ยมโลก สถานที่พิจารณาบุญและบาป

ยมโลก สถานที่พิจารณาบุญและบาป

พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา แต่ละถ้อยคำที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ เป็นสิ่งที่มีค่าอเนกอนันต์ ทุกถ้อยคำที่พระองค์ได้ทรงแนะนำสั่งสอนชี้แนะหนทางแสงสว่างให้แก่เรานั้น มีค่ากว่ารัตนะทั้ง ๗ ที่พระเจ้าจักรพรรดิหยิบยื่นให้ เพราะสมบัติจักพรรดิจะทำให้เราสมบูรณ์พร้อมเฉพาะในโลกนี้ที่เป็นมนุษย์อยู่เท่านั้น แต่แสงแห่งธรรมอันเกิดจากรัตนะภายในที่ส่องสว่างในกลางใจ จะส่งผลให้เราสมบูรณ์พร้อมทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ เราจะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย ทั้งภัยในโลกนี้และภัยในสังสารวัฏ ชีวิตเราจะก้าวไปสู่ความเต็มเปี่ยม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็เพราะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ดังนั้น การปฏิบัติธรรมด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส จึงเป็นทางมาแห่งรัตนะทั้งภายนอกและภายใน เป็นทางแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน เทวทูตสูตร ว่า
“โจทิตา เทวทูเตหิ     เย ปมชฺชนฺติ มาณวา
เต ทีฆรตฺตํ โสจนฺติ   หีนกายูปคา นรา ฯ
นรชนเหล่าใดเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ถูกเทวทูตตักเตือนแล้วยังประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์อันเลวทราม ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน”

ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำนี่แหละ พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่าเป็นเทวทูต ที่จะเตือนใจให้เราไม่ประมาทในชีวิตว่า ทันทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่บ่งบอกถึงความทุกข์ที่เราสังเกตเห็นได้ ก็คือเสียงร้องไห้ของเด็กทารกแรกเกิด ความเกิดมาพร้อมกับความแก่ แต่ค่อยๆ แก่ เปลี่ยนแปลงไปตามวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน จนกระทั่งวัยชรา เมื่อชีวิตเข้าสู่ความแก่ชรา สังขารก็ร่วงโรย ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างบารมี ลุกนั่งก็ไม่สะดวก แล้วโรคภัยไข้เจ็บก็มาเบียดเบียน บางครั้งทรัพย์สมบัติที่เราหามาได้ด้วยความยากลำบากตลอดชีวิต ก็ค่อยๆ หมดไปกับการรักษาสังขารร่างกายนี้ให้อยู่ต่อไป พอถึงคราวความเจ็บป่วยรุมเร้าหนักเข้า ก็ไม่มีใครที่จะมาแบ่งเบาความทุกข์นี้ได้

โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวที่พญามัจจุราชมาเยือน ก่อนจะละโลก ไม่มีใครเลยที่จะมาช่วยเราได้ เราต้องช่วยเหลือตัวเอง ความดีและบุญกุศลที่เราได้ทำเอาไว้นี่แหละ จะเป็นที่พึ่งแก่เราในยามนั้น ดังนั้นความทุกข์ต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย นักปราชญ์บัณฑิตท่านมองเห็นว่า เป็นเครื่องเตือนสติให้เราไม่ประมาทในการสร้างความดี เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้แล้ว ก็จะได้หาทางที่จะไม่ต้องเกิดกันอีกต่อไป พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ทางไปพระนิพพานเป็นทางไปสู่ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นทางแห่งความหลุดพ้น ที่เป็นเป้าหมายปลายทางของมนุษย์ทุกๆ คน

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ที่เกิดตามภพภูมิต่างๆ แล้วทรงทราบว่า หมู่สัตว์ได้เสวยกรรมดี เพราะประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต เป็นสัมมาทิฎฐิเชื่อกฎแห่งกรรม ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อละโลกไปแล้วก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ส่วนผู้ที่ทำกรรมชั่ว ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฎฐิ ละโลกก็เข้าถึงเปตวิสัยก็มี ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มาก

สำหรับผู้ทำกรรมชั่วไว้ เวลาละจากโลกนี้ไปแล้ว จะถูกนายนิรยบาลนำไปลงโทษ เริ่มตั้งแต่พาไปพบพญายมราช ซึ่งเป็นใหญ่ในยมโลก ยมโลกมีไว้สำหรับรองรับคนบาปที่นึกถึงบุญไม่ออก จิตเศร้าหมองก่อนละโลก ถึงแม้พญายมราชจะแนะนำให้นึกถึงบุญ หรือสุวรรณเลขาจะช่วยให้นึกถึงความดีในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ หรือช่วยตักเตือนว่าเคยพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขารบ้างไหม ก็ยังนึกไม่ออก เห็นแต่ภาพบาปกรรมที่ตนเองทำเอาไว้ในอดีต ที่มาปรากฏอยู่ในบัญชีบาปของสุวาฬเลขา จึงจำต้องไปรับกรรมเสวยทุกข์ในยมโลกจนกว่ากรรมจะหมด

* เรื่องของยมโลกนรกนี้มีจริงๆ และก็มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เป็นเหมือนผู้พิพากษาคอยทำหน้าที่ตัดสินสัตว์นรก ที่ทำกรรมชั่วให้ไปเสวยกรรม เมื่อนายนิรยบาลนำสัตว์นรกนั้นไปหาพญายม พญายมก็จะถามว่า  “ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ”  ถ้าหากผู้นั้นตอบว่า  “ไม่เห็นเลย”  พญายมก็จะถามต่อว่า  “ท่านไม่ได้เห็นเด็กทารกที่เกิดมาบ้างหรือ”  ถ้าตอบว่า “เคยเห็น”  พญายมก็ถามต่อว่า  “เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว เคยคิดบ้างไหมว่า แม้เราก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้”  แต่เนื่องจากสัตว์นั้นไม่เคยคิดมาก่อน ก็ตอบว่า “ไม่เคยคิดเลย”

พญายมจะถามต่อไปว่า “แล้วเคยเห็นเทวทูตที่ ๒ คือ คนชรา หลังค่อม ถือไม้เท้าเดินงกๆ เงิ่นๆ นั้นน่ะ  ท่านเคยเห็นบ้างไหม”  สัตว์นั้นก็จะตอบว่า  “เคยเจ้าข้า”  “เมื่อเห็นแล้ว เคยได้สติ มีความคิดที่จะทำความดีบ้างไหม”  สัตว์นรกก็บอกว่า “ไม่เคยคิดเลยเพราะกำลังมัวเพลิดเพลินอยู่”

พญายมจะให้โอกาส ด้วยการถามปัญหาต่อไป จุดประสงค์ของการถาม เพื่อให้ผู้นั้นได้นึกถึงคุณงามความดีที่เคยทำไว้ในสมัยที่เป็นมนุษย์ จะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีๆ นั่นเอง  ท่านถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า “แล้วเคยเห็นคนป่วยหนัก ที่เวลาเดินต้องมีคนคอยพยุงบ้างไหม  สัตว์นรกก็จะบอกว่า “เคยเห็น”  “เมื่อเห็นแล้ว เคยคิดไหมว่า ตัวเรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรจะรีบทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ”  สัตว์นรกก็บอกว่า  “เรื่องนี้ไม่ได้ฉุกคิดเลย เพราะข้าพเจ้ามัวประมาทอยู่”

“ถ้าอย่างนั้น เคยเห็นเทวทูตที่ ๔ คือนักโทษที่ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับตัวมาลงโทษ ให้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานบ้างไหม”  เขาก็บอกว่า  “เคยเห็นเจ้าข้า”  “พอเห็นแล้ว ได้สติคิดว่า แม้ถ้าเราทำความชั่วเช่นนี้ คงจะต้องถูกลงโทษ อย่ากระนั้นเลย เราพึงทำแต่ความดี จะได้ไม่ถูกลงโทษ เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม”  สัตว์นรกก็ตอบว่า  “ไม่เคยคิดเลย”  พญายมราช จะถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า

“ท่านไม่ได้เห็นคนที่ตายไปแล้ว สองสามวันก็ขึ้นอืด เนื้อตัวเขียวชํ้า มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ในหมู่มนุษย์บ้างหรือ”  สัตว์ก็ตอบว่า “เคยเห็น”  “เมื่อเห็นแล้ว เคยคิดบ้างไหมว่า แม้ตัวเราก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะรีบทำความดี เก็บเกี่ยวบุญกุศลก่อนที่จะหลับตาลาโลก”  ถ้าสัตว์ผู้นั้นคิดถึงคุณงามความดีของตัวเองได้ ก็จะได้ไปเสวยสุขในสุคติภูมิตามกำลังบุญ

หากถึงบุญยังนึกไม่ได้ พญายมก็จะกล่าวว่า “ท่านไม่เคยทำความดีอะไรไว้เลย มัวแต่ประมาทอยู่ ทำความชั่วเป็นอาจิณ พวกนายนิรยบาลจะลงโทษท่าน บาปกรรมนี้ มารดาบิดาไม่ได้ทำให้ท่าน ญาติพี่น้องก็ไม่ได้ทำให้ท่าน ไม่มีใครในโลกทำให้ท่าน ท่านนั่นแหละเป็นคนทำเอง  ฉะนั้น ท่านจะต้องเสวยวิบากกรรมด้วยตนเอง”

ครั้นพญายมราชไต่สวนจบ ก็จะนั่งนิ่งทีเดียว เพราะรู้ว่าช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ถามว่าในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ เคยทำบุญกุศลเอาไว้บ้างหรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ เพราะนึกถึงบุญไม่ออก ที่นึกไม่ออกเพราะไม่เคยทำ หรือแม้เคยทำก็เป็นบุญเล็กๆ น้อยๆ  เมื่อดวงบุญเล็กมาก ดวงบาปที่ตนเคยทำเอาไว้ก็มาบดบัง บดบังอะไรล่ะ บดบังความเห็น จำ คิด รู้ ให้ลืม เลยจำไม่ได้ เมื่อจำไม่ได้ ก็ตอบไม่ถูก แต่ถ้าให้นึกถึงบาปว่าทำอะไรเอาไว้บ้าง จะเห็นเป็นภาพขึ้นมาเป็นฉากๆ เขาเรียกว่าฟ้องกันด้วยภาพ ภาพจะปรากฏให้เห็นต่อหน้าของสัตว์นรกตนนั้น จะไม่ยอมรับก็ไม่ได้ เพราะภาพมันฟ้อง

จากนั้นพวกนายนิรยบาลก็จะนำสัตว์นรกนั้นไปรับกรรม เอาตะปูเหล็กที่ลุกเป็นไฟตอกที่มือเท้าทั้งสี่และที่กลางอก สัตว์นรกนั้นต้องเสวยทุกขเวทนาไปจนกว่ากรรมที่ทำไว้จะสิ้นสุดลง บางตนก็ถูกจับขึงพืด แล้วถูกขวานถาก ถูกมีดคมกริบแล่เนื้อเถือหนัง ถูกจับห้อยหัวลง แล้วถูกพร้าที่ทั้งร้อนทั้งคมถาก จากนั้นก็ถูกจับโยนเข้าไปในนรกขุมต่างๆ

มหานรก มี ๔ มุม ๔ ประตู มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบเอาไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกเป็นเหล็กลุกเป็นไฟ ความร้อนแรงแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์ ในมหานรกมีแต่ไฟลุกท่วมอยู่ตลอดเวลา ถ้าเอาก้อนหินก้อนใหญ่ๆ เท่าบ้านหลังโตๆ โยนเข้าไปในไฟนรก เพียงชั่วพริบตาเท่านั้น หินก้อนนั้นก็จะแหลกละเอียดทันที แต่ที่สัตว์นรกทนอยู่ได้ ก็เพราะแรงกรรมที่ทำเอาไว้  ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานซํ้าแล้วซํ้าเล่า ส่วนทุกข์ในนรกขุมอื่นๆ ที่ยิ่งกว่านี้  ยังมีอีกมากมาย นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น

ชีวิตในปรโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาให้แจ่มแจ้ง เราจำเป็นต้องรู้ไว้ ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้ชีวิตก็ไม่ปลอดภัย เมื่อรู้แล้วจะได้ดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้อง ให้ชีวิตนี้เป็นไปเพื่อการสร้างบุญบารมีอย่างเดียว ถ้าอยากไปพบเห็นภพภูมิของเหล่าสัตว์ในอบายภูมิ ก็ให้อาศัยการฝึกสมาธิ เพราะเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ย่อมสามารถอาศัยธรรมกายไปตรวจดูได้ จะได้หายสงสัยในเรื่องกฏแห่งกรรม

ดังนั้น เมื่อเรามีโอกาสสั่งสมบุญในภาวะที่เป็นมนุษย์นี้แล้ว ก็ควรที่จะรีบขวนขวายสร้างความดี สั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ เราควรจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะละจากโลกนี้ไป ให้ตั้งปณิธานไว้เลยว่า ต่อจากนี้ไป เราจะประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ให้เป็นอุปนิสัย เป็นอัธยาศัยที่ดีๆ ติดแน่นอยู่ในใจ และให้หมั่นพิจารณาถึงเทวทูตทั้ง ๕ ที่มาเตือนสติเรา ไม่ให้ประมาท คือให้หาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความทุกข์จากการถูกทรมานและความตาย มาเป็นอุทาหรณ์สอนตัวเอง แล้วมุ่งสั่งสมบุญ แผ้วถางทางไปสู่สวรรค์นิพพาน ชีวิตเราจะได้ดำรงอยู่อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ เมื่อทุกคนทำได้อย่างนี้ เราจะได้ไม่ต้องไปตอบปัญหาพญายมราชในเมืองนรก แต่ไปเสวยสุขอยู่ในสุคติกันเลย เพราะเราเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญกันเป็นประจำ และหมั่นนั่งธรรมะ อย่าประมาทในการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ฝึกกันไปจนกว่าจะได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงกันทุกๆ คน

พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่)

ที่มา https://buddha.dmc.tv/dhamma/13493
ต้นฉบับ หนังสือ ธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับปรโลก

กลับสู่
สารบัญธรรมะเพื่อประชาชน สำหรับไฟล์เสียง, วีดีโอ และ Article
สารบัญ หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน

1 thought on “ยมโลก สถานที่พิจารณาบุญและบาป”

  1. น้อมกราบ สาธุ สาธุ สาธุครับ
    🏵️🌼🌺 🌸💮🌸 🌺🌼🏵️

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *