เปรต ๑๒ ตระกูล (๓)

เปรต ๑๒ ตระกูล (๓)

การพัฒนาฝึกฝนอบรมตนเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก เป็นรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง ชีวิตจะสูงส่งหรือตกตํ่า ย่อมอยู่ที่การพัฒนาตนเองโดยเฉพาะในภพชาติปัจจุบันนี้เป็นสำคัญ อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถือเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมชีวิตของเราให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เหมือนเพชรกว่าจะฉายแสงแวววาวเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้ได้พบเห็น ก็ต้องผ่านการเจียระไนมาครั้งแล้วครั้งเล่า บนเส้นทางของการสร้างบารมีให้เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกๆ สิ่ง บางครั้งอาจจะมีบ้าง ที่ต้องพานพบกับอุปสรรค โดยเราก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร และไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร จะเอ่ยปากถามใครก็ไม่กล้า ทุกอย่างดูมืดมนอนธการไปหมด เมื่อนั้นให้ลองหลับตาลงเบาๆ ปล่อยวางความคิดจากเรื่องราวทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ตรงกลางกาย กระทั่งใจสงบ เราก็จะพบทางออกและมองเห็นช่องทางแห่งความสำเร็จได้เอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ  ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ
ปาปํ เม กตนฺติ ตปฺปติ    ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต
บุคคลผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า  ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง บุคคลผู้ทำบาปนั้น ย่อมเดือดร้อนว่า บาปอกุศลเราทำไว้แล้ว บุคคลผู้ทำบาปนั้น ไปสู่ทุคติแล้ว ย่อมเดือดร้อนอย่างยิ่ง”

ผู้ที่ชอบทำบาปอกุศลจนเคยชิน เพราะไม่เห็นผลของบาปว่า จะส่งผลเป็นวิบากอันเผ็ดร้อนอย่างไร จะเสียใจก็ต่อเมื่อบาปนั้นตามส่งผล เมื่อรู้ตอนนั้นก็สายเกินไปแล้ว เหมือนคนที่ทำความผิดแล้วถูกจับได้ จะอ้อนวอนขอร้องเจ้าหน้าที่ว่า จะกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ไม่ทำผิดกฎหมายอีกแล้ว เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็คงไม่ยอมปล่อยตัวออกมาง่ายๆ มีแต่ต้องตัดสินกันไป  ผิดก็ว่าตามผิด แล้วความผิดที่ตัวได้กระทำเอาไว้ ส่วนหนึ่งนอกจากจะถูกพิพากษาโทษให้ได้รับโทษในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ชีวิตหลังความตายก็ยังต้องไปรับการพิพากษาต่อในยมโลกอีก และการเสวยวิบากกรรมในทุคติภูมินั้น มันทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสกว่าการรับโทษในเมืองมนุษย์มากมายหลายเท่านัก หมู่ญาติจะเอาเงินทองไปคํ้าประกัน ไปช่วยเหลือให้หลุดพ้นออกมาก็ไม่ได้ ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างเดียวเท่านั้น จึงจะพอช่วยให้พ้นจากทุกข์ในอบายได้บ้าง

ในครั้งนี้ เรื่องราวชีวิตในเปตโลกของเปรต ๑๒ ตระกูล ซึ่งอยู่ในดินแดนอบายภูมิ ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วหลวงพ่อได้อธิบายถึงความเป็นอยู่ของวันตาสาเปรต กุณปขาทาเปรต และคูถขาทาเปรตไว้แล้ว ต่อมาเป็น *
เปรตตระกูลที่ ๔ คือ อัคคีชาลมุขาเปรต มีรูปร่างผอมโซ เปรตเหล่านั้นมีเปลวไฟแลบออกมาจากปากตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน ไฟไหม้ปากไหม้ลิ้นเจ็บแสบเจ็บร้อน ครั้นทนไม่ได้ก็วิ่งร้องไห้ครวญครางไปไกลถึงร้อยโยชน์พันโยชน์ ถึงกระนั้นไฟก็ไม่ดับ กลับเป็นเปลวเผาลนปากและลิ้นหนักเข้าไปอีก กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตชนิดนี้ เนื่องจากในชาติก่อน เปรตเหล่านี้เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เมื่อมีใครมาขอ ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวคนอื่นเขาดูถูกดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังจะแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบจะได้เลิกมาขอ เพราะไม่เห็นอานิสงส์ของการบริจาคทาน ตามวิสัยของคนตระหนี่จัดนั่นเอง

เปรตตระกูลที่ ๕ คือ สุจิมุขาเปรต มีรูปร่างแปลกพิกล คือเท้าทั้งสองใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะได้อาหารมาบริโภคแต่ละครั้งก็ไม่พออิ่ม ไม่พออยาก เพราะมีปากเท่ารูเข็มเท่านั้น อาหารไม่อาจผ่านช่องปากเข้าไปได้ง่ายๆ อยากกินแต่กินไม่ได้ ต้องเสวยทุกขเวทนาแสนลำบาก มีร่างกายซูบผอมโซและดำเกรียม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ เปรตเหล่านี้เป็นคนตระหนี่ ปราศจากจิตเมตตา เมื่อมีใครมาขออาหาร ก็ไม่อยากจะให้ และไม่มีศรัทธาที่จะถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีจิตหวงแหนทรัพย์สมบัติของตนมาก ผลกรรมตามสนองจึงต้องมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม จะบริโภคแต่ละทีก็แสนลำบากยากเย็น ต้องทนทุกข์จนกว่าจะสิ้นกรรม

เปรตตระกูลที่ ๖ คือ ตัณหาชิตาเปรต มีรูปร่างผอมและอดอยากเช่นเดียวกับเปรตพวกอื่นๆ คือมีความอดข้าวอยากน้ำเป็นกำลัง ที่แปลกออกไปคือ เปรตเหล่านี้จะเดินตระเวนท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อมองไปเห็นสระ บ่อ ห้วย หนอง มหานที ก็ตื่นเต้นดีใจรีบวิ่งไปโดยเร็ว แต่ครั้นไปถึงแหล่งนํ้านั้น ก็กลับกลายเป็นสิ่งอื่นด้วยอำนาจกรรมบันดาล เปรตเหล่านี้ไม่เคยได้ยินคำว่า ข้าวหรือน้ำ ต้องเสวยทุกข์เป็นเวลานานนับได้เป็นหมื่นเป็นแสนปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะในชาติก่อนครั้งที่ยังเป็นมนุษย์ เปรตเหล่านี้มีใจประกอบด้วยอกุศล เป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อ ปิดหม้อ ปิดไห ไม่ให้คนอื่นดื่มกิน ครั้นแตกกายทำลายขันธ์จึงต้องมาเกิดเป็นเปรต และอดข้าวอดนํ้าอยู่อย่างนี้

เปรตตระกูลที่ ๗ คือ นิชฌามักกาเปรต มีรูปร่างเหมือนต้นเสาหรือต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้ สูงชะลูดดำทะมึน แลดูน่ากลัวมาก มีกลิ่นเหม็นเน่า มือและเท้าเป็นง่อย ริมฝีปากข้างบนห้อยทับริมฝีปากข้างล่าง มีฟันยาว มีเขี้ยวออกจากปาก ผมยาวพะรุงพะรัง มีความอดอยากเหลือประมาณ ยืนทื่ออยู่ที่เดิม ไม่ค่อยได้ท่องเที่ยวไปไหนเหมือนเปรตชนิดอื่น เนื่องจากภพชาติในอดีต เปรตเหล่านี้เคยเป็นมนุษย์ผู้มีใจบาปหยาบช้า เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลก็โกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่า ทานเหล่านั้นจะมาขอของตน จึงแสดงกิริยาอาการเยาะเย้ยถากถางขับไล่สมณพราหมณ์เหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่เป็นคนแก่คนเฒ่า เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะความชรา ก็แกล้งให้ท่านตกใจจะได้ตายไวๆ ตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติ ครั้นแตกกายทำลายขันธ์ จึงต้องเกิดเป็นเปรตชนิดนี้

เปรตตระกูลที่ ๘ คือ สัพพังคาเปรต มีร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีดเหมือนดาบและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาตะกายข่วนร่างกายตนเองให้ขาดเป็นแผลด้วยเล็บ แล้วกินเลือดเนื้อของตนเองเป็นอาหาร กรรมเก่าคือ ชอบขูดรีดชาวบ้าน เอาเปรียบผู้อื่น หรือบางทีก็ชอบรังแกหยิกข่วนบิดามารดา ถ้าเป็นหญิงก็หยิกข่วนสามีของตน เมื่อละโลกแล้วจึงต้องมาเกิดเป็นเปรตที่มีเล็บคมกล้า ควักเนื้อของตนมากินเป็นอาหาร ต้องทนทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้

เปรตตระกูลที่ ๙ คือ ปัพพตังคาเปรต มีร่างกายใหญ่เหมือนภูเขา  เวลากลางคืนสว่างไสวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ กลางวันเป็นควันล้อมรอบกายตนเอง เปรตเหล่านี้ต้องถูกไฟเผาคลอกนอนกลิ้งไปมาเหมือนขอนไม้ที่กลิ้งอยู่กลางไร่กลางป่า ได้เสวยทุกขเวทนาปานว่าจะขาดใจ ต้องร้องไห้ปริเทวนาการเป็นโกลาหล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในอดีตชาติเคยเที่ยวเอาไฟเผาบ้าน เผาโรงเรียน เผากุฏิ วิหาร วัดวาอารามเป็นต้น ครั้นละจากโลกไปแล้ว  นอกจากจะต้องตกไปเสวยทุกข์ในมหานรกแล้ว ยังต้องมาเป็นเปรตถูกไฟเผาผลาญอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะสิ้นกรรม

เปรตตระกูลที่ ๑๐ คือ อชครเปรต เปรตพวกนี้มีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เดรัจฉาน เช่น มีรูปร่างเป็นงูเหลือมก็มี เป็นเสือ เป็นม้า เป็นวัว เป็นควาย เป็นไก่ เป็นสุนัข เป็นจระเข้ก็มี แต่จะถูกไฟเผาไหม้ทั่วร่างกายทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่างเว้นเลยแม้แต่วันเดียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ภพชาติที่เป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เมื่อเห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลมาเยือน ก็ด่าว่าเปรียบเปรยท่านเหล่านั้น ว่าเสมอด้วยสัตว์เดรัจฉานต่างๆ เพราะไม่อยากให้ทาน หรือมิฉะนั้นก็แกล้งหลอกหลอน ทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แกล้งให้ท่านสะดุ้งตกใจกลัวหนีไป อกุศลกรรมจึงทำให้ต้องมาบังเกิดเป็นเปรตอย่างนี้

นี่ก็เป็นเรื่องราวความหลากหลายของเปรตชนิดต่างๆ และความลำบากยากแค้นแสนสาหัสในการดำรงอัตภาพของความเป็นเปรตในเปตโลก ยังเหลือเปรตอีก ๒ ตระกูลที่หลวงพ่อขอเล่าค้างไว้เพียงเท่านี้ก่อน

จะเห็นได้ว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ที่ไปเกิดเป็นเปรตนั้น เพราะความตระหนี่เป็นหลัก มีมัจฉริยะอยู่ในใจ และมีอกุศลอื่นพ่วงเข้าไปด้วย ฉะนั้นความตระหนี่ เป็นภัยใหญ่หลวง เราต้องประกอบเหตุดีในโลกนี้เอาไว้ให้มากๆ จะได้ไม่ต้องไปใช้ชีวิตเหมือนเปรตเหล่านั้น ทั้งเราจะต้องสร้างบารมีไปสู่สุคติภูมิกันอย่างเดียว จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13562
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “เปรต ๑๒ ตระกูล (๓)”

  1. น้อมกราบอนุโมทนาบุญกับโอวาท
    คำสอนและธรรมทานอันทรงคุณค่า
    หลวงพ่อธัมมชโย #คุณครูไม่ใหญ่
    ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง สาธุครับ
    🏵️🌺🌸💮🌼🌷🌷🌼💮🌸🌺🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *