เปรต ๑๒ ตระกูล (๔)

เปรต ๑๒ ตระกูล (๔)

คำถามที่มักจะได้ยินคือ อะไรคือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา บ้างก็ว่าอริยสัจ ๔ บ้างก็ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นก็ถูก แต่ยังยากต่อการปฏิบัติให้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นเราจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้เสียก่อน จึงจะเข้าใจว่าอะไรคือแก่นแท้ หลวงปู่วัดปากนํ้าภาษีเจริญท่านยืนยันว่า พระรัตนตรัยในตัว หรือพระธรรมกายนี่เองเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเกิดขึ้นมา เพราะพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ ได้ปฏิบัติธรรมเข้าถึงกายธรรมอรหัต จนกระทั่งปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ถ้าหากเราเข้าถึงธรรมกายได้ อย่างน้อยก็ได้เข้าถึงความเป็นพุทธะภายใน เราจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ เป็นชาวพุทธ คือผู้มีใจหยุดนิ่ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สคัยหกสูตร ว่า
“อิธาหํ ภิกฺขเว เอกจฺจํ ปุคฺคลํ ปสฺสามิ สกฺกาเรน อภิภูตํ ปริยาทินฺนจิตฺตํ กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา อปายํ ทุคฺคตึ วินิปาตํ นิรยํ อุปปนฺนํ ฯ
อิธ ปนาหํ ภิกฺขเว เอกจฺจํ ปุคฺคลํ ปสฺสามิ อสกฺกาเรน อภิภูตํ ปริยาทินฺนจิตฺตํ กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา อปายํ ทุคฺคตึ วินิปาตํ นิรยํ อุปปนฺนํ ฯ
อิธ ปนาหํ ภิกฺขเว เอกจฺจํ ปุคฺคลํ ปสฺสามิ สกฺกาเรน จ อสกฺกาเรน จ ตทุภเยน อภิภูตํ ปริยาทินฺนจิตฺตํ กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา อปายํ ทุคฺคตึ วินิปาตํ นิรยํ อุปปนฺนํ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นคนบางคนในโลกนี้ ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิตแล้ว เมื่อตายไปเพราะกายแตกทำลาย ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อนึ่ง เราเห็นคนบางคนในโลกนี้อันความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต เมื่อตายไปเพราะกายแตกทำลายต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นคนบางคนในโลกนี้ อันสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองอย่างครอบงำย่ำยีจิตแล้ว เมื่อตายไปเพราะกายแตกทำลาย ต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”

ชีวิตของผู้ที่ตกไปในอบายภูมิ โดยเฉพาะไปเกิดเป็นเปรตนั้น ส่วนใหญ่ มักจะมีสาเหตุมาจากความโลภครอบงำจิตใจเป็นหลัก มักจะมีความตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ในกมลสันดาน มีมัจฉริยะตรึงจิตเอาไว้ไม่ให้บริจาค ทั้งห่วงและหวงแหนเอาไว้ ห่วงว่าถ้าบริจาคไปแล้วทรัพย์จะหมดสิ้นไป และหวงเอาไว้ไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีที่ใสเย็น แต่มีผีเสื้อนํ้าหวงไว้ ไม่ยอมให้ใครได้ลงอาบดื่มกิน

ความโลภและความตระหนี่ เป็นอันตรายต่อชีวิตของการเดินทางไกลในสังสารวัฏมาก สามารถครอบงำจิตใจได้ทุกคนไม่เลือกชนชั้นวรรณะ และการจะขจัดความตระหนี่ออก ก็ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาหรือเผ่าพันธุ์  เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะต้องทำ จะได้ไม่ต้องไปเกิดในอบายไปเป็นเปรตผู้หิวโหยทั้งหลาย ใครที่มีทั้งความตระหนี่และความโลภอยู่ในใจมาก แสดงว่ากำลังดำเนินปฏิปทาของผู้จะไปเปตโลก แม้ว่าเราจะไม่อยากไปก็ตาม แต่กรรมคือการกระทำของเรานั้น มันบีบบังคับให้เราต้องไปเป็นอย่างนั้น

* เพราะฉะนั้น เรามารับฟังวิถีชีวิตอันแสนลำบากของเปรต ๑๒ ตระกูลกันต่อ ในตอนนี้ก็ถึง
เปรตตระกูลที่ ๑๑ คือ มหิทธิกาเปรต เป็นเปรตมีฤทธิ์และรูปงามปรากฏดุจเทพยดา แต่ว่าอดอยากหิวโหยอาหารอยู่ตลอดเวลา เหมือนเปรตชนิดอื่นๆ คือจะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพบเห็นมูตรคูถ และของสกปรกโสโครกต่างๆ ก็ดูดกินเป็นอาหาร เหตุที่ต้องมาเป็นเปรตชนิดนี้ก็เพราะว่า ในชาติก่อนเคยเป็นมนุษย์ บวชเป็นพระภิกษุสามเณร พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ จึงมีรูปร่างผุดผ่องรุ่งเรืองราวเทพยดา แต่เนื่องจากไม่ได้บำเพ็ญธรรม มีใจเกียจคร้านต่อการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัยของบรรพชิต จิตใจจึงมากไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ มีความเข้าใจผิดว่า “เราบวชแล้ว รักษาแต่เพียงศีลก็พอ ไม่เห็นจะต้องไปทำบุญ ให้ทานเหมือนฆราวาสทั่วไป”

ชีวิตมนุษย์มีเพียงบุญกับบาปสองอย่างเท่านั้น คือเมื่อใจไม่เป็นบุญ  บาปอกุศลก็เข้าแทรก เมื่อไม่อยากให้ ความโลภก็เกิดขึ้นมาในใจ เพราะฉะนั้น ครั้นมีลาภสักการะเกิดขึ้นแก่สงฆ์ เช่น กุฎิ วิหาร ที่อยู่อาศัย และบริขารเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งทายกมีศรัทธาถวายเป็นของสงฆ์ ก็หวงห้ามมิให้ภิกษุสามเณรอื่นบริโภค อาศัยความที่ตัวเองเป็นผู้ใหญ่ในอารามแห่งนั้น จึงไม่ยอมให้คนอื่นมาใช้ ทำให้ต้องมาเป็นเปรตทนทุกข์ทรมานแสนยาวนาน

นอกจากนี้ บางตนเคยเป็นฆราวาสหวงห้ามที่พักอาศัย เช่น ศาลา ที่พำนัก ซึ่งผู้ใจบุญสร้างไว้เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยสาธารณะแก่คนทั่วไป ตัวเองก็หวงห้าม ไม่ให้คนอื่นเข้าไปพัก ด้วยความโลภว่า “เราเป็นคฤหัสถ์ผู้รักษาศีล สมควรที่จะได้อยู่ในเสนาสนะแห่งนี้ ส่วนคนอื่นไม่รักษาศีลไม่สมควรอยู่” แล้วก็กีดกันไม่ให้คนอื่นมาใช้ ด้วยกรรมดีที่รักษาศีลบริสุทธิ์ แต่ปนกับความโลภในของสาธารณะ กรรมจึงชักนำให้มาเกิดเป็นมหิทธิกาเปรตมีรูปงามดังเทพยดา แต่ยากไร้หาอะไรบริโภคไม่ได้

เปรตตระกูลที่ ๑๒ ( เปรตตระกูลสุดท้าย) คือ เวมานิกเปรต ที่ชื่อว่าเวมานิกเปรต เพราะเปรตตระกูลนี้จะมีสมบัติคือวิมานเงินวิมานทองซึ่งเป็นของทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวเทพยดาในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนจะเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะต้องเสวยทุกข์ตามสมควรแก่อกุศลกรรมที่ตนทำไว้ ผลัดเปลี่ยนกันไปตามกาลเวลา

กรรมที่ทำให้ต้องมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต มีอยู่หลายอย่างต่างวาระด้วยกัน แต่โดยส่วนมากในภพชาติก่อนจะเป็นคนมีศรัทธาก่อสร้างกองการกุศลไว้มากมาย แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่ได้มีศรัทธาสร้างกองการกุศลอย่างอื่นเลย  เพราะเต็มไปด้วยความลังเลสงสัย เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างในเรื่องของบุญและบาป ถึงทำบุญรักษาศีลก็ทำอย่างเสียไม่ได้ ทำโดยไม่ตั้งใจ ครั้นตายลง จึงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต ผู้มีความสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไป

ครั้งนี้หลวงพ่อมีเรื่องของเวมานิกเปรตมาเล่าให้ทุกท่านได้ศึกษากันเป็นตัวอย่าง เรื่องมีอยู่ว่า มีเปรตตนหนึ่งในเวลากลางวันอาศัยอยู่ในวิมานประดุจชาวสวรรค์ ประดับด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ ดูงดงามสว่างไสวมาก แต่ในใจของเปรตตนนี้รู้สึกว่าตัวเองมีความหิวอยู่ตลอดเวลา ครั้นเวลากลางคืนหาอาหารจะกินก็ไม่ได้ จึงได้เอาเล็บมือที่คมกริบดุจมีดกรด ข่วนขูดเอาเนื้อและหนังของตนมากินแทนอาหารต้องเสวยสุขและทุกข์คลุกเคล้ากันไปอยู่อย่างนี้มานานหลายพันปี

ที่ต้องมาเป็นเวมานิกเปรตก็เพราะว่า ชาติก่อนโน้นเปรตตนนี้เคยเป็นผู้พิพากษาที่มีความโลภ ชอบกินสินบนของราษฎร มิได้ตัดสินคดีความโดยธรรม มุ่งหน้าแต่จะกอบโกยทรัพย์สมบัติของประชาชนมาเป็นของตน ไม่สนใจการทำบุญทำกุศล วันหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันจำศีลอุโบสถ พระราชาเป็นผู้มั่นในพระศาสนา จึงเรียกบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลายมาประชุมกันในท้องพระโรง ทรงตรัสถามไปทีละคนว่า ใครเป็นคนรักษาศีลบ้าง ทุกคนต่างทูลตอบว่าเป็นคนรักษาศีลกันหมด

ครั้นหันมาถามผู้พิพากษาท่านนี้ ด้วยความเกรงกลัว ทั้งที่ไม่เคยรักษาศีลเลย แต่เกิดความละอาย จึงกราบทูลว่าตัวเองก็รักษาศีลเหมือนกัน แต่เพื่อนคนหนึ่งหมอบอยู่ข้างๆ รู้ว่าผู้พิพากษาคนนี้ไม่ได้ทำอย่างที่พูด จึงแนะนำว่า “ตั้งแต่คืนนี้ไปขอให้ท่านรักษาศีล ๘ เถอะ จะได้ชื่อว่าไม่ได้โกหกพระราชา” ผู้พิพากษาเกรงว่าพระราชาจะจับเท็จได้ จึงตกลงกับสหายว่าจะสมาทานศีล ๘ ตลอดคืน

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บ่ายวันนั้น ผู้พิพากษาก็จำใจสมาทานศีล ๘ ต้องอดข้าวเย็น แต่เนื่องจากไม่เคยสมาทานศีลอุโบสถอดข้าวในยามวิกาล ตกดึกเกิดลมตีขึ้นมากะทันหัน ประกอบกับกรรมเก่าในอดีตที่ทำไว้ตามมาทัน ทำให้เสียชีวิตในคืนนั้นเอง และได้มาเกิดเป็นเวมานิกเปรตมีเครื่องประดับอลังการสวยงามทีเดียว

นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ทำบุญเจือบาปว่า ถ้าไม่ตั้งเจตนาให้บริสุทธิ์แล้ว ก็จะกลายเป็นเปรตทั้ง ๒ ประเภทอย่างที่หลวงพ่อได้นำมาเล่าให้ศึกษากันนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจะทำความดีต้องทำให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือทาน ศีล ภาวนา และเมื่อจะทำบุญ ก็ให้ใจประกอบด้วยกุศลเจตนาล้วนๆ อย่าให้มีความโลภ ความตระหนี่ปนอยู่ อย่าทำบุญปนบาป ทำบุญแล้วก็ให้ใจชุ่มอยู่ในบุญ ให้ปลื้มปีติอยู่ในบุญให้ได้ตลอดเวลา แล้วบุญนี้จะส่งผลให้เราถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพานในที่สุด

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13566
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

2 thoughts on “เปรต ๑๒ ตระกูล (๔)”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

  2. 🌟น้อมกราบสาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ🌟
    🏵️💮🌺🌸🌼🏵️💮🏵️🌼🌸🌺💮🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *