เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

คำถาม:
เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

คำตอบ:
     การงานใด ๆ ไม่มีคำว่าเล็กหรือใหญ่ไป เพราะทุกงานที่ทำมีผลโดยตรงต่อชีวิตของเราและส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอ ทัศนคติที่ดีและถูกต้องในการทำงานจะนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต

     หลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราบางกลุ่มฟังแล้ว วันนี้จะขอฉายซ้ำ เมื่อสร้างวัดได้ประมาณ  ๗ ปี ๘ ปี ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา ตอนนั้นหลวงพ่อมีคนงานปลูกต้นไม้อยู่ประมาณ ๓๐ คน วันหนึ่งประมาณบ่าย ๒ โมง ขณะที่เด็กคนงานปลูกต้นไม้กันอยู่ มีทั้งเด็กผู้หญิง ผู้ชาย พวกเขาทำงานไปก็คุยกันไป เสียงอาจจะดังรบกวนเข้าไปถึงกุฏิคุณยาย ท่านเลยเดินออกมา

     มาถึงท่านก็ถามเด็ก ตอนนั้นหลวงพ่ออยู่ด้วย ท่านถามด้วยคำถามอย่างนี้ “ไอ้หนูเอ๊ย เอ็งปลูกต้นไม้ เอ็งคิดอะไรกันบ้างไหม”

     ท่านไล่ถามทีละคน หลวงพ่อยืนฟังอยู่ ยังจำได้ คนที่ตอบทุกคน แบ่งออกได้เป็น ๔ กลุ่ม

     กลุ่มที่ ๑ เป็นพวกเด็กใหม่ บอกว่าเวลาปลูกต้นไม้ไม่ได้คิดอะไร ได้แต่นึกอย่างเดียว  ‘เจ้าประคุณ ต้นไม้ต้นกล้าอย่าตายนะ เดี๋ยวถูกดุ เดี๋ยวหลวงพี่เด็จจะดุเอา’ นี่พวกหนึ่ง เป็นคนงานใหม่ ตั้งใจทำงาน แต่ทำไปก็กลัวไป กลัวโดนดุ กลัวจะต้องโดนออกจากงาน

     กลุ่มที่ ๒ ทำงานนี้มาแล้วเป็นปี เรื่องกลัวต้นไม้จะตายไม่ต้องเป็นห่วง เขานึกว่า  ‘เจ้าประคุณ โตเร็ว ๆ เถอะ จะได้ไม่ต้องมารดน้ำ อยากจะให้มันโตเร็ว ๆ จะได้ทำงานใต้ร่มไม้ เย็นดี นกกามาอยู่ก็เป็นบรรยากาศธรรมชาติดี’ นี่คือพวกที่ ๒ สำหรับพวกที่ ๒ นี้  มีทั้งอายุมากและอายุน้อย แต่เขาคิดได้แค่นี้

     กลุ่มที่ ๓ ชุดนี้เป็นผู้ใหญ่ เขาบอกว่า ‘อยากให้มันโตเร็ว ๆ ใครอยากฟังเทศน์บนศาลา ก็เอา จะมาฟังเทศน์โคนไม้ก็เอา สบายดีออก เหยียดแข้งเหยียดขาก็ได้ นั่งสมาธิ(Meditation)ก็ดี บรรยากาศก็ให้ พวกเด็กเล็กจะได้ลงมาอยู่กับแม่กับพ่อ ไม่ไปกวนใคร ถึงเวลาอยากนั่งก็นั่ง ถึงเวลาอยากจะเล่นบ้างก็ตามเรื่อง อย่างไรเสียก็ได้อะไรบ้างแหละ ขณะที่เล่นก็ฟังเทศน์ไปด้วย แม่นั่งหลับตา เด็กก็หลับตา แม่นั่งชั่วโมงหนึ่ง เด็กอาจจะหลับตา ๕ นาที ก็ช่างเถอะ เป็นการฝึกเด็ก’

     กลุ่มที่ ๔ หัวหน้างาน เป็นผู้ใหญ่ มีอยู่ ๒ คน คุณยายถามเขาก็ตอบว่า ‘ไม่คิดอะไรมากหรอก คิดจะทำแลนด์สเคป (landscape) คือตกแต่งสถานที่ให้ดี ให้มีบรรยากาศทั้งร่ม ทั้งครึ้ม ทั้งสวยงาม’ แล้วเขาพูดมาประโยคหนึ่ง ‘ใครมานั่งให้เข้าถึงพระธรรมกายง่าย ๆ แล้วให้บรรลุธรรมเหมือนอย่างองค์ที่นั่งใต้โคนโพธิ์เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีนั่น’ โอ้โฮ เขาคิดถึงกับให้คนมานั่งสมาธิแล้วตรัสรู้เลย

    พอหัวหน้างานคนนี้ตอบเท่านั้น คุณยายบอก ‘เออ มันต้องคิดอย่างนี้สิ ไอ้หนูเอ๊ย เอ็งฟังพี่เขา พี่เขาคิดอย่างนี้ เอ็งเอาแต่คุยกัน แล้วอย่างนี้บุญจะเกิดไหม’

    คุณยายท่านใช้คำนี้ ‘แล้วอย่างนี้บุญจะเกิดไหม อย่างพี่เขา เขาได้งาน แล้วก็ได้บุญด้วย เอ็งเอาแต่คุยกัน บุญไม่เกิดนะ’ แล้วคุณยายก็กลับไป

    ตอนนั้นหลวงพ่อก็ยังตามอะไรไม่ทันนักหรอก ตกกลางคืนก็มาคิด ‘เออ พวกเด็กใหม่ปลูกต้นไม้ คิดว่าขอให้ต้นไม้อย่าตายเลย แล้วก็ตั้งใจปลูก แล้วได้อะไรขึ้นมาบ้าง เมื่อตั้งใจปลูกก็ได้งาน แล้วก็ได้เงิน แต่ว่าไม่ได้อารมณ์ที่สบายใจ เพราะยังกลัวโดนดุอยู่ ไม่ได้อารมณ์ดีๆ และไม่ได้บุญ เพราะไม่ได้นึกถึงบุญ

    พวกที่ ๒ ทำงานไปคิดไป ให้ต้นไม้โตเร็ว ๆ เถอะ อีกหน่อยจะได้ทำงานใต้ร่มไม้ จะได้เย็น ๆ งานก็ได้เยอะ นกกาก็ได้อาศัย พวกนี้ทำงานได้งานและอารมณ์ในการทำงานก็ดีด้วย เขาได้เงิน ได้อารมณ์ที่ดี แต่ไม่ได้บุญ เพราะไม่ได้นึกถึงบุญ

    พวกที่ ๓ คิดว่า ต้นไม้ที่ปลูกให้โตเร็ว ๆ ใครมาฟังเทศน์ก็สบาย นั่งสมาธิก็สบาย พวกนี้    ได้งาน ได้เงิน ได้อารมณ์ แล้วก็ได้บุญ (เล็กน้อย)

    พวกที่ ๔ ได้งาน ได้เงิน แล้วก็ได้บุญเต็ม ๆ เพราะเข้าใจเรื่องบุญ เมื่อคิดถึงเป้าหมายของงานจึงคิดได้ลึกซึ้ง เขาจึงได้บุญ ส่วนคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจเรื่องบุญ เลยได้แต่งาน เหนื่อยเท่ากัน งานก็ได้เท่ากัน แต่ได้บุญไม่เท่ากัน

    ย้อนมาถึงในบ้านของเรา ถ้าให้คนรับใช้ทำงานเช็ดห้องพระ ถูห้องพระ เขาจะคิดเหมือนเราหรือไม่? คนรับใช้มาถูห้องพระ เช็ดห้องพระคิดอย่างไร เขาก็คิดทำงานให้มันเสร็จ คิดให้มันสะอาด แล้วจะเอาบุญมาจากตรงไหน

    แต่ถ้าเราเช็ด เราถู เราคิดอย่างไร? เช็ดไปก็นึกไป ถ้าใครเคยบวช รูปอุปัชฌาย์ก็อยู่ที่ห้องนี้ รูปพ่อรูปแม่ก็อยู่ที่นี่ คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงหลวงพ่อ หลวงปู่ เลยไปกระทั่งคิดถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ เมื่อไรหนอ เราจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในสักที  เช็ดไปก็นึกไป ความคิดมันจะออกมาในลักษณะนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเราเช็ด เราได้บุญ แต่ถ้าให้คนอื่นมาทำ เขาได้แค่ความสะอาด ได้แค่งาน ได้แค่เงิน

    ในที่ทำงานก็เช่นกัน ยกตัวอย่างอาชีพครู เป็นครูบาอาจารย์สอนคน ถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่ก็สอนอย่างหนึ่ง แต่ถ้าคิดต่อไปอีกว่าจะเสกให้เป็นทายาทของศาสนา ทายาทในการรักษามรดกคือประเทศชาตินี้ เมื่อคิดไม่เหมือนกัน ก็ได้บุญได้บาปไม่เหมือนกัน

    บางคนสอนลูกศิษย์ไปก็ได้บุญไป อบรมนิสัยไปด้วย บางคนคิดเพียงสอนให้จบไปแต่ละชั่วโมง หรือบางคนตั้งใจทุ่มเทจริง ๆ แต่หวังให้ไปประกอบอาชีพได้ดี ก็ได้แค่ความปรารถนาดี บุญอาจจะได้มาส่วนหนึ่ง ไม่เหมือนครูที่ตั้งใจจะให้เป็นคนดี ให้ศิษย์รู้ศีลรู้ธรรม เขาจะได้  ไปอบรมรุ่นหลัง ๆ ต่อไปได้ แค่ความคิดที่ต่างกัน แต่เหนื่อยเท่ากัน ผลงานที่ออกมาก็ไม่เท่ากัน

    มีคน ๒ คน แม่ลูกอ่อนทั้งคู่ คนหนึ่งจน เป็นลูกจ้างเขา ลูกหิวนมก็ร้องจ๊าก ๆ แม่จะทิ้งงานมา ก็กลัวนายจ้างเขาจะว่าเอา ก็ต้องทำงานให้เขาจนเสร็จ กว่าจะวางงานมาเอานมให้ลูก ลูกก็ร้องอยู่นานจนตัวงอ พออุ้มลูกได้ ให้ลูกกินนม แม้ว่าลูกจะร้องจนตัวงอ แต่ว่ามือของแม่ที่ป้อนนมลูกด้วยความทะนุถนอม ลูกก็สัมผัสได้ถึงความรัก ความปรารถนาดีของแม่

    ต่างกับอีกมือหนึ่งของแม่ที่ติดไพ่ ลูกร้องหิวจะกินนม แม่ไม่ยอมวางมือจากวงไพ่ รอจนเสียไพ่หรือได้แล้วเท่านั้น ถึงจะรีบไปจับลูกมาให้นม ความคิดของแม่ที่ติดไพ่คือให้ลูกรีบกินเข้าไป เดี๋ยวแม่จะรีบไปเล่นต่อ

    เด็กทั้งคู่กินนมไม่ตรงเวลา แต่ได้กินแล้วอิ่มเหมือนกัน เด็กคู่นี้มีนิสัยติดตัวเหมือนกันคือเจ้าโทสะ แต่มีรายละเอียดต่างกัน

    คนแรกถึงจะเจ้าโทสะ จะอาละวาดอย่างไร แต่รักแม่และรู้ว่าแม่รักและปรารถนาดีต่อเขา เมื่อเขาทำเรื่องร้ายกาจอะไร แม่ก็ยังหยุดลูกได้ ห้ามลูกได้ เพราะมือที่ห่วงลูก ลูกสัมผัสได้ตั้งแต่เล็กว่าแม่รักเขา เพราะฉะนั้นแม่จึงเตือนจึงว่าเขาได้

    แตกต่างจากคนที่สองที่มีแม่เล่นไพ่ แม่ไม่สามารถหยุดหรือห้ามลูกได้ ระวังแต่ว่าลูก จะด่าสวนกลับมา เพราะเขาสัมผัสได้มาตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าแม่ไม่ได้รักเขา แม่รักไพ่มากกว่าลูก

    ขอฝากไว้ให้คิด แล้ววันหนึ่งเราจะพบด้วยตัวเองว่า ทัศนคติในการทำงาน ขณะทำงานนั้น ๆ มีอิทธิพลล้นเหลือต่อชีวิตและผลงานของเรา ทัศนคติหรือมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องชัดเจน ความเข้าใจถูกต่อโลกและชีวิต เราจะหมั่นฝึกฝนตนเองได้สม่ำเสมอจากการฝึกตัวภายใน ๕ ห้องประจำชีวิต แล้วทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ต่อการสร้างคน ต่อการสร้างบุญ  จะทำให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองตามมา

โอวาท หลวงพ่อทัตตชีโว (คุณครูไม่เล็ก)
วันที่
ที่มา
วารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกรกฏาคม ปี 2556
บทความหลวงพ่อตอบปัญหา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *