ปัญหารถติดแก้ไขอย่างไรดี

คำถาม: การจราจรติดขัดมากในกรุงเทพฯ ประเทศอื่นรถยนต์เขาก็มีกันตั้งมาก ทำไมเขาไม่มีปัญหารถติดมากๆ อย่างเรา?

คำตอบ: การจราจรติดขัด เกิดจากการไม่ยอมลดราวาศอกให้กันและกัน
และการไม่ยอมกัน ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดในเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่เลี้ยงลูกไม่เป็น วิธีเลี้ยงลูกไม่ค่อยถูกต้อง

        เอาง่ายๆ ถ้าลูกทะเลาะกันหรือลูกไม่ลงรอยกัน ถามว่าแม่จะห้ามไหม
มีไม่กี่คนที่ไม่ห้าม ส่วนมากจะเข้าห้าม แล้วตัดสินลงโทษ ซึ่งบางทีก็ตัดสินพลาดไป
ในทัศนะนี้ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาบอกว่ายังไงเสียเด็กก็ไม่ตีกันจนถึงตายหรอก
เพราะฉะนั้นถ้าลูกทะเลาะกันเขาจะไม่ห้าม เขาปล่อยให้เด็กหาวิธียุติปัญหากันเอง
คนโตอาจจะเกรี้ยวกราดกับน้องมากไปหน่อย แต่คนเล็กก็ต้องมีวิธีการพูดเสียงอ่อยๆ ทำให้น่าเห็นใจ จนพี่ต้องยอม เรื่องมันก็จบ
หรือถ้าพี่รังแกน้องมากเข้าน้องก็ไม่เล่นด้วย พี่ก็ต้องมาตามง้อน้อง ก็เป็นเรื่องที่เขาจะแก้ปัญหากันเอง
ไม่ใช่พ่อแม่ลงมาเล่นบทบู๊เสียเอง

        คนไทยไม่เป็นอย่างนั้น เรื่องก็เลยกลายเป็นว่าทุกครั้งที่คนไทยมีเรื่องก็ทะเลาะกันต้องมีบุคคลที่สามมาห้าม
ถ้าถึงขั้นจลาจลในหลวงต้องทรงลงมาไกล่เกลี่ยให้เสมอ
แล้วถ้าครั้งนั้นในหลวงทรงห้ามไม่ทันจะทำอย่างไรกัน?

        นิสัยอีกอย่างของคนไทย คือความรักอิสระ
คนไทยแม้ไปอยู่ต่างประเทศก็รวมตัวกันไม่ได้
เมื่อมีเรื่องขึ้นมาก็ไม่รู้จะไปหาผู้ใหญ่ที่ไหนมาไกล่เกลี่ย ไม่มีตัวประสาน
ขณะที่ชนชาติอื่นบางชาติ แม้ไปอยู่ต่างประเทศ เขาก็สามารถรวมตัวกันได้แน่นแฟ้น
เขาไม่ต้องการให้ใครอื่นมาประสาน เขาประสานตัวของเขาเอง
วินัยระดับชาติก็เป็นผลมาจากวิธีการเลี้ยงลูกของเขา

        ในที่ประชุม ฝรั่งเขาโต้เถียงกันแบบเอาเป็นเอาตาย
พอออกจากที่ประชุมเรื่องก็จบ

ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน แม้จะไม่ถูกกันเป็นส่วนตัว แต่ในที่ทำงานเขาประชุมกันอย่างดี
พอออกจากที่ประชุมปั๊บต่างคนต่างไป มันไม่ยอมลงให้แก่กัน
แต่พอถึงเวลาเข้าที่ประชุม เรื่องส่วนรวมคือส่วนรวม ส่วนตัวคือส่วนตัว

แต่คนไทยแยกอย่างนี้แยกไม่ออก
นี่เกิดจากพื้นฐานในการอบรมลูก

        ยังไม่พอ เรื่องที่ชาวญี่ปุ่นกลัวมาก คือกลัวหมู่คณะไม่ยอมรับ
แต่คนไทยเฉยๆ ตัวใครตัวมัน
ถามว่าญี่ปุ่นปลูกฝังอยู่นานไหมให้คนเห็นแก่ส่วนรวม
ตอบว่านานมาก ปลูกฝังกันเป็นร้อยๆ ปี
แล้วระหว่างนั้นก็เอาเลือดเอาเนื้อเอาชีวิตเป็นเครื่องสังเวยไปเยอะ
เขาปลูกฝังกันมาตั้งแต่สมัยโชกุนปกครองประเทศ

        เรื่องมีอยู่ว่าเนื่องจากญี่ปุ่นมีการรบกันบ่อยมาก
ต้นฤดูฝนทุกปีโชกุนก็ส่งซามูไรมาเก็บเสบียง
หมู่บ้านนี้มีกี่หลังคาเรือน? สมมติว่ามี 100 หลังคาเรือน
ซามูไรก็จะบอกคราวหน้าเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจะมาเอา 100 เกวียน
จะทำมาได้เท่าไรไม่รับรู้
พอถึงหน้าแล้วพวกซามูไรก็มาเอาข้าว 100 เกวียน
เขาไม่ได้มาดูว่าแต่ละครอบครัวมีสมาชิกเท่าไร
พอถึงหน้าแล้งพวกซามูไรก็มาเอาข้าว 100 เกวียน
หมู่บ้านไหนได้ 80 เกวียน ซามูไรก็เอาไป 80 พร้อมกับศีรษะของหัวหน้าหมู่บ้าน ริบเอาลูกเมียไปด้วย
แล้วก็จะบอกว่าปีหน้าจะมาเอาอีก 100 เกวียน บวกกับอีก 20 เกวียนที่ขาดในปีนี้ รวมเป็น 120 เกวียน

        ก่อนจะไปก็จะแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านคนใหม่ไว้
ยังไม่พอ เมียใครลูกสาวใครยึดเอาไปหมด
ความรับผิดชอบร่วมกันจึงเกิดขึ้น
คนไหนไม่ตั้งใจทำกิน ถ้าปล่อยไว้ในหมู่บ้านจะทำให้ข้าวเกวียนที่ 100 ขาดไป
ในหมู่บ้านจึงคัดคนพวกนี้ออก
พอย้ายไปหมู่บ้านอื่นเขาก็จะถามและจะไม่ยอมให้เข้าหมู่บ้าน เพราะว่ากลัวเจอปัญหาเดียวกัน

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่ญี่ปุ่นกลัวมาก คือการถูกขับออกจากหมู่คณะ
ขณะที่คนไทยไม่เคยพบปัญหานี้
ญี่ปุ่นเขาเอาชีวิตเอาเลือดเอาเนื้อแลกมา
เพราะเหตุนี้เขาจึงเข้มงวด และไม่ได้เพิ่งจะเข้มงวด แต่ได้ทำกันมาหลายร้อยปีแล้ว

        ถ้าถามว่าทำไมจึงเข้มงวดกันขนาดนี้
ตอบว่าประเทศของเขาอากาศหนาวก็หนาวเอาตาย ฝนตกก็ตกเอาตาย ร้อนก็เอาตาย
กว่าจะได้ข้าวปลาอาหารมาก็แสนยาก
แต่ประเทศไทยอากาศสบายๆ ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์
ก็เลยเรื่อยๆ เฉื่อยๆ กันอย่างนี้แหละ

        สรุปว่าการที่จราจรของเราเป็นกันอย่างนี้
เพราะการอบรมปลูกฝัง
ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียอยู่ในตัว
การอบรมอย่างนั้นของเขา
ข้อดีคือ ทำให้เกิดความสามัคคี
ข้อเสียคือปัจเจกชน หรือความเป็นตัวของตัวเองหมดไป
ถ้าไปเจอหมู่คณะไหนหัวหน้าหมู่แสบละก็ ลูกหมู่เละเลย
นี่ก็เป็นความเดือดร้อนของเขา
ถึงคราวที่เขาต้องปราบก็ต้องปราบกันแรงๆ ปราบกันชนิดเอาเป็นเอาตาย ไว้หน้าใครก็ไม่ได้
เพราะว่ามากันทั้งหมู่ ของเขามากันอย่างนี้

        ส่วนของประเทศเรารักอิสระกันนัก
อิสระกันจนถนนหนทางไม่พอแบ่งให้กันใช้
เลยติดกันเป็นแพ
วันละหลายๆ ชั่วโมง
รู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องอดทนและค่อยๆ แก้ไขนิสัยเอาแต่ใจตัวให้มันลดลงเสียบ้าง
เริ่มที่ตัวเราเองเป็นคนแรกเลยนะ

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *