วิธีเจริญภาวนา ๑

วิธีเจริญภาวนา ๑ หน้า ๙๒๕

ต่อแต่นี้ไปคอยตั้งใจฟัง เมื่อเราทำวัตรอาราธนาเสร็จแล้ว ก็จะบอก วิธีกระทำต่อไป
วิธีทำสมถวิปัสสนา ต้องมีบริกรรมภาวนา กับบริกรรมนิมิตเป็นคู่กัน บริกรรมนิมิตให้กำหนดเครื่องหมายเข้า ดวงใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าปากช่องจมูกขวา อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม ใจของเราที่ยืดไปยืดมา แวบไปแวบมาให้เข้าไปอยู่เสียในบริกรรมนิมิต ปากช่องจมูกหญิงซ้ายชายขวา
ข้างนอกดวงโตเท่าแก้วตา ข้างในดวงโตเท่าเมล็ดพุทธรักษา แต่ ว่าขาวใสเหมือนกระจกส่องเงาหน้าแบบเดียวกัน หญิงกำหนดปากช่องจมูกซ้าย ชายกำหนดปากช่องจมูกขวา แล้วให้บริกรรมภาวนาประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า สัมมาอะระหัง
ตรึกถึงดวงที่ใสใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส สัมมาอะระหัง ตรึกถึงดวงที่ใส ใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส สัมมาอะระหัง ตรึกถึงดวงที่ใสใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส นิ่งอยู่ที่นั่น นี่ฐานที่ ๑

ฐานที่ ๒ เลื่อนไปที่ เพลาตา หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวาตรงหัวตาที่มูลตาออก ตามช่องลมหายใจเข้าออกข้างใน แล้วให้บริกรรมประคองเครื่องหมาย ที่เพลาตานั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้งแบบเดียวกัน

แล้วเลื่อนเครื่องหมายตรงลำดับเพลาตาเข้าไป กลางกั๊กศีรษะข้างใน ไม่ให้ค่อนซ้ายขวาหน้าหลังล่างบน กลางกั๊กพอดี (นี่เรียกว่า ฐานที่๓) แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่กลางกั๊กศีรษะข้างในว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง
ตรงนี้มีลัทธิพิธี ต้องกลับตาไปข้างหลังให้ ตาค้างเหมือนคนชักจะตาย เราหลับตาอยู่ตาช้อนขึ้นข้างบนเหลือบขึ้นข้างบนเหลือบไป เหลือบไป จนค้างแน่น ให้ความเห็นกลับไปข้างหลัง พอกลับไปข้างหลัง แล้วค่อย ๆ ให้เห็นกลับเข้าข้างใน

พอตาเห็นกลับเข้าข้างในก็เลื่อนเครื่องหมาย (ฐานที่ ๓) ไปที่ปากช่องเพดาน (ฐานที่๔) ที่รับประทานอาหารสำลัก อย่าให้ล้ำให้เหลื่อมพอดี แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมาย ที่ปากช่องเพดาน (ฐานที่๔) ที่รับประทานอาหารสำลัก นั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายไปที่ปากช่องคอ (ฐานที่๕) เหนือลูกกระเดือก เหมือนกลางกั๊กปากถ้วยแก้ว ตั้งไว้ปากช่องคอ บริกรรมประคองเครื่องหมายที่ปากช่องคอนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วเลื่อนไปกลางตัว (ฐานที่๖) สุดลมหายใจเข้าออก สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กพอดี แล้วบริกรรมที่กลางตัวนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วเลื่อนเครื่องหมายถอยหลัง (จากฐานที่๖) เหนือกลางตัวเรานี้ขึ้นไป ๒ นิ้ว (ฐานที่๗)
(ฐานที่๗) นั้นมีศูนย์ ๕ ศูนย์ ศูนย์กลาง ศูนย์ข้างหน้า ศูนย์ข้างขวา ศูนย์ข้างหลัง ศูนย์ข้างซ้าย
ศูนย์กลาง คือ อากาศธาตุ
ศูนย์ข้างหน้า คือ ธาตุน้ำ
ศูนย์ข้างขวา คือ ธาตุดิน
ศูนย์ข้างหลัง คือ ธาตุไฟ
ศูนย์ข้างซ้าย คือ ธาตุลม
เครื่องหมายใสสะอาด ตรงช่องอากาศขาดกลางตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์

ทำไมถึงเรียกว่าศูนย์ ?
ตรงนั้นเวลาสัตว์ไปเกิดมาเกิดแล้วก็มาอยู่ในที่สิบ อยู่ในกลางดวงนั้น กายละเอียดอยู่ในกลางดวงนั้น พ่อแม่ประกอบ ธาตุธรรมถูกส่วนเข้าแล้ว ก็ตกศูนย์ทีเดียว พอตกศูนย์ก็ลอยขึ้นมาเหนือกลางตัว ๒ นิ้วมือ (เป็นดวงกลมใส) เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ ใสเป็นกระจกส่องเงาหน้า นี่มันจะเกิดละ นี้เรียกว่าศูนย์
ศูนย์นั้นเป็นสำคัญนัก จะเกิดมาในมนุษย์โลก ก็ต้องเกิดที่ศูนย์นั้น จะไปนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้นไปเหมือนกัน จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้นเหมือนกัน แบบเดียวกัน

ถ้าจะตายจะเกิดเดินตรงกันข้าม ถ้าว่าจะเกิดก็ต้องเดินนอกออกไป
ถ้าว่าจะไม่เกิดก็ต้องเดินในเข้าไป กลางเข้าไว้ หยุดเข้าไว้ ไม่คลาดเคลื่อน
นี้ตายเกิดอย่างนี้ ให้รู้จักหลักอย่างนี้ เมื่อรู้จักหลักดังนี้แล้วละก็ เราก็รู้ทีเดียว รู้เมื่อเช้านี้ ที่ใจเราวุ่นวายอยู่นี่ มันทำอะไร? มันจะเวียนว่ายตายเกิด
ถ้าใจเรานิ่งอยู่ในกลางนั้น มันจะเลิกเวียนว่ายตายเกิด เราก็รู้ตัวของเราอยู่ เราไม่ต้องง้อใคร เรารู้แล้ว เราเรียนแล้วเราเข้าใจแล้ว เราก็ต้องทำใจของเราให้นิ่ง ให้หยุด ทำใจให้หยุดอยู่ศูนย์กลางนั่น ทำใจให้หยุดเชียว

หยุดก็เข้ากลางหยุด กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน นอกใน ไม่ไป
กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง นิ่ง พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้นเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หยุดอยู่กลางดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์นั่น หยุดอีก
พอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เกิดขึ้นมาอีกดวงหนึ่งเป็นดวงศีล โตเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เหมือนกัน
หยุดอยู่กลางดวงศีลนั้นแหละ พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงสมาธิ โตเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เหมือนกัน หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ
พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นเกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เหมือนกันเรียกว่า ดวงปัญญา
หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าเกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่กลางดวงวิมุตตินั่นแหละ ถูกส่วนเข้า เกิดขึ้นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้า ก็เห็นตัวของเราที่ไปเกิดมาเกิด อ้อ…ไอ้นี่เองไปเกิดมาเกิด เข้าแบบต้นแล้ว
ให้รู้จักหลักอย่างนี้นะ ไม่เคลื่อนละ อย่างนี้เคลื่อนไม่ได้ทีเดียว ตายตัวเชียว
เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้วก็ ต่อแต่นี้ไป ก็จะสอนให้ทำต่อไป เมื่อเราได้ทำวัตรอาราธนาเรียบร้อยแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็ต้องนั่ง

บาลีว่า นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตวา ให้นั่งคู้บัลลังก์ขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้ายมือขวาทับมือซ้าย ทุกคนด้วยกันตั้งตัวให้ตรงทีเดียว เอ้านั่ง..เท้าขวาทับเท้าซ้ายมือขวาทับมือซ้าย แล้วคอยฟังอธิบายต่อไป ตั้ง ตัวตรงมือขวาทับมือซ้าย แล้วเอานิ้วชนกันให้ถูกนะ ฉันจะวัดให้เป็นตำรับตำรานะ ลักษณะกายตรงนะ
ลักษณะกายตรงเป็นดังนี้ กลางลูกกระบ้าขาขวา วัดกลางนิ้วชี้กดกลางลูกกระบ้า แล้วก็เหนือตาตุ่มนิ้วน้อยนิ้วกลางนิ้วนาง ตั้งเข้าเนื้อบนขา อย่างนี้เรียกว่า กายตรง เรียกว่า อุชุง กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง ตรงอย่างนี้นะ ให้มีสัญญามันคงอย่างนั้น
เมื่อรู้จักกายตรงแล้วละก็ ให้ตรงทุกคนนะ นี่แหละเราจะสร้างบุญกุศลใหญ่สำคัญ ที่นั่งภาวนาทำใจให้หยุด ให้หยุดสักกระพริบตาเดียวเท่านั้น ที่สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ สู้ไม่ได้หรอก เขาจึงได้ว่า สร้างวัดสร้างวาให้ผุดสูงเดียวเท่านั้น สู้พิจารณาความแปรผันของเบญจขันธ์ร่างกายว่าไม่เที่ยง ยักเยื้อง แปรผัน เป็นของปฏิกูลเท่านี้บุญมากกว่า ให้รู้จักหลักอย่างงั้น
เราแสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา ให้มั่นเชียวนะ ให้ใจหยุดเป็นตัวสำคัญ หยุดนี้จะเป็นทางมรรคผลนิพพาน พวกให้ทานรักษาศีลมันยังไกลกว่า หยุดนี้ใกล้นิพพานนัก พอหยุดได้เท่านั้นเข้าต้นคำสอนของพระศาสดาแล้ว ไม่ยักเยื้องแปรผัน ไอ้ที่หยุดนั่นแหละ เข้าต้นคำสอนของพระศาสดา

เมื่อ(นั่งสมาธิ)ตัวตรงดีแล้วละก็ คราวนี้ให้ตั้งใจ ให้กำหนดเครื่องหมายเข้า ใสเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าช่องปากจมูกขวา อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม
กำหนดเครื่องหมายเข้า ใสเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าช่องปากจมูกขวา อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม
นี่บอกซ้ำของเก่านั่นแหละ พอถูกส่วนดีแล้ว ก็ให้บริกรรมประคองใจกับเครื่องหมายที่ใส ปากช่องจมูกหญิงซ้าย ชายขวา นั้น ว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วเลื่อนเครื่องหมายขึ้นไปแค่เพลาตา หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวา ตรงหัวตาที่มูลตาออก ตามช่องลมหายใจเข้าออกข้างใน แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่ใสนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมา อะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายนั้น ตรงนี้กลเม็ดอยู่ ต้องมีวิธี เมื่อถึงฐานที่ ๓ แล้วต้องเหลือบตาไปข้างหลัง ให้ตาค้างเหมือนคนชักจะตาย ค้างขึ้นไปๆ จนกระทั่งใจหยุดความเห็นกลับเข้าข้างใน พอความเห็นกลับเข้าไปข้างใน ก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่๓ ไปฐานที่๔ ที่ช่องเพดานที่รับประทานอาหารสำลัก อย่าให้ล้ำอย่าให้เหลื่อม ให้พอดีๆ แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่ฐานที่ ๔ นั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วเลื่อนไปฐานที่ ๕ ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก เหมือนกลางกั๊กปากถ้วยแก้ว แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่ปากช่องคอนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง

แล้วเลื่อนเครื่องหมายนั้นไปที่กลางตัว ที่สุดลมหายใจเข้าออกไม่ให้ค่อนซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ล่าง-บน นอก-ใน ให้อยู่กลางกั๊กพอดี แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่กลางตัวนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๓ ครั้ง
แล้วเลื่อนเครื่องหมายถอยหลังขึ้นมาเหนือกลางตัว ๒ นิ้วมือ ตรงนั้นเรียกว่าศูนย์ ตรงนั้นมีศูนย์อยู่ ๕ ศูนย์ ศูนย์กลาง หน้า ขวา หลัง ซ้าย
ศูนย์กลางอากาศธาตุ
ศูนย์หน้าธาตุน้ำ
ขวาธาตุดิน
หลังธาตุไฟ
ซ้ายธาตุลม
เครื่องหมายใส สะอาด ลอยช่องขาดกลาง แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่ช่องอากาศกลางนั้นว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ที่กลางอากาศว่างนั้น แล้วจะเห็นเป็นดวงใส ดวงโตประมาณเท่าแก้วตาอยู่ที่นั่น ใจของเราก็จรดอยู่ที่กลางดวงนั้น

แก้ไขไปจนกระทั่งใจของเราหยุด บริกรรมภาวนาอยู่เรื่อยๆ ว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
ที่บริกรรมว่าดังนี้ ก็เพื่อจะประคองใจของเราให้หยุด สัมมา อะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง พอถูกส่วนเข้า ใจก็หยุดอยู่กลางดวงนั้น มืดก็หยุดตรงนั้น สว่างก็อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องถอยไปถอยมา นิ่งอยู่ตรงนั้นแหละ

พอนิ่งถูกส่วนเข้าเท่านั้นมืดหนักเข้าก็เห็นดวงใส สว่างก็เห็นดวงใส ใจก็อยู่กลางดวงใส ถ้าว่ามันไม่นิ่งไม่หยุด มันชัดส่ายไปบริกรรมฟอร์มไว้ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
พอถูกส่วนเข้า หยุด หยุดแล้วไม่ต้องบริกรรมเพ่งเฉย หยุดแล้วไม่ต้องบริกรรมเพ่งเฉย ดูนิ่ง ถ้าว่าขยับเคลื่อน หรือขยับไปเสีย เสื่อมไปเสีย บริกรรมฟอร์มไว้ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ไว้ จนกระทั่งหยุดนิ่ง

พอหยุดนิ่งไม่ต้องบริกรรมเพ่งเฉย วางอารมณ์เฉย ให้หยุดอยู่นั่นแหละ หยุดเท่านั้นแหละ อย่าไปนึกถึงมืดสว่างนะ หยุดอยู่นั่นแหละ หยุดนั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ ที่บอกแล้ว สมณะหยุดๆ พระองค์ให้นัยไว้ว่า สมณะหยุด แล้วท่านไม่หยุด
นี่หยุดนี่แหละเพียรตรงนี้ ให้มันได้ตรงนี้ซะก่อน อื่นไม่ต้องไปพูดมากนักใหญ่โตมโหฬาร พูดหยุดนี่ให้มันตกลงกันก่อน หยุดได้แล้ว พอหยุดได้แล้ว ให้หยุดก่อนนะ ให้หยุดนิ่ง หยุดเชียว

ไอ้ที่หยุดอยู่นี่ เขาทำกันได้นะ วัดปากน้ำมีตั้ง ๘๐ กว่า ถ้าไม่หยุดก็เข้าไปถึงธรรมกายไม่ได้ เขาถึงธรรมกาย ๘๐ กว่านะ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งทำกับเขาไม่ได้เชียวหรือ?
ทำไมจะไม่ได้ ทำจริงเข้า ทำไม่จริงต่างหากล่ะ มันไม่ได้ จริงละก็ได้ทุกคน

จริงแค่ไหน? แค่ชีวิตสิ เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหมดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูก หนัง ช่างมัน ถ้าไม่ได้ ไม่ลุกจากที่ นี่จริงแค่นี้ ได้ทุกคน
ฉันเอง ๒ คราว ไม่ได้ตายเถอะ นิ่งพอถึงกำหนดเข้า ก็ได้ ไม่ได้ ตายเถอะ นิ่ง…..พอถึงกำหนดก็ได้ ไม่ตายสักที
พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รูปนั้น ประกอบความเพียรด้วยจตุรังคะวิริยะด้วยองค์ ๔ เหลือแต่กระดูก หนัง ช่างมัน เนื้อ เลือดจะแห้งหมดไปไม่ว่า ประกอบด้วยจาตุรังควิริยะ เช่นนี้

พอถูกส่วนเท่านั้น ในเวลาค่ำได้บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เวลายามที่ ๒ ได้บรรลุ จุตูปปาตญาณ
เวลายามที่๓ ได้บรรลุ อาสวักขยญาณ
เล่นตลอดคืน ท่านจริงอย่างนั้นอาจารย์ของเรา เป็นลูกศิษย์ก็จริงเหมือนกันแหละ ไม่ได้ยอมตาย ไม่หยุดยอมตายกันทีเดียว เอาหยุดจริงๆ กัน
พอหยุดเข้าเท่านั้น จับตัวได้ว่า อ้อ ทางศาสนาเดินหลักอย่างนี้ ถูกส่วนอย่างนี้ ก็จำให้มั่นเชียวนะ ให้มั่นเชียวนะ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้มั่นคงทีเดียว อย่าให้เคลื่อน

โอวาท พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

อ้างอิงเนื้อหา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อการศึกษาและดำรงไว้ซึ่งคำสอน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *