โบสถ์วัดพระธรรมกายทำไมไม่เหมือนโบสถ์ที่วัดอื่นๆ

คำถาม: 
โบสถ์วัดพระธรรมกายทำไมไม่เหมือนโบสถ์ที่วัดอื่นๆ
คำตอบ: 
ที่ว่าไม่เหมือน เพราะมองว่าไม่มีช่อฟ้าใบระกา ไม่มีลวดลายกนกใช่ไหม? พอไม่เห็นก็เลยรู้สึกผิดตาผิดหูไป แล้วก็ลงความเห็นว่าผิดแปลก
จะอย่างไรก็ตามอยากให้
หยุดคิดถึงเหตุผลและความเป็นมาสักนิด คือโบสถ์หรือการก่อสร้างวัดวาอารามของไทยเราตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นสถาปัตยกรรมไม้ คือใช้โครงสร้างไม้เป็นหลัก
        ข้อดีของโครงสร้างไม้ก็คือ สามารถทำให้อ่อนช้อยได้ตามต้องการ จะถากจะดัดเป็นรูปอะไร ก็ถากได้ ตัดได้ ฉลุได้ สลักเสลาได้ พอทำเสร็จก็ยกขึ้นประกอบกันข้างบน เพราะฉะนั้น โบสถ์ไทยตั้งแต่โบราณมา จึงมีลักษณะการประดิษฐ์ประดอยที่อ่อนช้อยสวยงามมาก แต่ก็มีข้อเสียอยู่ว่า
        ประการที่ 1 ไม่ค่อยจะแข็งแรงคงทน เพราะเป็นไม้

        ประการที่ 2 เรื่องความแข็งแรงของโครงสร้าง ทำได้ยากเพราะเป็นไม้ จึงต้องมีเสากลางมากๆ เพื่อรับน้ำหนักหลังคา และเพราะมีเสากลางมาก ก็เลยไม่สะดวกในการใช้สอย เราลองไปดูตามศาลาโบราณซิ หลังเล็กนิดเดียวมีเสาตั้งมาก เพราะถ้าไม่มากก็รับน้ำหนักหลังคาไม่อยู่ ศาลาที่มีเสามากต้น การใช้งานไม่สะดวกหรอก คนเทศน์ กับคนฟังไม่ค่อยเห็นหน้ากัน เพราะเสามันบัง

        ประการที่ 3 ปัจจุบันหาไม้ดีๆ ได้ยาก เคยมีโอกาสสนทนากับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ ท่านเล่าให้ฟังว่า การบูรณะซ่อมแซมวัดเบญจมบพิตรฯ นี่ต้องทำกันบ่อยขึ้น เพราะว่า
         1. ไม้ที่แก่จัดจริงๆ เดี๋ยวนี้หาไม่ได้ ไม้ที่เอามาซ่อมใหม่ เก่าผุเร็วขึ้น
        2. ไม้ดีมีราคาแพงมาก และยังจำเป็นต้องใช้ไม้จำนวนมาก คือ ที่เห็นอ่อนช้อยอย่างนั้น เราดูว่าเป็นไม้ท่อนเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วมันทำจากไม้ท่อนใหญ่ เพราะความโค้งทำให้กินเนื้อไม้มาก อย่างสมมติขาโต๊ะหมู่บูชาที่เห็นว่าเล็กๆ นี่แหละ จริงๆ แล้วมันใหญ่ คือต้องใช้ไม้ท่อนใหญ่ แล้วก็มาแต่ให้โค้งอย่างนั้นโค้งอย่างนี้เพื่อให้ดูเพรียว เหลือทิ้งเป็นเศษไม้เยอะแยะ ไม้ที่เอามาใช้ต้องเป็นต้นไม้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเศษที่ทิ้งไปจึงมากกว่าที่ใช้เสียอีก งานแต่ละชิ้น หมดไม้ไปมากมาย และเมื่อมีการซ่อมแต่ละครั้งจะหมดเปลืองงบประมาณมาก
        ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระพุทธชินวงศ์ ท่านเล่าว่าเคยขออนุญาตกรมศิลปากรว่าส่วนที่เป็นไม้น่ะ ขอหล่อด้วยทองเหลืองเถอะจะได้ไม่ต้องซ่อมกันบ่อยๆ ทางกรมศิลปากรก็ไม่ยอม บอกว่าต้องการอนุรักษ์ของไทยๆ ก็ดีเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นกรมศิลปากรช่วยหาทุนมาซ่อมทีนะ กรมศิลปากรหาทุนมาซ่อมเข้าหนสองหน ตาเหลือกเลยบอก อู้ฮู้! ทำไมมันแพงอย่างนี้
        เขาทดลองกันมาแล้ว พบว่าถ้าจะทำอาคารที่เป็นไม้รูปทรงชดช้อยสวยงามอย่างโบราณ แต่ละหลัง จะต้องโค่นไม้ทำลายป่ากันอีกมาก วัดพระธรรมกายจึงหลีกเลี่ยงปัญหาข้อนี้ ไม่เอาละ ใช้โครงสร้างปูนกับโครงสร้างเหล็กแทนดีกว่า แต่แน่นอนโครงสร้างปูนโครงสร้างเหล็กจะให้อ่อนช้อยสวยงาม เหมือนไม้ของโบราณมันทำไม่ได้ ไม่เชื่อคุณลองมาดัดเหล็กเป็นท่อนๆ ให้มันอ่อนช้อยดูบ้างซิ ดัดไม่ไหวหรอก ส่วนปูนซีเมนต์ถ้าจะให้คอนกรีตแข็งแรงทนทาน ต้องหล่อให้เป็นแท่งๆ ตรงๆ แม้แต่ช่อฟ้าของโบสถ์ก็ต้องเป็นแท่ง
        ถามว่าโบสถ์ของวัดพระธรรมกายมีช่อฟ้าไหม? มีนะ ไปดูสิเราหล่อไว้เป็นคู่เลย แท่งเบ้อเร่อ ฟ้าผ่ายังไม่สะเทือน ตายแล้วเกิดใหม่ก็ยังอยู่ มีช่อฟ้าของโบสถ์บางแห่งที่เขาพยายามเอาปูนมาปั้นเลียนแบบไม้ คือเขาเอาปูนผสมทรายละเอียด แล้วก็มาปั้นให้มันอ่อนช้อย เอากระจกปิดแล้วก็ปิดทอง ก็สวยดีแต่ไม่กี่ปีก็หลุดล่อนดำหมองไปหมด
        เอาเป็นว่า ถ้าจะให้สวยถูกตาถูกใจกันละก็ ของเดิมสวยกว่าแน่ๆ แต่วัดพระธรรมกายทำอย่างนั้นไม่ไหวหรอก เพราะต้องสิ้นเหลืองเงินทองมาก อีกอย่างหนึ่งไม้ดีๆ ช่างที่มีฝีมือดีๆ ก็หายากมาก ในยุคที่เริ่มสร้างวัด เลยตัดสินใจเอาทรงนี้ เราเลือก เอาความแข็งแรง ทนทาน เอาความประหยัด และเอาประโยชน์ของการใช้สอยเข้าไว้ เพราะมั่นใจว่าอีกไม่ช้าเมืองไทยเราจะไม่มีไม้มาให้ใช้ ไม่มีช่างที่มีฝีมือเก่งๆ มาทำลวดลายให้ ต่อไปในภายภาคหน้าสถาปัตยกรรมทรงอย่างนี้แหละที่จะต้องเอามาทำกัน
        ขณะนี้ก็มีคนมาขอแบบแล้ว เขามาบอกว่า “หลวงพ่อขอพิมพ์เขียวเถอะ จะเอาไปทำบ้าง” อ้าว..ก็เห็นว่าของหลวงพ่อมันไม่เป็นทรงไทย? “เมื่อก่อนก็บ่น แต่คิดแล้วค่าก่อสร้างมันถูกดี แล้วก็ทนด้วย เลยเปลี่ยนใจ” แล้วที่ด่าหลวงพ่อไว้เมื่อก่อนล่ะจะว่ายังไง “ก็ขออภัยก็แล้วกัน เจ๊ากันไปนะหลวงพ่อ” ก็เป็นกันอย่างนี้แหละ
        ก่อนจะสร้างโบสถ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมือง ก็ทั้งคิด ทั้งค้น ทั้งศึกษา ไม่ว่าจะในพระไตรปิฎก ในตำรับตำราช่าง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ความเป็นไปได้ต่างๆ นานา ในที่สุดก็มาสรุปได้ว่า โบสถ์วัดพระธรรมกายจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อุตริทำให้แปลกกว่าคนอื่น เพราะอยากดังหรอกนะ

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *