ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนพูดเป็น

คำถาม: 
หลวงพ่อครับ ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าพูดเป็นครับ?

คำตอบ: 
คนพูดเป็น คือ คนที่คิดให้รอบคอบ มีสติก่อนที่จะพูด หรือกลั่นกรองคำพูดให้ละเอียดอ่อนเสียก่อน แล้วค่อยพูด
เพราะคำพูดยิ่งละเอียดอ่อนลึกซึ้งเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเจาะใจคนฟังได้ลึก และประทับใจได้นานเท่านั้น
ตรงกันข้ามคำพูดยิ่งหยาบเท่าไร ก็ยิ่งระคายทั้งหู ระคายทั้งใจมากเท่านั้น

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการพูดไว้ถึง 5 ประการด้วยกัน คือ
        1) พูดด้วยจิตเมตตา ทุกครั้งที่จะพูดกับใครก็ตาม ให้ถามตัวเองเสียก่อนว่า ที่เราจะพูดต่อไปนี้มีความปรารถนาดีต่อเขาหรือเปล่า ถ้ามีความปรารถนาร้ายก็อย่าพูด หรือถ้าคิดว่าพูดแล้วจะระคายหู ระคายใจ ทั้งคนฟังคนพูด ก็อย่าพูด
        2) พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ถามตัวเองเสียก่อนว่า ถึงแม้เรามีความปรารถนาดี แต่พูดไปแล้วจะเป็นประโยชน์กับเขาบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ สู้ไม่พูดดีกว่า เสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะกลายเป็นพูดเพ้อเจ้อ
        3) พูดถ้อยคำที่ไพเราะ อย่างน้อยที่สุดภาษาพูดต้องไม่ระคายหูใคร แม้จะพูดหลานๆ ไม่เป็นก็ตาม คำพูดที่เป็นประโยชน์แต่ระคายหูนั้นไม่มีใครอยากฟัง ไม่อยากทำตาม ดีไม่ดีอาจเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะไม่มีใครในโลกนี้ชอบให้ใครมาพูดข่มขู่ กระโชกโฮกฮาก คนพูดหยาบคาย ถึงแม้จะมีประโยชน์แต่ก็เหมือนกับเอาลวดหนามมาทะลวงหู มันยากที่ใครจะทนทานได้
        4) พูดถ้อยคำที่เป็นจริง แม้คำพูดของเราจะไพเราะ มีประโยชน์ เต็มไปด้วยความปรารถนาดี แต่ถ้าไม่เป็นจริงแล้ว สู้ไม่พูดเสียดีกว่า เพราะเอาเองจะกลายเป็นคนโกหก เป็นคนขาดศีล ซึ่งไม่คุ้มกันเลย พูดให้คนอื่นได้ประโยชน์ไป แต่เราเสียประโยชน์ แบกนรกโดยใช่เหตุ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพราะนิสัยพูดไม่จริงขึ้นมา และเมื่อพูดไม่จริงจนเคยชินมากเข้า ก็จะกลายเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนหลงๆ ลืมๆ กะป้ำกระเป๋อไปในที่สุด
        5) พูดถูกกาลเทศะ คือ ก่อนพูดต้องดูกาลเทศะให้ดี คนที่พูดไม่ถูกเวลา ไม่ถูกสถานที่ อาจทำให้ตัวเองถึงตายได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นที่เกลียดชัง เช่น เตือนผู้ใหญ่ต่อหน้าธารกำนัล แม้จะพูดไพเราะแค่ไหน ก็ถือว่าพูดผิดที่ แทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นการฉีกหน้าหรือเตือนคนที่กำลังมีโทสะพลุ่งพล่าน มีอาวุธอยู่ในมือ เตือนคนผิดจังหวะอย่างนี้ จะกลายเป็นยื่นคอให้เขาเชือด

        การพูดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ถ้าไม่รู้ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด สู้นิ่งไว้ดีกว่า เหมือนโบราณว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทองนะ

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *