ทำอย่างไรลูกจ้างกับนายจ้างจึงจะพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

คำถาม: ลูกจ้างกับนายจ้าง ปกติจะมีเรื่องกระทบกระทั่งและขัดแข้งกันอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็รุนแรงจนถึงขั้นเดินขบวน ทำอย่างไรลูกจ้างกับนายจ้าง จึงจะอยู่อย่างพอใจกันด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายครับ?

คำตอบ: เรื่องลูกจ้างกับนายจ้างนี่นะ ที่จะให้อยู่กันอย่างราบรื่นโดยไม่กระทบกันเลยน่ะ ขอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เฉพาะลูกจ้างกับนายจ้างหรอก แม้สามีกับภรรยาอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่หนุ่มสาว ตอนนี้อายุห้าหกสิบ แก่จะย่ำแย่แล้ว ยังไม่วายกระทบกันเลย ลิ้นกับฟันอยู่ในปากเราเองแท้ๆ ก็ยังไม่วายกระทบกัน

        จำไว้เถอะ ถ้าของตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นไป มาอยู่ในที่เดียวกันก็ต้องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าทำอย่างไรการกระทบกระทั่งนั้นจึงจะไม่รุนแรง ที่ว่าธรรมดาต้องกระทบกระทั่งกัน ก็เพราะว่ายังมีกิเลสด้วยกันทั้งคู่นั่นเอง ฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า ทำอย่างไรเมื่อมีการกระทบกระทั่งกันแล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะไม่ก่อเหตุการณ์รุนแรงกัน
วิธีง่ายๆ คือ เมื่อเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันแล้ว ขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดในใจไว้ 3 อย่างต่อไปนี้
        1. นึกว่าเรื่องกระทบกระทั่งกันนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องช่วยกันแก้ไข
        2. อย่าคิดว่าใครผิดฝ่ายเดียว อย่าไปหาเลยว่าใครเป็นผู้ผิดเหมือนจะไปหาว่า ลิ้นผิดหรือฟันผิดที่ไปกระทบกระทั่งกัน จำไว้ว่า “อย่าไปค้นหาว่าใครผิด”
        3. ให้พิจารณาว่าเรามีส่วนก่อให้เกิดความผิดพลาดครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน
        พูดง่ายๆ อย่าไปหาตัวว่าใครผิด แต่ให้ไปหาว่าความผิดคืออะไร เรามาช่วยกันหาความผิด แล้วช่วยกันแก้ไข โดยเริ่มจากความบกพร่องของตัวเอง ให้ตั้งความปรารถนาดีซึ่งกันและกันเอาไว้
        ฝ่ายนายจ้าง ก็สร้างความรู้สึกว่า ตัวเรานี่ถ้าเป็นอวัยวะก็เหมือนหัว ฝ่ายลูกจ้างก็ให้ทำความรู้สึกว่าเราเป็นมือเป็นเท้า หรือเป็นแขนเป็นขา คนเราถ้ามีแต่หัว ไม่มีแขนไม่มีขานี่ทำงานไม่ได้หรอกนะ ฉลาดก็ฉลาดไปเถอะ ในฝ่ายลูกจ้างก็ทำความรู้สึกว่า ถึงแม้มีมือและเท้าแข็งแรงกว่าใครๆ ทั้งโลก แต่ถ้าหัวขาดก็ทำงานไม่ได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างนึกเสียว่า ทั้งลูกจ้างกับนายจ้างต่างเป็นอวัยวะเป็นส่วนประกอบในตัวด้วยกันแล้ว เดี๋ยวก็หันหน้าเข้าหากันเอง ค่อยแก้ไขกันไป หรือไม่อย่างนั้นจะนึกถึงความเป็นญาติกันก็ได้ นายจ้างทำความรู้สึกว่าตัวเรานี่เหมือนอย่างกับเป็นพ่อเป็นแม่ ลูกจ้างก็ทำความรู้สึกอย่างกับเป็นลูกเป็นหลาน มีความผูกพันกันอย่างนี้ เดี๋ยวก็หันหน้าเข้าหากันจนได้

        ในการค้นหาข้อบกพร่องของตัวเองในกรณีเป็นลูกจ้าง-นายจ้างกันนั้น ปู่ย่าตาทวดมีวิธีให้ค้นอย่างนี้ ให้ลูกจ้างถามปัญหาตัวเองขึ้นมา 4 ข้อว่า
        1. ทุกครั้งที่เราทำงาน หรือที่มีงานมา เรา “เต็มใจ” ทำทุกครั้งเหมือนเป็นงานของเราเองหรือเปล่า
        2. เมื่อพบอุปสรรคในงาน เรา “แข็งใจ” ทำหรือเปล่า
        3. เมื่อแข็งใจ เต็มใจทำแล้ว ในการทำงานแต่ละครั้ง เรา “ตั้งใจ” ทำให้ดีที่สุดหรือเปล่า
        4. เรา “เข้าใจ” วิธีทำงานแต่ละชิ้นหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าขยันแต่โง่นะ มันต้องรู้จักไตร่ตรองเข้าใจทำด้วย ขยันด้วย ฉลาดด้วย ถ้าอย่างนี้จึงใช้ได้

        สรุปว่าฝ่ายลูกจ้างให้ตรวจสอบตัวเองในการทำงานว่า เต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ แล้วก็เข้าใจทำหรือเปล่า
ส่วนนายจ้างให้สำรวจข้อบกพร่องตัวเองว่า ในขณะที่ลูกจ้างเขามีใจพร้อมที่จะทำงานแล้วนั้น เราซึ่งเป็นนายจ้างมีสิ่งเหล่านี้ให้เขาหรือเปล่า ได้แก่
        1. เรามี “ความเมตตา” แบ่งงานให้เขาทำพอเหมาะกับความรู้ความสามารถของเขาหรือไม่ รวมทั้งจ่ายค่าแรงพอเหมาะกับงาน พอเหมาะกับค่าครองชีพหรือเปล่า
        2. เวลาที่เขาต้องลำบากลำบนแข็งใจทำงาน ทนแดด ทนลม ทนฝน ทนเหนื่อยอยู่นั้น เรามี “ความกรุณา” ให้สวัสดิการกับเขาเต็มที่หรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคราวป่วยคราวไข้เราดูแลเขาเต็มที่ไหม ไม่ใช่ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็ปล่อยทิ้ง นายจ้างที่ดีนั้นต้องถือคติว่า ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็รักษา คือมีความกรุณากันให้เต็มที่ด้วย
        3. ในขณะที่ลูกจ้างตั้งใจทำงานสุดฝีมือ เราได้ส่งเสริม ได้สนับสนุนให้มีการฝึกฝีมือเพิ่มขึ้น มีการอบรมหลักสูตรเฉพาะให้เขาหรือเปล่า แถมกระทั่งว่าสิ้นปี เรามีโบนัสให้เขาหรือเปล่า ต้องชูกำลังกันบ้าง แล้วไม่ใช่ให้กันนิดหน่อย ต้องเต็มที่เลยนะ ภาษาพระใช้ว่ามี “มุทิตา”
        4. ข้อนี้สำคัญที่สุด เมื่อเราได้พบลูกจ้างที่เขาเต็มใจทำงานแข็งใจทำงาน ตั้งใจทำงาน และเข้าใจหรือฉลาดทำงานด้วยอย่างนี้ เราได้ให้ “อุเบกขา” หรือความเป็นธรรมแก่เขาพอไหม ไม่ใช่เวลาทำงานทั้งๆ ที่ลูกจ้างเขาทำเต็มที่ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ถึงคราวจะยกย่องจะให้ตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ กลับมีการเล่นเส้นเล่นสาย เอาลูกเอาหลานตัวเองขึ้นมา โดยไม่คำนึงถึงน้ำใจกันบ้าง หรือไม่คำนึงถึงฝีมือกันเลย เรามีการกระทำอย่างนั้นไหม ถ้าไม่มีละก็ แสดงว่าเราได้ทำหน้าที่ของนายจ้างอย่างสมบูรณ์แล้ว

        ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายสำรวจตรวจสอบตัวเองกันอย่างเป็นธรรมเช่นนี้ ไม่ช้าก็กลับคืนเข้าหากันได้เอง เรื่องที่จะกระทบกระทั่งรุนแรงจนเดินขบวนก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะเขียนเป็นแผนกูมิขึ้นมา เราก็ได้อย่างนี้คือ ฝ่ายลูกจ้างก็ต้องเต็มใจ คือมี ฉันทะ นั่นเอง ฝ่ายนายจ้างก็ต้องมีเมตตา แล้วเมื่อฝ่ายลูกจ้างเขามีข้อที่ 2 คือ แข็งใจทำ ซึ่งทางพระเรียก วิริยะ นายจ้างก็ต้องมี กรุณา จัดสวัสดิการเต็มที่
        พอถึงข้อที่ 3 เมื่อลูกจ้างตั้งใจทำอย่างดีที่สุดเลย ภาษาพระใช้คำว่า จิตตะ นายจ้างก็ต้องมีน้ำใจให้กันเต็มที่ ส่งเสริมสนับสนุนกันเต็มที่ คือมีมุทิตา
        ข้อที่ 4 สุดท้ายยิ่งลูกจ้างเขารู้จักไตร่ตรองเข้าใจทำ ภาษาพระเรียกว่า วิมังสา นายจ้างก็ต้องมีอุเบกขา คือให้ความเป็นธรรมให้เต็มที่

        ถ้าเราทำกันอย่างนี้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้วล่ะก็  รับรองได้ว่าการเดินขบวนประท้วงไม่มีเลย มีแต่หันหน้ามาคุยกัน แล้วจะรักกันข้อพึงปฏิบัติ 4 ข้อ สำหรับลูกจ้าง ดังกล่าวข้างต้น คือคุณธรรมที่มีชื่อว่า “อิทธิบาท 4” ส่วนข้อพึงปฏิบัติสำหรับนายจ้าง 4 ข้อ ก็คือคุณธรรมที่ชื่อว่า “พรหมวิหาร 4” นั่นเอง
        ในกรณีที่เกิดการกระทบกระทั่งกันไม่ว่าที่ไหน สิ่งที่จะต้องทบทวนโดยสรุปก็คือ นายจ้างเองต้องสำรวจตัวเองว่า ตัวเรานี้ทำตัวเหมือนพ่อเลี้ยงลูก คือตั้งใจให้ลูกเรามีกินมีใช้อย่างเต็มที่หรือเปล่า ส่วนลูกจ้างก็ถามตัวเองอีกว่า เราทำตัวเหมือนลูกที่ทำงานให้พ่อเต็มที่แล้วหรือยัง ถามกันอย่างนี้แล้วแก้ไขตัวเองเสีย ทุกอย่างจะเรียบร้อยหมด เพราะว่าได้ใช้คุณธรรมเชื่อมใจประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างแล้ว
        แต่อย่างไรก็ตาม ขอเตือนไว้อย่างหนึ่งว่า ทั้งๆ ที่ปฏิบัติอย่างนี้ก็คงจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ว่าไม่รุนแรง คือกระทบแต่ไม่กระเทือนเหมือนอะไร เหมือนลิ้นกับฟัน ลิ้นกับฟันกระทบกันแค่เจ็บนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับกระเทือนไปทั้งตัว คือลิ้นไม่ต้องถูกตัด ฟันก็ไม่ต้องถูกถอนอยู่กันต่อไปได้
        โบราณเคยให้ข้อคิดเอาไว้ ขอฝากสำหรับนายจ้างโดยเฉพาะเลยนะ ถ้านายจ้างท่านใดได้ลูกน้อยหรือลูกจ้างที่มีคุณสมบัติดีๆ 4 ข้อที่ว่ามาแล้ว โบราณท่านว่าอย่าปล่อยให้หลุดไป ถ้าหลุดไปอยู่กับคนอื่น กลายเป็นคู่แข่งของเราละก็ ยุ่งเลยต้องสู้กันชนิดหืดขึ้นคอ บางทีล้มละลายเอาทีเดียว
        เรื่องลูกจ้างกับนายจ้างนี่โบราณเขาทำกันอย่างนี้เชียวนะ ครอบครัวใดเจอลูกจ้างดีๆ ถ้ามีลูกสาวเขายกให้เลย ถ้าไม่ยกลูกสาวให้ บางบ้านก็ให้ถือหุ้นร่วมกันเพื่อจะได้คบกันยืด อยู่กันนาน ลูกจ้างก็เหมือนกัน เจอนายดีๆ มีพรหมวิหาร 4 อย่างพ่อบังเกิดเกล้า ก็ฝากชีวิตไว้กับท่านเลย จะสุขสบายไปตลอดชาติ

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *