กัณฑ์ ๑-๓ วิชชาจรณะสัมปันโน

กัณฑ์ ๑ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
คำว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน แปลว่า พระองค์ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ คุณวิเศษของพระองค์ในที่นี้ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ ๑ วิชชา ๒ จรณะ อะไรเรียกว่า วิชฺชา วิชฺชาในที่นี้ หมายเอาความรู้ที่กำจัดมืดเสียได้ มืดคืออะไร ในที่นี้หมายเอาขันธ์ ๕ คือ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงกันข้ามกับ อวิชชา ที่แปลว่า ไม่รู้ คือไม่รู้ถูกหรือผิด เพราะว่าเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน จึงมืดมนไม่รู้ไม่เห็นของจริง คือนิพพาน ข้อสำคัญอยู่ที่อุปาทาน ซึ่งแปลว่า ยึดมั่น คือยึดมั่นในขันธ์ ๕ ถ้ายังตัดอุปาทานไม่ได้ตราบใด ก็คงมืดตื๊ออยู่อย่างนั้น ตัดอุปาทานได้ มีนิพพานเป็นที่ไป ในเบื้องหน้า หรือพูดให้ฟังง่ายกว่านี้ ก็ว่าเมื่อตัดอุปาทานเสียได้ จะมองเห็นนิพพานอยู่ข้างหน้า อวิชชาที่แปลว่าไม่รู้นั้น ได้แก่ ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท และ อริยสัจจะ

ขันธ์ ๕ เป็นชื่อของอุปาทาน ถ้าปล่อยขันธ์ ๕ หรือวางขันธ์ ๕ ไม่ได้ ก็พ้นจากภพไม่ได้ คงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน กามภพ รูปภพ อรูปภพนี้เอง มืดมนวนอยู่ในที่มืดคือโลกนี้เอง ได้ในคำว่า อนฺธภูโต อยํ โลโก ซึ่งแปลว่า โลกนี้น่ะมืด ผู้แสวงหาโมกขธรรมถ้ายังติดขันธ์ ๕ อยู่แล้ว ยังจะพบโมกขธรรมไม่ได้เป็นอันขาด กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเหล่านี้อยู่ในพวกมีขันธ์ ๕ กล่าวคือมนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหมเหล่านี้อยู่ในพวกมีขันธ์ ๕ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรก ก็พวกมีขันธ์ ๕ พวกมืดทั้งนั้น ยิ่งในโลกันตนรกเรียกว่า มืดใหญ่ทีเดียว

วิชชาที่ว่านี้ หมายเอา วิชชา ๓ คือ วิปัสสนาวิชชา มโนมยิทธิวิชชา อิทธิวิธีวิชชา แต่ถ้านับรวมตลอดถึงอภิญญา ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของวิชชาเข้าด้วยกัน แล้วรวมกันเป็น ๘ คือ ทิพพจักษุวิชชา ทิพพโสตวิชชา ปรจิตตวิชชา บุพเพนิวาสวิชชา อาสวักขยวิชชา

ส่วนจรณะ นั้นมี ๑๕ คือ ๑ ศีลสังวร ๒ อินทรียสังวร ๓ โภชเนมัตตัญญตา ๔ ชาคริยานุโยค ๕ ศรัทธา ๖ สติ ๗ หิริ ๘ โอตตัปปะ ๙ พาหุสัจจะ ๑๐ อุปักกโม (วิริยะ) ๑๑ ปัญญากับรูปฌาน ๔ จึงรวมเป็น ๑๕

วิปัสสนาวิชชา
วิปัสสนา ต่อไปนี้จักแสดงถึงวิชชา และจะยกเอา วิปัสสนาวิชชา ขึ้นแสดงก่อน วิปัสสนา คำนี้แปลตามศัพท์ว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หรือนัยหนึ่งว่า เห็นต่างๆ เห็นอะไร เห็นนามรูป แจ้งอย่างไร แจ้งโดยสามัญญลักษณะว่า เป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์และเป็นอนัตตา ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา มีข้อสำคัญที่ว่า เห็นอย่างไร เป็นเรื่องแสดงยากอยู่ เห็นด้วยตาเรานี่ หรือเห็นด้วยอะไร ตามนุษย์ไม่เห็น ต้องหลับตาของมนุษย์เสีย ส่งใจไปจรดจ่ออยู่ที่ศูนย์ดวงปฐมมรรค (คำว่าปฐมมรรคนี้ได้มาจากบาลีในสนธิกับประโยคว่า ตตฺรายมาทิ ซึ่งแปลกันมาว่า อยํ ปฐมมคฺโค อันว่าปฐมมรรคนี้ อาทิ ภวติ มีอยู่เป็นเบื้องต้น ตตฺร นิพพาเน ในพระนิพพานนั้น) เห็น จำ คิด รู้ มีอยู่ในดวงปฐมมรรคนั้น ตากายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ไม่เห็น ก็เพราะว่าพวกเหล่านี้ยังไม่พ้นโลก เสมือนลูกไก่อยู่ในกระเปาะไข่ จะให้แลลอดออกไปเห็นข้างนอกย่อมไม่ได้ เพราะอยู่ในกระเปาะของตัวเพราะโลกมันบังด้วยเหตุว่า โลกมันมืดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พวกเหล่านี้จึงไม่สามารถจะเห็น กล่าวคือพวกที่บำเพ็ญได้จนถึงชั้นรูปฌานและอรูปฌานก็ยังอยู่ในกระเปาะภพของตัว ยังอยู่จำพวกโลกหรือที่เรียกกันว่า ฌานโลกีย์ ยังเรียก วิปัสสนา ไม่ได้เรียก สมถะ ได้ แต่อย่างไรก็ดี วิปัสสนา ก็ต้องอาศัยทางสมถะเป็นรากฐานก่อน จึงจะก้าวขึ้นสู่ชั้นวิปัสสนาได้

การบำเพ็ญสมถะนั้น ส่งจิตเพ่งดวงปฐมมรรคตรงศูนย์คือ กึ่งกลางกายภายใน ตรงกลางพอดี ไม่เหลื่อมซ้ายขวา หน้าหลัง แล้วเลื่อนสูงขึ้น ๒ นิ้วเมื่อถูกส่วน ก็จะเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ภายในตามลำดับจากกายมนุษย์เข้าไป พิจารณาประกอบธาตุธรรมถูกส่วน รูปจะกะเทาะล่อนออกจากกัน เห็นตามลำดับเข้าไป กายมนุษย์กะเทาะออกเห็นกายทิพย์ กายทิพย์กะเทาะออกเห็นกายรูปพรหม กายรูปพรหมกะเทาะออกเห็นกายอรูปพรหม
ในเมื่อประกอบธาตุธรรมถูกส่วน วอกแวกไม่เห็น นิ่งหยุดจึงเห็น หยาบไม่เห็น ละเอียดจึงเห็น อาตาปี สมฺปชาโน สติมาประกอบความเพียร มั่นรู้อยู่เสมอ ไม่เผลอ เพียงแต่ชั้นกายทิพย์เท่านั้นก็ถอดส่งไปยังที่ต่างๆได้ ไปรู้ไปเห็นเหตุการณ์ได้เหมือนตาเห็น คล้ายกับนอนหลับฝัน แต่นี่ไม่ใช่หลับ เห็นทั้งตื่นๆ การนอน คนธรรมดาสามัญจะหลับเมื่อไรไม่รู้ จะตื่นเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าถึงชั้นกายทิพย์แล้ว จะต้องการให้หลับเมื่อไร จะให้ตื่นเมื่อไร ทำได้ตามใจชอบ พวกฤาษีที่ได้บำเพ็ญฌาน เขาก็ทำได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในขั้นสมถะนั้นเอง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ได้เรียนฌานมาแล้วจากในสำนักฤาษี กล่าวคืออาฬารดาบสและอุทกดาบสก็ได้ผลเพียงแค่นั้น พระองค์เห็นว่ายังมีอะไรดียิ่งกว่านั้น จึงได้ประกอบพระมหาวิริยะบำเพ็ญเพียรต่อไป จนในที่สุดพระองค์ได้บรรลุวิปัสสนาวิชชา เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจึงมองเห็นสามัญญลักษณะ เห็นนามรูป ด้วยตาธรรมกาย เพราะพระองค์ทะลุกระเปาะไข่ คือโลกออกมาได้แล้ว

พระองค์เห็นโลกหมด ทั่วทุกโลก ด้วยตาธรรมกาย พระองค์รู้ด้วยญาณธรรมกาย ผิดกว่าพวกกายทิพย์ รูปพรหม และอรูปพรหมเหล่านั้น เพราะพวกเหล่านั้นรู้ด้วยวิญญาณ แต่พระองค์ด้วยญาณ จึงผิดกัน สภาพเหตุการณ์ทั้งหลายแหล่ พระองค์รู้เห็นหมด แต่มิใช่รู้ก่อนเห็น พระองค์เห็นก่อนรู้ทั้งสิ้น

การเห็นรูปด้วยตามนุษย์อย่าง เช่น พระยสะกับพวกไปพบซากศพและช่วยกันเผา ขณะเผา ได้เห็นศพนั้นมีการแปรผันไปต่างๆเดิมเป็นตัวคนอยู่เต็มทั้งตัว รูปร่าง สี สัณฐานก็เป็นรูปคน ครั้นถูกความร้อนของไฟเผาลน สีก็ดำด่าง แปรไปดำ จนคล้ายตะโกหดสั้นเล็กลงทุกทีๆ แล้วแขนขาหลุดจากกัน จนดูไม่ออกว่า เป็นร่างคนหรือสัตว์ ไม่เพียงเท่านั้น ครั้นเนื้อถูกไฟกินหมดก็เหลือแต่กระดูก เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ในที่สุดกระดูกเหล่านั้นแห้งเปราะแตกจากกัน ล้วนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนดูไม่ออกว่าเป็นกระดูกสัตว์หรือกระดูกมนุษย์ พระยสะปลงสังเวชถึงความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แห่งสังขารร่างกายที่เป็นซากศพนั้น แม้กระนั้นก็ยังไม่ทำให้บรรลุมรรคผล จนกว่าจะได้ไปพบพระพุทธเจ้า จึงบรรลุมรรคผล นี่ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเห็นด้วยตามนุษย์ไม่ทำให้บรรลุมรรคผลได้ อย่างมากก็เป็นเพียงปัจจัยเพื่อจะให้บรรลุมรรคผลเท่านั้น การเห็นด้วยตาทิพย์ ตารูปพรหมและอรูปพรหม ก็เช่นเดียวกัน เป็นเพียงปัจจัยเพื่อให้บรรลุมรรคผลเท่านั้น ต้องเห็นด้วยตาธรรมกาย จึงจะบรรลุมรรคผลได้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่า เบญจขันธ์ คือขันธ์ ๕
รูป จะกล่าวในที่นี้เฉพาะรูปหยาบๆ คือสิ่งซึ่งธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้า รวมกันเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอัน แลเห็นด้วยตา เช่น ร่างกายมนุษย์และสัตว์ที่เรียกว่า รูป เพราะเหตุว่าเป็นของซึ่งย่อมจะต้องแตกสลายไปด้วยเหตุต่างๆ มีหนาวและร้อน เป็นต้น กล่าวคือหนาวจัด เย็นจัด จนเกินขีด หรือถูกร้อนจนเกินขีด ย่อมแตกสลายไป แต่ถ้าแยกโดยละเอียดแล้ว รูปนี้มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น อุปาทายรูป เป็นต้น แต่ว่าจักยังไม่นำมาแสดงในที่นี้ การพิจารณาโดยสามัญญลักษณะพิจารณาไปๆ ละเอียดเข้า ซึ้งเข้าทุกที จนเห็นชัดว่า นี่มิใช่ตัวตน เรา เขา อะไรสักแต่ว่า ธาตุประชุม ตั้งขึ้น แล้วก็ดับไป ตาธรรมกายนั้นเห็นชัดเจน เห็นเกิด เห็นดับ ติดกันไปทีเดียว คือเห็นเกิดดับๆๆๆ คู่กันไปทีเดียว ที่เห็นว่าเกิดดับๆ นั้นเหมือนอะไร เหมือนฟองน้ำ เหมือนอย่างไร เราเอาของฝาด เช่น เปลือกสนุ่นมาต้ม แล้วรินใส่อ่างไว้ ชั้นต้นจะแลเห็นเป็นน้ำเปล่าๆ ต่อมาเมื่อเอามือแกว่งเร็วๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ตีน้ำให้เป็นฟอง เราจะเห็นมีสิ่งหนึ่งปรากฏขาวขึ้นมา เป็นรูปเป็นร่าง สิ่งนี้เราเรียกว่า ฟองน้ำ ดูให้ดีจะเห็นในฟองนั้นมีเม็ดเล็กๆ เป็นจำนวนมากติดต่อกันเป็นพืด รวมกันเรียกว่า ฟองน้ำ เราจ้องดูให้ดี จะเห็นว่าเม็ดเล็กๆ นั้น พอตั้งขึ้นแล้วก็แตกย่อยไปเรื่อยๆ ไม่อยู่นานเลย นี่แหละเห็นเกิดดับๆ ตาธรรมกายเห็นอย่างนี้ เห็นเช่นนี้ จึงปล่อยอุปาทานได้

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีก ๔ กองนั้นก็ทำนองเดียวกัน เห็นเกิดดับๆ ยิบไปเช่นเดียวกับเห็นในรูป ทุกข์เป็นของมีและขึ้นประจำกับขันธ์ ๕ เป็นของธรรมดา แต่ที่เราเดือดร้อนก็เป็นเพราะไปขืนธรรมดาของมันเข้า ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ย่อมแปรผันไปตามธรรมดาของมัน เกิดแล้วธรรมดามันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อมันถึงคราวแก่ เราไม่อยากจะแก่ หรือไม่ยอมแก่ อาการของมันที่แสดงออกมา มีผมหงอก เป็นต้น ถ้าเราขืนมัน ตะเกียกตะกายหายาย้อมมันไว้ นี่ว่าอย่างหยาบๆ ก็เห็นแล้วว่าเกิดทุกข์แล้ว เกิดลำบากแล้ว ถ้าเราปล่อยตามเรื่องของมัน ก็ไม่มีอะไรมาเป็นทุกข์
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ทำนองเดียวกัน ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะขืนมัน ขืนธรรมดาของมัน สิ่งไม่เที่ยงจะให้เที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนก็ยังขืนยึดว่าเป็นตัวตน เหตุที่ให้ขืนธรรมดาของมันเช่นนี้ อะไร? อุปาทานนั่นเอง ถ้าปล่อยอุปาทานได้ การขืนธรรมดาก็ไม่มี

ตามแนวที่พระปัญจวัคคีย์ตอบกระทู้ถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสถามว่า เมื่อมันมีอาการแปรผันไปเป็นธรรมดา แก่ เจ็บ ตาย เช่นนี้แล้ว เบญจขันธ์นี้จะเรียกว่าเป็นของเที่ยงไหม? ตอบว่าไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้วเป็นทุกข์หรือเป็นสุข? ตอบว่าเป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้นควรละหรือจะยึดเป็นตัวตน? ไม่ควรพระพุทธเจ้าข้า

อะไรเล่าเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน? ตัณหานั่นเอง ได้แก่
กามตัณหา ทะยานอยากเกี่ยวด้วยอารมณ์ ๖ มีรูป เป็นต้น
ภวตัณหา ความทะยานอยาก เป็นไปในอารมณ์ ๖ ประกอบด้วย สัสสตทิฏฐิ ถือว่าเที่ยงถาวร
วิภวตัณหา ความทะยานอยาก เป็นไปในอารมณ์ ๖ ประกอบด้วย อุจเฉททิฏฐิ ถือว่าขาดสูญ

เมื่อละตัณหาได้ อุปาทานก็ไม่มี ดังจะยกอุทาหรณ์เทียบเคียงให้เห็น ดังเช่น สามีภรรยาที่หย่าขาดจากกัน เมื่อเขายังไม่หย่ากัน สามีไปทำอะไรเข้า ภรรยาก็เก็บเอามาเป็นทุกข์ เป็นร้อนด้วย หรือเมื่อฝ่ายภรรยาไปทำอะไรเข้า ฝ่ายสามีก็เก็บเอามาเป็นทุกข์เป็นร้อนด้วย ถ้าเขาหย่าขาดกันแล้ว มิไยที่ฝ่ายใดจะไปก่อกรรมทำเข็ญขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่มีทุกข์ไม่มีร้อนด้วยเลย

ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะเขาต่างหมดความยึดถือ (อุปาทาน)ว่า เขาเป็นสามีภรรยากันแล้ว นี่ฉันใดก็ฉันนั้น นี่จะเห็นชัดในข้อว่า ทุกข์เกิดจากอุปาทานอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวดูดดึงเข้ามา แต่ลำพังขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวทุกข์ ได้ในคำว่า ปญฺจุปาทานกุขนุธา ทุกขา รวมความก็ว่า ปล่อยอุปาทานไม่ได้ เป็นทุกข์ ปล่อยได้ หมดทุกข์

ถอดกายทิพย์ออกเสียจากมนุษย์ กายมนุษย์ก็ไม่มีเรื่อง จะมีใครเป็นทุกข์ และในที่สุดจะต้องปล่อยอุปาทานให้หมด ทั้งในกายทิพย์ กายรูปพรหม และอรูปพรหม คงแต่ธรรมกายเด่นอยู่

เหตุใดพระองค์จึงเน้นสอนหนักไปในทาง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใคร่ครวญโดยสุขุมแล้ว จะมองเห็นว่า พระองค์สอนดังนั้น เพื่อตะล่อมให้คนที่มีความคิด ใช้วิจารณปัญญา สอดส่องเห็นได้เอง เช่น
พระองค์ตรัสถึง อนิจจัง ก็เพื่อให้ค้นคิดหา นิจจัง
ตรัสถึงทุกขัง ก็เพื่อให้คนคิดหา สุขัง
ตรัสถึงอนัตตา ก็เพื่อให้คิดหาอัตตา
คนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดประกอบด้วยความเพียรพินิจพิจารณา ย่อมจะมองเห็นแนวพระโอวาทของพระองค์ จะเทียบให้เห็น เช่น มีคน ๒ คนยืนอยู่ คนหนึ่งสูง คนหนึ่งต่ำ เรารู้จักคนสูง ใครมาถามเราว่า คน ๒ คนนั้นรู้จักไหม เราตอบว่า คนสูงเรารู้จัก เมื่อคนอื่นได้ยินคำตอบเช่นนั้น แม้ตาของเขาไม่แลเห็นคน ๒ คน นั้นเลย เขาย่อมจะรู้ว่า คนที่เราไม่รู้จักนั้นต่ำกว่าคนที่เรารู้จัก โดยเราไม่จำเป็นจะต้องพูดว่า คนต่ำเราไม่รู้จัก นี่ฉันใด อนิจจัง บอกนิจจัง ทุกขังบอกสุขัง อนัตตาบอกอัตตา ฉันนั้น

อะไรเล่าเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ก็คือธรรมกายนี้เอง เป็นตัวนิจจัง สุขัง อัตตา

ติด หลุด เป็นหัวข้อสำหรับผู้ปฏิบัติ
ปล่อยอุปาทานไม่ได้ เรียกว่า ติด
ปล่อยได้ เรียกว่า หลุด
ติด คือ ติดอยู่ในโลก
หลุด คือ พ้นจากโลก เรียกว่าโลกุตระ เข้าแดนพระนิพพาน
ต้องปล่อยอุปาทาน ทั้งในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม
ต้องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงแห่งเบญจขันธ์ดังกล่าวมา นั้นด้วยตาธรรมกาย จึงเป็นวิปัสสนาวิชชา อันจะเป็นทางให้หลุดได้

วิปัสสนาวิชชา แยกได้เป็น ๑๐ ประการคือ
๑. สัมมสนญาณ พิจารณาย่นย่อนามรูป คือความเห็นตามเป็นจริงของนามรูปนั้นๆ
๒. อุทยัพยญาณ คำนึงถึงความเกิด ความดับของสังขารร่างกาย ดังอุทาหรณ์เรื่อง ฟองน้ำ ดังที่กล่าวมาข้างต้นคือเห็นเกิดดับๆๆๆ ติดต่อกันไป

๓. ภังคานุปัสสนาญาณ คำนึงถึงแต่ความดับอย่างเดียว ให้เห็นว่าสังขารร่างกายที่เกิดมาแล้วนี้ มันรังแต่จะแตกดับอย่างเดียว และก็จะแตกตับอยู่รอมร่อแล้ว ประหนึ่งเรือนที่ปลูกอยู่ริมตลิ่ง ทั้งตัวเรือนก็เซซวนจวนจะฟังอยู่แล้ว ด้วยซึ่งเป็นความจริงแท้ เราพูดกันอยู่หยกๆ พอขาดคำ เราอาจจะตายเพราะโรคภัยอันตรายล้อมอยู่รอบข้าง ไม่รู้ว่ามันจะปรากฏขึ้นขณะใด

๔. ภยตูปัฏฐานญาณ คำนึงให้เห็นว่าสังขารร่างกายเป็นภัย เสมือนสัตว์ดุร้ายไม่น่าจะเข้าใกล้ ซึ่งหมายความว่า ไม่ควรจะหลงนิยมชมชื่น อันจะดูดดึงให้ใจเราหมกมุ่น เป็นเหตุให้ติดอยู่ในภพ

๔. อาทีนวญาณ นี่เป็นอีกแง่หนึ่ง ให้คำนึงถึงโทษแห่งสังขารว่า ถ้าเรามีอุปาทานยึดมั่นอยู่ว่า เป็นตัวเป็นตนของเราแล้ว มันจะให้ทุกข์โทษดังกล่าว ในประการที่ ๔ นั้นดุจเดียวกัน

๖. นิพพิทาญาณ เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นไปแห่งสังขารดังกล่าวมา ใน ๑-๒-๓-๔-๕ นั้นแล้ว ก็ให้เกิดปรีชาคิดเบื่อหน่ายสังขารเป็นกำลัง ไม่อยากได้ใคร่ดีแล้ว

๗. มุญจิตุกัมยตาญาณ ถึงขั้นนี้ก็ใฝ่ใจที่จะให้พ้นเสียจากสังขาร คือไม่อยากมีสังขาร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำลายสังขารเสียโดยความโง่ๆ เช่น ฆ่าตัวตาย ให้ดำเนินการที่จะคิดพ้นจากสังขาร โดยอุบายที่ถูกทาง

๘. ปฏิสังขาญาณ คิดคำนึงหาทางพ้นต่อไป แต่หาทางออกทางพ้นไม่ได้ เพราะมันได้เกิดมาเป็นสังขารเสียแล้ว ผะอืดผะอมอย่างนี้ เรียกว่า กลืนไม่เข้า คายไม่ออก สำรอกไม่ไหว ต่อไปก็ถึง

๙. สังขารุเปกขาญาณ วางใจเป็นกลางไว้เท่ากับว่า เมื่อกลืนไม่เข้า คายไม่ออก แล้วก็อมเฉยไว้ก่อน ต่อจากนี้จะมีญาณอีกอันหนึ่งเกิดขึ้นคือ

๑๐. อนุโลมญาณ คำนึงผ่อนให้เป็นไปตามความที่เป็นจริงของมัน นี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เดินสายกลางหันเข้าหาอริยสัจ ๔ โดยวิธีดังที่บรรยายมาข้างต้น ว่าโดยรวบรัดตัดความก็หันเข้าหลักธรรมกายนั่นเอง พิจารณาเห็นแจ้งชัดอริยสัจ ๔ ด้วยตาธรรมกาย รู้ชัดด้วยญาณธรรมกาย จึงเป็นวิปัสสนาวิชชา แต่ละอย่างๆ ที่กล่าวมาใน ๑๐ ข้อนี้เป็นอาการ หรืออารมณ์ของวิปัสสนา ที่จะพยุงจิตให้ข้ามขึ้นจากโลกีย์ไปสู่ภูมิโลกุตระ คำว่า สังขารร่างกาย ในที่นี้หมายถึง นามรูป นั่นเอง ที่เรียกว่านามรูปนั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้ รวมกัน ย่นย่อลงเรียกว่านามรูป

มโนมยิทธิ แปลว่าฤทธิ์ทางใจ ใครบำเพ็ญได้ถึงที่ ย่อมทำได้ คือทำให้ใจมีฤทธานุภาพผิดไปจากธรรมดา จะนึกให้เป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนึก ดังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ นึกจะให้เทวดามนุษย์เห็นกัน เทวดาก็มองเห็นมนุษย์ มนุษย์ก็มองเห็นเทวดา ซึ่งมีปรากฏในเทโวโรหนสูตรนั้น เพราะมีธรรมกาย ธรรมกายนึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

อิทธิวิธี แปลว่า แสดงฤทธิ์ให้ปรากฏได้ต่างๆ ดังเช่น เนรมิตจักร เนรมิตพระกาย และเนรมิตปราสาทราชฐาน ในครั้งทรงทรมานพระเจ้าชมพูบดี จนพระเจ้าชมพูบดีหมดทิฏฐิมานะแล้ว จึงทรงแสดงธรรมสั่งสอน เป็นต้น

ทิพพจักขุ แปลว่า ตาทิพย์ ซึ่งหมายความว่ามองเห็นอะไรๆได้หมด ไม่ว่าอยู่ใกล้ไกลอย่างไร ดังเช่นเรื่องพระมเหศวรทดลองพระศาสดาให้ทรงปิดพระเนตรเสีย แล้วพระมเหศวรซ่อนตัว โดยจำแลงตัวให้เล็กแทรกแผ่นดินไปซุกอยู่ในเมล็ดทรายใต้เชิงเขาพระสุเมรุ พระองค์ก็มองเห็น ทรงเรียกให้ขึ้นมา ยังหาว่าเป็นอุบายของพระองค์จะเดาลักเค้าเอา ในที่สุดพระองค์ก็เอาฝ่าพระหัตถ์ซ้อนเอาตัวติดขึ้นมา พร้อมกับเมล็ดทรายนั้น ให้เห็นประจักษ์ ตาทิพย์นี้แม้สาวกของพระองค์ก็มีได้ เอาตามนุษย์ ตากายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซ้อนกัน แล้วเอาตาธรรมกายมองซ้อนตากายอรูปพรหมจะเห็นชัด คล้ายกับว่า แว่นหลายๆชั้นซ้อนกัน

ทิพพโสต แปลว่า หูทิพย์ ใครจะพูดอะไรกันที่ไหนได้ยินหมด โดยเอาแก้วหูกายมนุษย์ ทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ซ้อนกันตลอด แก้วหูของธรรมกายสัมฤทธิ์ผลเป็นหูทิพย์ ได้ยินอะไรหมด

ปรจิตตวิชชา แปลว่า ความรู้ที่สามารถทำให้ล่วงรู้ถึงวาระจิตของผู้อื่นได้ ดังมีเรื่องพวกยักษ์เป็นอุทาหรณ์ คิดว่าจะตั้งปัญหาถามพระศาสดา ถ้าแก้ไม่ได้จะจับโยนข้ามมหาสมุทร ครั้นมาถึงก็เรียกพระองค์ว่า มานี่ ยังมิทันจะได้พูดอะไรต่อไป พระองค์ก็ล่วงรู้เสียก่อนแล้วว่า อาฬวกยักษ์คิดมาอย่างไร พระองค์ทรงตอบเย้ยไปว่า จะเรียกตถาคตไยเล่า เข้าไปหา ท่านจะจับเราโยนข้ามมหาสมุทร แล้วในที่สุดได้ตรัสตอบไปว่า ปัญหาที่ท่านคิดจะถามเรานั้น พ่อของท่านบอกไว้ใช่ไหม แล้วเราจะบอกท่านได้ต่อไปด้วยว่า พ่อท่านได้รับบอกมาจากพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ล่วงรู้ใจคนได้อย่างนี้

ปุพเพนิวาสวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ระลึกชาติหนหลังได้ว่า ชาติไหนเป็นอะไร เกิดที่ไหนมาแล้ว ดังมีเรื่อง เวสสันดรชาดกเป็นหลักฐาน ไม่มีสิ่งที่จะพึงระแวงสงสัยอย่างไร เป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณแน่แท้

อาสวักขยวิชชา แปลว่า ความรู้ที่ทำลายอาสวะให้หมดสิ้นไป กล่าวคือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ทั้ง ๔ ประการนี้ พระองค์มีทัศนะปรีชาญาณหยั่งรู้วิถีทางที่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่มีในพระกมลของพระองค์แม้แต่สักเท่ายองใย

จรณะ ๑๔
ต่อไปนี้ถึงเรื่องจรณะ ๑๕ จักได้ขยายความพอสมควร จรณะ แปลว่า ประพฤติ หรือธรรมควรประพฤติ
๑. ศีลสังวรได้แก่ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้อารมณ์ส่วนที่จะชักนำไปทางชั่วเข้าติดอยู่ได้ แต่การสังวรเหล่านี้ มีประจำพระองค์เป็นปรกติอยู่ มิจำต้องพยายามฝืน อย่างเช่น ปุถุชนทั้งหลาย
๓. โภชเน มัตตัญญตา การรู้ประมาณในการบริโภคพอสมควร ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป เป็นจริยาที่เราควรเจริญรอยตาม ว่าโดยเฉพาะการบริโภคอาหาร ถ้ามากเกินไป แทนที่จะมีคุณแก่ร่างกาย กลับเป็นโทษ
๔. ชาคริยานุโยค ทางประกอบความเพียร ทำให้พระองค์ตื่นอยู่เสมอ คือรู้สึกพระองค์อยู่เสมอ นิวรณ์เข้าครอบงำไม่ได้เป็นปรกติ
๔. สัทธา พระองค์ประกอบด้วยสัทธาอย่างอุกฤษฎ์ ที่ปรากฏในเวสสันดรชาดก เป็นต้น พระองค์ได้บำเพ็ญทานบารมี บริจาคของนอกกาย ทานอุปบารมี สละเนื้อเลือดเมื่อทำความเพียร ทานปรมัตถบารมี สละได้ถึงชีวิตมาแล้วอย่างสมบูรณ์
๖. สติ ได้แก่ที่เรียกว่า สติวินัย พระองค์ไม่เผลอในกาลทุกเมื่อ เราผู้ปฏิบัติควรเจริญรอยตามดังแนวที่ทรงสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน ให้มีสติอยู่เสมอ สติในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านหมายเอาสติที่ตรึกถึง กาย เวทนา จิต ธรรม
๗. หิริ การละอายต่อความชั่ว
๘. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวบาป
ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นจรณะที่ติดประจำพระองค์อยู่อย่างสมบูรณ์
๙. พาหุสัจจะ ฟังมาก นี่ก็มีประจำพระองค์มาแต่ครั้งยังสร้างบารมี พระองค์ทรงเอาใจใส่ฟังธรรมในสำนักต่างๆเป็นลำดับ มาจนกระทั่งอาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งได้ทรงเรียนรู้ รูปฌาน อรูปฌานมาจากสำนักนี้
๑๐. อุปักกโม ความเพียรไม่ละลด ดั่งเช่น ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ๕ เป็นประจำ
เวลาเช้าบิณฑบาต
เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
เวลาค่ำทรงประทานพระโอวาทแก่ภิกษุ
เวลาเที่ยงคืนทรงเฉลยปัญหาเทวดา
เวลาใกล้รุ่งพิจารณาเวไนยสัตว์ที่จะพึงโปรด

๑๑. ปัญญา มีความรู้ความเห็นกว้างขวาง หยั่งรู้เหตุรู้ผลถูกต้องไม่มีผิดพลาด จรณะยังประกอบด้วยรูปฌานอีก ๔ จึงรวมเป็น จรณะ ๑๕ รูปฌาน ๔ นั้นพระองค์ได้อาศัยมาเป็นประโยชน์ที่จะขยับขยายโลกิยปัญญาให้เป็นโลกุตระ เป็นพวกสมาธินั่นเอง และในจำพวกสมาธินั้น อัปปนาสมาธิจึงเป็นองค์ปฐมฌาน แม้กระนั้นยังเป็นโลกีย์ ต้องเห็นด้วยตาธรรมกาย หยั่งรู้ด้วยญาณธรรมกาย จึงเป็นโลกุตระ ฌาน ๘ นั้นเป็นจรณะ ส่งข้ามโลก พระองค์เรียนฌานนั้นจากดาบส ต่อจากนั้นพระองค์มาแสวงหาด้วยพระองค์เอง จึงได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์อรหันตสัมมาสัมพุทโธ

โอวาท พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

อ้างอิงเนื้อหา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อการศึกษาและดำรงไว้ซึ่งคำสอน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *