามว่าศาลาสุธรรมา มีมณฑลกว้างขวางใหญ่โต พื้นที่ศาลาล้วนเป็นแก้วผลึก และประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงทองล้อมรอบศาลาสวรรค์แห่งนี้อีก ๗ ชั้น แต่ละชั้นก็มีเทวสภาขนาดเล็กไปตามลำดับ ใช้เป็นที่บันทึกสำมะโนประชากรเทวดาและทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในศาลาสุธรรมาเป็นที่ประชุมฟังธรรมของเหล่าเทพยดาทั้งหลาย จึงต้องมีธรรมาสน์ซึ่งเป็นธรรมาสน์แก้วที่สวยงามใหญ่หลายวา

นอกจากนี้ยังมีราชอาสน์ทิพย์ เป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์ และก็มีที่นั่งของเทพผู้เป็นพระสหายของพระองค์ ถัดมาก็เป็นอาสนะของเทพที่มีบุญลดหลั่นกันมาตามลำดับ เมื่อพูดถึงความรื่นรมย์ภายในเทวสภาแห่งนี้ ถือว่ามีความรื่นรมย์หาที่เปรียบมิได้ หอมอบอวลไปด้วยดอกไม้สวรรค์นานาพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ที่ตรงนี้ถือว่าเป็นมหาเทวสมาคมและเป็นที่รื่นรมย์กว่าที่อื่นๆ

ถ้าพวกเราอยากเห็นในสิ่งเหล่านี้ก็มี ๒ วิธี คือ เห็นหลังจากที่ละโลกไปแล้ว และได้ไปเสวยบุญอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ อย่างน้อยก็ชั้นดาวดึงส์ หรืออีกวิธีหนึ่ง คือปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกาย เราก็จะได้ไปพบเห็นด้วยตาของตัวเองก่อนตาย  ดังนั้นต้องหมั่นปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้ ถ้าใจหยุดนิ่งได้ เรื่องนรกสวรรค์ที่หลวงพ่อนำมาเล่านั้น จะอยู่ในวิสัยที่เราสามารถไปรู้ไปเห็นได้ เพราะเป็นสิ่งเกี่ยวพันกับชีวิตการสร้างบารมีของพวกเรา ดังนั้นให้หมั่นนั่งธรรมะกันเป็นประจำสมํ่าเสมอ ทำไปจนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในที่ชัดใสสว่างกันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13647
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “โครงสร้างดาวดึงส์”

  1. ✨ น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌼🌺🌸💮🌟🌷🌟💮🌸🌺🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *